ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ : 15 ปี 10 เมษา ให้ความเป็นเพื่อนเตือนใจกัน

เปิดความรู้สึกนึกคิด ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำ นปช. ถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา 15 ปี และช่วงเวลาหลังจากนั้น เปลือยตัวตนนักพูดในวันที่เลือกเงียบ เมื่อเพื่อนมิตรส่งเสียงวิจารณ์ก่นด่า มองขบวนการเสื้อแดงไม่สูญเปล่า แม้เดินทางมาถึงวันที่แดงมีสองเฉด

การสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ถือเป็นเหตุการณ์แรกในโลก ที่มีการใช้อาวุธปืนติดลำกล้องซุ่มยิงระยะไกลจากจุดสูงข่ม กระทำต่อผู้ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ผลการชันสูตรศพผู้เสียชีวิตพบว่า ในมือของพวกเขาไม่มีเขม่าดินปืน และไม่ปรากฎภาพการยิงต่อสู้ตอบโต้จากผู้เสียชีวิตแม้แต่รายเดียว 

นี่คือ คำนิยามของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่มีต่อประวัติศาสตร์บาดแผลเมื่อ 15 ปีก่อน ซึ่งสะท้อนให้เห็นความโหดร้ายของผู้มีอำนาจอันเกินกว่าจะจินตนาการถึง 

แต่อีกมุมหนึ่ง ในช่วงเวลาเดียวกัน เขามองเห็นว่า นี่เป็นการแสดงออกของพลังประชาชนที่มีความคิดความเชื่อแบบเดียวกัน แม้จะต่างคน ต่างใจ แต่ก็สามารถหลอมรวมความคิดจิตใจเป็นหนึ่งเดียวกันได้ ไม่เพียงแค่หันหน้าเข้าหากัน แต่ในยามเผชิญภยันตรายทุกคนที่ใส่เสื้อสีแดงพร้อมที่จะหันหลังพิง เป็นเพื่อนตาย เป็นผู้ป้องภัยของกันและกัน 

ตลอดเวลาของการเผชิญหน้ากับความเป็นความตายเขามองเห็นสิ่งเหล่านั้น

“ความทรงจำของผม ความผูกพันกับการต่อสู้ ความเป็นคนเสื้อแดง ผมยืนยันว่า ผมยังเป็นคนเดิม ไม่ว่าใครจะมองอย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่ได้ทำให้ภาระหน้าที่ ที่ผมคิดว่ามันเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งของชีวิตที่ต้องทำเลือนหาย จนถึงปัจจุบันก็ยังทำหลายๆ เรื่องอยู่ ที่จะทำให้การทวงความยุติธรรมนั้นสำเร็จ” 

ณัฐวุฒิ ย้ำว่า แม้เวลาผ่านมา 15 ปี สิ่งหนึ่งที่ยังคิด และยังพยายามผลักดันให้เกิดผลมาตลอดไม่ว่า สถานการณ์ทางการเมืองจะเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหนก็ตาม คือ การติดตามทวงถาม ความยุติธรรมให้กับผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการต่อสู้ในคราวนั้น 

และทั้งหมดนี้คือ ความคิดจิตใจ ที่เปิดเผยออกมาผ่านระยะเวลาการพูดคุยกว่า 2 ชั่วโมง ในห้วงยามที่เสื้อแดงมีสองเฉด 

ทำมาตั้งแต่ช่วงรัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ ทำมาตลอดเวลาในช่วงของการรัฐประหาร ทุกที่ ทุกเวลาที่ทำได้ ไป ป.ป.ช. ไปอัยการ ไป DSI แต่งตัวเป็นคนอนาถา เพื่อที่จะแสดงสัญลักษณ์เรียกร้องความเป็นธรรม ไป ป.ป.ช.ถือตะเกียงเข้าไปนั่งน้ำตาไหล อยู่ในการแถลงยกคำร้องของเลขาธิการ ป.ป.ช. ที่จะไม่เอาผิดผู้มีอำนาจทางการเมืองที่ออกคำสั่งให้ปราบปรามประชาชนในคราวนั้น

ทั้งหมดคือ สิ่งที่ทำมาแล้ว ผมเห็นว่า มันมีความยากลำบาก มันเป็นอุปสรรคซึ่งไม่ใช่เป็นอุปสรรคโดยธรรมชาติ แต่เป็นอุปสรรคที่ถูกสร้างขึ้นโดยอีกกลไกอำนาจหนึ่ง โดยอีกขบวนการเปิดรูป และซ่อนรูป ที่ทำให้เราไม่สามารถจะไปถึงเป้าหมายได้ ดังนั้นตลอดเวลาที่ผ่านมาสิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่

เพียงแต่ว่า เวลาอยู่บนเวทีผมจะเป็นนักพูด เป็นนักต่อสู้ แต่เวลาทำเรื่องพวกนี้ผมจะเป็นนักไม่พูดเพราะผมคิดว่ามันเป็นหน้าที่ มันไม่ใช่โฆษณา แล้วก็ไม่เคยเอาไปป่าวประกาศว่า กำลังทำอะไรอยู่ หรือทำอะไรไปแล้วบ้าง แล้วก็ไม่เคยเรียกร้องให้ใครพูดถึงเราว่า เรากำลังทำอะไร เพราะว่าวิถีของคนเสื้อแดง ผมว่าคนเสื้อแดงจำนวนมากเดินออกจากบ้านมาอย่างเงียบๆ ด้วยหัวใจลุกรบต่อสู้ แล้วก็เดินกลับบ้านอย่างเงียบๆ ด้วยความผูกพันกับเพื่อนมิตรพี่น้อง และจิตวิญญาณของการต่อสู้

ผมเคารพในหัวใจของคนเสื้อแดงที่ออกมาสู้ทุกคน และผมไม่ได้มานั่งประเมินค่าว่า ใครสู้กว่าใคร ใครกล้ากว่าใคร ใครก้าวหน้ากว่าใคร ผมไม่เคยมีความคิดแบบนั้น ผมไม่มีสิทธิที่จะประเมินแบบนั้นด้วยซ้ำ ผมเคารพคนที่ต่อสู้ด้วยกัน เอาเพียงแค่ว่าคุณใส่เสื้อสีแดงออกมาจากบ้านแล้วมาแสดงตัวในที่ชุมนุม นั่นก็เป็นการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ของคนจำนวนมากแล้ว

แม้ว่าวันนี้สถานการณ์การเมืองที่เปลี่ยนแปลง อาจจะทำให้แต่ละคนยืนอยู่คนละจุดในทางการเมือง อยู่คนละที่ อยู่คนละองค์กร แต่ว่าผมว่ามันเชื่อมต่อกันได้ด้วยความทรงจำ เชื่อมต่อกันได้ด้วยความเป็นพี่น้อง ความเป็นเพื่อนร่วมเป็นร่วมตายกัน ผมจึงเลือกที่จะเงียบทุกครั้งเมื่อเพื่อน พี่น้อง ในขบวนการพูดถึง หรือวิพากษ์วิจารณ์อะไรออกมา ผมไม่เคยมีความรู้สึกว่าจะต้องไปตอบโต้ จะต้องไปสร้างวิวาทะใดๆ ทั้งที่หลายเรื่องที่พูดไม่เป็นความจริง หรือหลายเรื่องที่กำลังต่อว่าผม แท้จริงแล้วเป็นเรื่องที่ผมทำ หรือกำลังทำอยู่ทั้งสิ้น

ผมคิดว่า พี่น้องเหล่านั้น แม้ว่าวันนี้อาจจะเห็นไม่เหมือนกัน อาจจะยืนอยู่คนละที่กัน แต่ ณ วันนั้น ทุกคนเสี่ยงร่วมกัน เรารู้สึกเป็นเพื่อน เป็นพี่เป็นน้องกันจริง ผมอยากจะรักษาสิ่งเหล่านั้นไว้ เพราะว่าสภาพการเมืองแบบที่เป็น ผมเองก็ยังเดาไม่ถูกว่า มันคืออะไร ผมเองก็ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าปลายทางสุดท้ายของความขัดแย้งนี้ มันจะคลี่คลายลงที่หลักกิโลเมตรไหน ดังนั้นในการเดินทางไกลแบบนี้ ผมว่าสมบัติล้ำค่าอย่างหนึ่งที่ควรจะถนอมรักษาไว้คือ ความเป็นเพื่อน และมิตรภาพ

เมื่อไหร่ก็ตามที่คนในขบวนการต่อสู้เลือกที่จะทำลายความเป็นเพื่อน หรือมิตรภาพลงเสียแล้ว การเดินทางไปข้างหน้าในระยะยาว จากที่ยากอยู่แล้ว มันอาจจะยากลำบากมากขึ้น ผมไม่ได้บอกว่า งั้นก็เออออกันไป หยวนหยวนกันไป ไม่ต้องมีใครรู้สึกรู้สาอะไร ไม่ใช่ ทุกคนมีสิทธิที่จะรู้สึก ทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงออก แต่ผมว่าเส้นของความเป็นเพื่อน หรือเส้นของมิตรภาพถ้าช่วยกันรักษาไว้ วันหนึ่งมันอาจจะสำคัญและจำเป็นมากๆ ที่จะถูกหยิบเอามาใช้

ที่เรียกความเป็นเพื่อน หรือมิตรภาพว่าเป็น เส้น ถ้าจะให้ดี มันควรถือด้วยกันทั้งสองฝ่ายมันจึงถูกเรียกว่าเป็น เส้น แต่ถ้าหากว่าถือไว้เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพียงฝ่ายเดียว ก็อาจจะกลายเป็นอะไรที่ใครก็เดินข้ามไปได้ง่ายๆ หรือกลายเป็นอะไรที่ใครๆ ก็มองไม่เห็น 

ไม่ว่าใครจะยังไง แต่ผมเลือกที่จะถือเส้นความเป็นเพื่อนอย่างน้อยที่สุดก็ในด้านของผมเอาไว้ เพราะผมคิดว่า คนที่มันเคยเป็นร่วมตายกันมาขนาดนั้น คนที่มันเคยผ่านสถานการณ์ที่ถึงขั้นบอกลาลูกเมียกันแล้วในบางช่วงเวลามัน จะถึงกับเพิกเฉยต่อชะตากรรมของกันและกันได้จริงๆ มันจะถึงกับหันหลังให้กับความทุกข์ยากของกันและกันได้จริงๆ ผมคิดว่าไม่ใช่ 

ดังนั้นผมเลือกที่จะถือสิ่งนี้ไว้ก่อนดีกว่าวันหนึ่งถ้าใครเห็นว่าจำเป็นต้องใช้ จะได้รู้ว่ามาเอาความเป็นเพื่อนจากผมได้ เพราะผมยังมีอยู่ ผมยังถือไว้อยู่ ถ้าเราเลือกที่จะปล่อยวางสิ่งนี้ไปทั้งหมดถึงวันหนึ่งในสถานการณ์​ที่คาดเดาไม่ได้ แล้วหันไปทางไหนก็ไม่เจอเพื่อนนั่น ผมว่ามันเป็นสถานการณ์ที่ไม่ควรปล่อยให้มันเป็นไปขนาดนั้น

-15 ปี การต่อสู้ไม่สูญเปล่า-

มองกลับมาในเวลานี้ หลายคนมองว่า 15 ปีที่ผ่านมา การต่อสู้ของเสื้อแดงนั้นสูญเปล่า ผมคิดว่าไม่ใช่ ถ้ามองที่ข้อเรียกร้องระยะยาว หรือดอกผลจากการต่อสู้ของคนเสื้อแดงมันไม่ได้สูญเปล่า ผมว่าพัฒนาการทางการเมือง หรือพัฒนาการทางการต่อสู้ของสังคมไทยมาถึงปัจจุบัน คุณูปการมากๆ อย่างหนึ่งคือ การต่อสู้ของคนเสื้อแดง

วิเคราะห์กันดีๆ ผ่านมา 10 กว่าปี หลายเรื่องที่ยังมีการพูดกันอยู่วันนี้บนเวทีการต่อสู้ มันถูกพูดถึงมาแล้วในเวทีของคนเสื้อแดงแทบทั้งสิ้น อาจจะมีเรื่องที่มันดูโลดโผน อาจจะเป็นเรื่องทำให้คนมองว่าเป็นเรื่องท้าทายมากๆ ที่ยังไม่มีการพูดถึงกันในเวลานั้น แต่ว่าโดยส่วนใหญ่แทบ 100 เปอร์เซ็นต์  ไม่มีใหม่เกินไปกว่าสิ่งที่คนเสื้อแดงเคยพูดกันมา ไม่ว่าจะเป็นบนเวที หรือล่างเวทีก็ตาม

ผมไม่ได้บอกว่าคนเสื้อแดงเดินมาด้วยความถูกต้องทุกประการ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่อย่างนั้น  แต่ผมคิดว่าหักกลบลบแล้ว มีด้านที่เป็นคุณูปการเป็นส่วนใหญ่ การต่อสู้ในเวลานั้นได้ขับเคลื่อนสังคมอย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้สังคมไทยหันมามอง เรื่องความเป็นประชาธิปไตย เรื่องสิทธิเสรีภาพ เรื่องความยุติธรรมสองมาตรฐาน และก็อีกหลายหลายเรื่องที่ต่อยอดกันมา

ในวันเวลาการต่อสู้ของคนเสื้อแดง พรรคเพื่อไทยก็ยืนเท่าๆ กับขบวนการประชาชน เราเห็นอดีต สส. อดีตรัฐมนตรีของพรรค ขึ้นยืนบนเวทีเดียวกันกับประชาชน ขึ้นไปยืนอยู่บนหลังคารถ ยืนอยู่บนท้องถนน ยืนอยู่ในสถานการณ์ความเป็นความตายอยู่ด้วยกัน แม้จะมีบางคนปรามาสว่า เฮ้ย ไปเพราะเอาใจนาย ไปเพราะอยากจะได้ดิบได้ดีทางการเมือง อยากให้นายกฯ ทักษิณ เห็น จะได้มีรางวัลกับเขา ผมว่านั่นเป็นคำพูดที่ดูเบากันเกินไปหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่า ในวินาทีที่ยืนแบบนั้นมันเป็นตายเท่ากัน กระสุนมันไม่เข้าใครออกใคร มันมีสิทธิที่จะวิ่งไปหาใครคนใดคนหนึ่งก็ได้ แล้วความเจ็บความตายก็เกิดขึ้นท่ามกลางความเจ็บปวดของประชาชนด้วยกัน

เหตุการณ์วันที่ 10 เมษา มี สส. พรรคเพื่อไทย ไม่น้อยอยู่กับผมที่ผ่านฟ้า ที่ถนนราชดำเนิน บางคนไปถูกยิงด้วยกระสุนยางกลับมา ถูกเขาไล่ล่าหัวซุกหัวซุน นั่นคือ นักการเมืองจากพรรคเพื่อไทย

แกนนำที่ถูกใครบางคนเขาบอกว่า ไอ้นี่เป็นแกนนำที่ไม่ได้มีหลักการอะไร เป็นแกนนำที่ไม่ได้มีความรู้ พูดจาก็ไม่ได้เรื่องด้วยซ้ำ เอะอะก็ทักษิณ ทักษิณอยู่นั่น ใครจะว่ายังงั้นก็ว่าไป แต่ที่ผมกำลังพูดนี่หมายถึง ขวัญชัย ไพรพนา คุณอย่าลืมว่า ขวัญชัย ถูกลอบยิงที่บ้านพักของตัวเองด้วยอาวุธสงคราม ในวินาทีเกือบเป็นเกือบตายแบบนั้น เขาถูกลอบยิงด้วยเหตุผลเดียว คือเขาเป็นคนเสื้อแดง

ทีนี้ถามว่า พรรคเพื่อไทย ทำให้คุณค่าของการต่อสู้ของคนเสื้อแดงถูกทำลายลงไหม ผมไม่ได้เห็นมุมนั้น ตรงกันข้าม ผมเห็นมุมของความพยายามที่จะทำให้การต่อสู้นี้มีคุณค่า และถูกจดจำ ทำให้มันได้รับการชำระสะสางให้ความเป็นธรรมโดยกลไกรัฐซึ่งตรงนี้สำคัญ

ในประเทศไหนก็ตาม หากเกิดการใช้ความรุนแรงกับประชาชน แล้วถูกเพิกเฉยจากกลไกรัฐนั่นคือ การทำลายคุณค่าอย่างถึงที่สุดของการต่อสู้นั้น แต่ทันทีที่พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งโดย นายกฯ ยิ่งลักษณ์ เป็นนายกรัฐมนตรี สิ่งที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยทำคือ พยายามที่จะยกระดับคุณค่าการต่อสู้ของคนเสื้อแดง แสวงหาความเป็นธรรม และทำให้การต่อสู้นี้ยังคงเป็นที่จดจำ ยอมรับโดยกลไกรัฐ

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ มาถึงสิ่งแรกที่ทำคือ มอบหมายสมาคมทนายความดำเนินการเรื่องการประกันตัวผู้ต้องขังจากคดีความทางการเมือง ผมเองนี่แหละเป็นคนหนึ่งที่พาเพื่อน สส. ของพรรคเพื่อไทย เดินขึ้นศาลอาญา แล้วใช้ตำแหน่งประกันตัวผู้ต้องขังในคดีทางการเมือง

ส่วนที่ได้รับการประกันตัวก็ออกมา ส่วนที่ยังไม่ได้รับการประกันตัว รัฐบาลก็มีมติ ครม. รับทราบรายงานของ คอป. (คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ) ที่เสนอให้มีการสร้างที่คุมขังแยกเฉพาะส่วนสำหรับผู้ต้องขังคดีความจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง แล้วในที่สุดเดือนมกราคม ปี 2555 หมายความว่า เพียง 4-5 เดือนหลังจากเข้ามาบริหารประเทศ ได้มีคำสั่งจัดตั้งเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ ควบคุมผู้ต้องขังคดีการเมืองแยกออกมาจากเรือนจำปกติ

หลังจากนั้นอีกประมาณ 2 เดือนก็มีมติ ครม. อนุมัติหลักเกณฑ์การเยียวยาผู้บาดเจ็บและสูญเสียจากความขัดแย้งทางการเมืองทุกคน ทุกฝ่าย ทุกสีเสื้อ เลยไปถึงเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มติ ครม. เรื่องนี้มีขึ้นภายใน 7 เดือนแรกของการบริหารประเทศโดยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และมีหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินเยียวยาซึ่งจัดการไปเสร็จสิ้นแล้ว ผมว่าสองสามเรื่องที่เล่าให้ฟัง มันทำให้คุณค่าการต่อสู้ของคนเสื้อแดงมันถูกขับเน้นให้เด่นชัดขึ้นมา เพราะมันถูกจัดการโดยกลไกรัฐ ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

จากนั้นในการทวงถามความยุติธรรม รัฐบาลชุดนั้น ก็ดำเนินการจนในที่สุด อัยการมีคำสั่งฟ้องผู้มีอำนาจในเวลานั้น ทั้งนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และผู้นำกองทัพ ฐานบงการฆ่าโดยเจตนาเล็งเห็นผล เพียงแต่ว่าฝ่ายจำเลยเข้าไปฟ้องแย้ง แล้วก็สู้กันจนถึงชั้นฎีกา ตั้งแต่ศาลชั้นต้น อุทธรณ์ ถึงฎีกา ท่านวินิจฉัยมาเป็นทางเดียวกันว่า คดีดังกล่าวไม่ได้เป็นอำนาจของศาลอาญา แต่เป็นอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งต้องไปตั้งต้นที่ ป.ป.ช. 

อย่างไรก็ตาม ในคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น มีความเห็นแย้งโดยอธิบดีศาลอาญาเองว่า คดีนี้ควรอยู่ในอำนาจของศาลอาญาได้ เพราะเป็นคดีถึงแก่ความตาย ถึงแก่ชีวิตจะไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพียงอย่างเดียวได้ยังไง แต่ถึงอย่างนั้น ทุกอย่างก็เป็นไปตามคำวินิจฉัยสุดท้ายของศาลฎีกา

พูดโดยสรุปก็คือ มีการประกันตัวผู้ต้องหา ส่วนที่ไม่ได้ประกันมีการตั้งเรือนจำหลักสี่ เพื่อแยกผู้ต้องหาคดีการเมือง ออกจากคดีอาญาทั่วไป มีการเยียวยาผู้สูญเสีย และมีการดำเนินกระบวนการยุติธรรมจนคดีถึงศาล ในห้วงเวลา 2 ปีเศษ ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส่วนตัวผมเป็นทั้งคนเสื้อแดง และเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนั้น แต่ผมไม่ได้พูดในฐานะที่เป็นรัฐมนตรี ผมพูดในฐานะคนเสื้อแดงว่า ภายใต้เวลาเท่านั้นแล้ว รัฐบาลทำกับคนเสื้อแดงได้ใน 3-4 เรื่องที่ผมพูดไป ผมว่า รับเป็นเพื่อนได้ ผมว่ามันเห็นเนื้อแท้ถึงความพยายามที่จะทำให้เรื่องราวเหล่านี้เดินไปข้างหน้า 

แน่นอนที่สุดมันอาจจะไม่สมบูรณ์แบบ อาจจะไม่ถึงระดับความพอใจของคนบางส่วน แต่ในโลกของความเป็นจริง ทุกขั้นทุกตอน มันไม่ใช่เป็นเรื่องที่เดินได้ง่ายๆ มติ ครม. ที่เห็นชอบหลักเกณฑ์การเยียวยาผ่านไปแล้ว จ่ายเงินเยียวยากันไปแล้ว แต่รัฐมนตรีใน ครม. ชุดดังกล่าวถูกร้องต่อ ป.ป.ช. สู้คดีหลังจากนั้นอีก 7-8 ปีถึงยกคำร้อง ส่วนที่ไปฟ้องผู้สั่งการจนถึงศาลอาญา อธิบดี DSI ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนในคดีดังกล่าวถูกจำเลยฟ้องกลับ ในที่สุดติดคุกใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำเป็นเวลายาวพอสมควร 

เรือนจำที่มีการคัดแยกผู้ต้องขังคดีทางการเมืองเอาไปไว้ต่างหาก หลังการรัฐประหารปี 2557 มีการประกาศยกเลิกเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ แล้วก็เอาผู้ต้องขังคดีการเมืองทั้งหมดกลับเข้ามาคุมขังในเรือนจำหลักร่วมกับผู้ต้องขังคดีอาญา นี่เป็นภาพที่ผมต้องการให้เห็นว่า ในการต่อสู้ มันมีการต่อต้านออกมาจากอีกฝ่ายตลอดเวลา และเขาจะทำทันที ทำทุกครั้งที่เขามีโอกาส ผมอยากจะให้ทุกอย่างมันเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ อยากให้ทุกอย่างมันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่เราพบเจอ มันเป็นอย่างที่ผมเล่าให้ฟังนี่แหละ

สิ่งที่เรากำลังทำกันอยู่ตอนนี้ คือส่วนที่เดินต่อจากสิ่งที่ได้ทำกันไปแล้ว คือ ทำให้คดีนี้กลับคืนสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างคาดหวังได้อีกครั้ง โดยเสนอแก้ไขร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. ขณะนี้คุณก่อแก้ว พิกุลทอง ที่เป็นแกนนำเสื้อแดงคนเดียวที่ยังรอดอยู่ในสภาฯ ผลักดันอยู่ เรื่องนี้อยู่ในกระบวนการ เชื่อว่าในสมัยประชุมหน้า ก็จะนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้ 

อีกหนึ่งเรื่องคือ การไต่สวนสาเหตุการตายของผู้เสียชีวิตซึ่งยังค้างอยู่อีก 68 รายในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ผ่านมามีการไต่สวนไปแล้วจำนวนหนึ่งแต่ หลังการรัฐประหาร 2557 ขั้นตอนนี้ถูกแช่แข็งอย่างสิ้นเชิง

ตลอดเวลา 10 ปีในอำนาจของกลุ่มบุคคลดังกล่าว ไม่เคยมีความเคลื่อนไหวเรื่องนี้อีกเลย และเมื่อรัฐบาลนี้กลับมาทำหน้าที่ ผมก็ไปตามเรื่องเงียบๆ ไปตามสำนวนคดีนี้ถูกทำให้กระจัดพลัดพราย ชนิดที่ถ้าไม่พยายามตามรวบรวมกันมาจริงๆ มันก็จะหายไปกับกาลเวลาแต่ว่าขณะนี้ผมไปตามสำนวนคดีทั้งหมดได้แล้ว และถูกรวมอยู่ในที่แห่งหนึ่งแล้ว 

-ความรู้สึกนึกคิด ในวันที่แดงมีสองเฉด-

ส่วนความเปลี่ยนแปลงของขบวนการต่อสู้ ซึ่งเคยเป็นก้อนมวลชนขนาดใหญ่มากของประเทศ เมื่อมาถึงวันหนึ่ง อาจจะเห็นภาพเดินไปสองทาง หรืออาจจะมากกว่าสองทางก็ได้ในรายละเอียด ถือเป็นเรื่องปกติ นี่คือกฎเกณฑ์ของขบวนการมวลชนที่ต่อสู้ทางการเมืองในทุกประเทศ 

ถ้าเราไปศึกษาพัฒนาการของขบวนการต่อสู้มวลชนของแต่ละประเทศ เราจะพบความจริงเรื่องนี้ว่ามันมีช่วงเวลาที่ทรงพลังมากๆ แล้วก็มันจะมีช่วงเวลาที่เกิดความแตกต่างทางความคิดกระจัดกระจายจนกระทั่งสูญสลายหายไปก็มีให้เห็นอยู่มาก ดำรงสภาพอยู่ แต่ก็ไม่ได้แข็งแรงเหมือนอดีตก็ไม่ใช่น้อย ดังนั้นการเดินทางของคนเสื้อแดงร่วม 20 ปีที่ผ่านมามันก็ไม่ได้อยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์นี้ ผมมองเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา 

แต่เรื่องที่ว่า เมื่อมาถึงจุดนี้ คนเสื้อแดงกลุ่มหนึ่งกลับยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์ หรือกระทั่งหยามหมิ่น แต่ว่าอีกกลุ่มหนึ่งได้รับการชื่นชม เชิดชู ไปอีกแบบ ผมว่าเรามีข้อสรุปจากเรื่องนี้ได้สามประเด็น 

หนึ่งต้องยอมรับความจริงกันว่า ทั้งสองก้อนต่างเป็นคนเสื้อแดงของจริงด้วยกันทั้งคู่ เป็นคนเสื้อแดงที่สู้กันมา เราต่างเคยเป็นเพื่อน เคยเป็นพี่น้องร่วมกันมา จะบอกว่าใครยืนอยู่กับพรรคเพื่อไทย แดงไม่จริง ผมว่าไม่ใช่ หรือจะไปบอกไอ้พวกที่อยู่ราชประสงค์เมื่อปี 2553 แล้ววันนี้ไปอยู่ฝั่งฝ่ายค้าน คุณไม่ใช่แดงแท้ ก็ไม่ใช่ มันแท้ทั้งคู่เพียงแต่มันเห็นไม่ตรงกัน 

สองเรื่องการถูกประเมินมองของกลุ่มมวลชนที่ยังคงยืนอยู่กับพรรคเพื่อไทยว่า เป็นพวกไม่มีการศึกษา เป็นพวกรับจ้าง เงินใช้ให้ทำอะไรก็ได้ ทาสทักษิณ สมุนแม้ว อันนี้มันไม่ใช่ของใหม่ ผมเจออะไรแบบนี้มาตั้งแต่เริ่มต้นแสดงตัวว่ายืนอยู่กับพรรคไทยรักไทย ในช่วงเวลาที่มีกลุ่มมวลชนออกมาขับไล่รัฐบาลทักษิณ

แต่ว่าในมุมมองของคนที่เคยอยู่ด้วยกัน และขณะนี้บางส่วนเผชิญหน้ากัน วิพากษ์วิจารณ์กัน มันเป็นเรื่องของการปฏิเสธแนวทางของกันและกัน และวิธีปฏิเสธก็มีหลายวิธี ขั้นพื้นฐานก็คือไม่เลือก ไม่สนับสนุน ไม่ให้ความเชื่อมั่น ไปจนถึงการห้ำหั่นกัน เมื่อถึงขั้นห้ำหั่นก็พบว่า มีการเลือกชุดวาทกรรม ที่จะเอามาทำร้ายทำลายกัน 

ในสถานการณ์นี้ ผมมีข้อเสนอ คือระหว่างคนเสื้อแดงด้วยกันที่วันนี้ยืนอยู่คนละฟากข้างของพรรคการเมือง ผมว่ามันต้องให้คำว่าเพื่อนเตือนใจกัน ถ้าเราเคยเจ็บปวดหรือเคยถูกกระทำกับการแสดงออกแบบไหน วาทกรรมแบบใด ผมว่าอย่าเอามาใช้กับคนที่เคยเป็นเพื่อนกันเลย

ถ้าใครหันมองมาที่คนเสื้อแดงที่ยังยืนอยู่กับพรรคเพื่อไทย แล้วก็ชี้หน้าว่าไอ้พวกนี้ ไอ้พวกรับจ้าง ไอ้พวกสมุนทักษิณ ไอ้พวกไร้การศึกษา ไอ้พวกถูกหลอกต้มมา ไม่นึกเหรอครับว่าวันหนึ่งพวกเราก็เคยเจ็บปวดกับการถูกชี้หน้าแบบนี้ พวกเราก็เคยบอบช้ำจากการถูกตราหน้าด้วยคำพูด ด้วยกริยา ด้วยวิธีคิดแบบนี้ 

ขณะเดียวกันถ้าหากเรามองไปเห็นคนเสื้อแดงที่ยืนอยู่ในมุมของพรรคฝ่ายค้านปัจจุบัน แล้วชี้บอกว่าคุณคือ ไอ้พวกล้มเจ้า ไอ้พวกไม่จงรักภักดี ไอ้พวกทำลายบ้านเมือง ผมก็อยากให้ความเป็นเพื่อนมันเตือนใจคนที่จะชี้ไปที่พี่น้องเราที่ยืนอยู่ตรงนั้น ไม่ใช่เพราะข้อกล่าวหาแบบนั้นเหรอที่ทำให้เรากลายเป็นเหยื่อบนท้องถนน ที่ทำให้เรากลายเป็นคนที่ถูกไล่ฆ่าจับขังแล้วก็ยังคงความเจ็บปวดอีกมากมาย 

ผมว่าคนที่มันเป็นเพื่อนคนที่มันร่วมเป็นร่วมตายกันมา รอดตายจากคมกระสุนของศัตรูแล้วก็อย่าหยิบดาบของศัตรูที่เคยใช้ประหัตประหารพวกเรากันเอง มากระทำต่อกันเลย ผมว่า ถ้าไม่มีอะไรเตือนใจกันได้ ก็ให้คำว่าเพื่อนมันเตือนใจกัน 

ผมมองไปเห็นพรรคพวกผม พี่ผมน้องผมยืนอยู่คนละที่ในทางการเมือง ผมเข้าใจได้นะ ผมไม่เคยมีปัญหากับสิ่งเหล่านี้เลย ไม่เคยรู้สึกโกรธแค้น ไม่เคยรู้สึกว่า เพราะเขาคิดไม่เหมือนเรา แล้วเขาเป็นคนผิด หรือเราจะเป็นฝ่ายถูก 

เวลามีใครเขาว่ามาต่อว่าอะไร ตาก็เห็นหูก็ได้ยินเห็น เห็นทุกตีน จำได้ทุกรอย แต่ไม่เคยจะออกไปตอบโต้อะไร แต่ผมอยากบอกตรงนี้ว่า ถ้าผมนั่งอยู่ตรงไหน แล้วเห็นใครไปรังแกเพื่อนผม พี่ผมน้องผมที่เคยต่อสู้กันมา ต่อให้อยู่กันคนละพรรค ผมนี่แหละจะลุกออกไปเป็นคนแรก แล้วผมว่าคนพวกนั้นรู้ใจผมดีว่าเป็นยังไง ใครจะวิ่งทิ้งคุณก็วิ่งไป แต่ถ้าคุณตกอยู่ในอันตรายผมจะวิ่งเข้าไปหาคุณ ต่อให้ตีนคุณจะเต็มอยู่บนตัวผมก็ตาม แต่ตีนผมจะสับสุดตีนวิ่งไปยืนรับตีนร่วมกับคุณผมยืนยัน

#พรรคเพื่อไทย #คนเสื้อแดง