ครม. อนุมัติร่างกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับผู้มีสิทธิขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ เพิ่มหลักเกณฑ์การปรับลดระดับชั้นของผู้ประกอบการหากก่อสร้างแล้วมีความเสียหาย หากโดนปรับลด 3 ครั้งใน 2 ปี จะเพิกถอนใบอนุญาต

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เห็นชอบอนุมัติร่างกฎกระทรวงหลักเกณฑ์ เกี่ยวกับผู้มีสิทธิขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ สามารถให้มีการปรับลดชั้นของผู้ประกอบการหากปฏิบัติงานแล้วแล้วประมาทเกิดความเสียหาย จะถูกเพิกถอนใบทะเบียน

.

โดยนางสาวแพทองธาร เผยว่า จากกรณีปัญหาเรื่องหลักเกณฑ์ในการควบคุมมาตรฐาน และบทลงโทษผู้ประกอบการก่อสร้างขนาดใหญ่ต่างๆ เช่น สะพาน และถนน ซึ่งทำให้เกิดอุบัติเหตุต่อประชาชนในวงกว้างนั้น คณะรัฐมนตรีได้ อนุมัติ ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับผู้ที่มีสิทธิขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ มีสาระสำคัญ คือ

.

1.กำหนดให้มีการปรับลดระดับชั้นของผู้ประกอบการในกรณีที่เกิดความเสียหายจากการปฏิบัติงาน (เดิม ไม่กำหนดไว้) เช่น ไม่เป็นไปตามหลักวิชาช่างในงานก่อสร้างหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือ ผู้ประกอบการทำงานล่าช้า และหากมีการปรับลดระดับชั้น 3 ครั้ง ติดต่อกันภายใน 2 ปี จะถูกเพิกถอนใบทะเบียน

.

2.การตรวจติดตามคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้าม ของผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนแล้ว ทุก 3 ปี (เดิม 2 ปี)

.

3.กำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการเพิกถอนรายชื่อออกจากทะเบียนผู้ประกอบการเพิ่มเติมและแก้ไขหลักเกณฑ์เกี่ยวกับระยะเวลาการยื่นขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการใหม่

.

4.ปรับอัตราค่าธรรมเนียมการขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ และกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการตรวจติดตาม

.

นอกจากนี้ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เวลา 08.30 น. นายกรัฐมนตรี รับฟังรายงานผลการตรวจสอบอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม จากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม

.

ภายหลังการประชุมฯ นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง กรณีอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (แห่งใหม่) ถล่ม ได้แถลงผลการดำเนินการของคณะกรรมการ โดยยืนยันและให้ความมั่นใจกับประชาชนว่า กฎหมายของไทยที่ใช้สำหรับการก่อสร้างอาคารและตึกต่าง ๆ ในปัจจุบัน มีความเข้มงวดและครอบคลุมรองรับเหตุการณ์แผ่นดินไหว หากเกิดแผ่นดินไหวในระดับเดียวกับที่ผ่านมา จะไม่ส่งผลให้เกิดอาคารถล่ม เห็นได้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อาคารส่วนใหญ่ไม่ได้รับความเสียหายรุนแรง มีเพียงอาคารที่ถล่มเพียงแห่งเดียว ซึ่งจำเป็นต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม และมีข้อสงสัยหลายประเด็นที่สำคัญมาตั้งแต่ต้น รวมถึงในกระบวนการตรวจสอบ และขณะนี้ ไซด์งานที่เกิดเหตุยังอยู่ระหว่างการเคลียร์พื้นที่ โดยได้รับรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า จะต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือนในการดำเนินการดังกล่าว 

.

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้ข้อสรุปว่า มีการมอบหมาย คณะวิศวกรรมศาสตร์จาก 4 สถาบันการศึกษา และกรมโยธาธิการและผังเมือง ต่างคนต่างจัดทำแบบจำลองเหตุการณ์ (โมเดล) จำลองสภาพจริงของอาคารสำนักงานฯ สตง. (แห่งใหม่) กับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ เพื่อค้นหาสาเหตุว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้อาคารถล่มลงมา

.

“รัฐบาลจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด แต่ละสถาบันจะจัดทำแบบจำลอง เพื่อการวิเคราะห์ขั้นสูงโดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 90 วัน ซึ่งการดำเนินการโดย 4 สถาบันการศึกษา และกรมโยธาธิการและผังเมือง จะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ เพื่อสร้างความร่วมมือและความโปร่งใส ทำให้ประชาชนมั่นใจว่า มีการใช้คณะวิศวกรรมศาสตร์แต่ละสถาบันในการวิเคราะห์ เพื่อจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนและเชื่อถือได้” นายกรัฐมนตรี กล่าว

#พรรคเพื่อไทย