‘จุลพันธ์ รมช.คลัง’ แจงรัฐบาลทำงานเต็มที่ รับมือกำแพงภาษีสหรัฐฯ ย้ำไม่เปิดหมดทั้งหน้าตัก
วันที่ 9 เมษายน 68 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลุกชี้แจงต่อญัตติด่วน ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษาผลกระทบและมาตรการรับมือ จากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา ว่า ทางคณะทำงานมีการประชุมหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีการคำนวณการขึ้นภาษี ที่หลุดออกไปจากหลักทางเศรษฐศาสตร์ อย่างไรก็ตาม เป็นการสะท้อนแนวคิดลดการขาดดุลการค้าของประธานาธิบดีสหรัฐฯ การพิจารณาของรัฐบาลไทยเบื้องต้นจะมีการนำเข้าสินค้ามากขึ้น แต่ต้องไม่สร้างภาระต่อพี่น้องเกษตรกร ภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs และไม่ให้กระทบต่อราคาสินค้าภายในประเทศ
“ต้องขอบคุณท่านสมาชิกอภิปรายด้วยเหตุผล ให้เกียรติกับทางรัฐบาล กับคณะเจรจา กลไกการต่อรองระหว่างประเทศ เราไม่มีทางกางไว้บนโต๊ะทั้งหมด เรามีอาวุธอะไรในสต๊อกบ้าง เรามีการเจรจาที่นำไปใช้ได้บ้าง คงไม่เปิดหมดทั้งหน้าตัก เพื่อให้ผู้ไปเจรจามีศักยภาพในการเจรจานำผลประโยชน์สูงสุดให้กับพี่น้องประชาชนและประเทศชาติของเรา” นายจุลพันธ์กล่าว
นายจุลพันธ์กล่าวว่า วันนี้ไม่ใช่เรื่องของความเร็ว แต่เป็นเรื่องของความแม่นยำ การแก้ไขปัญหาเราต้องตอบโจทย์ของสหรัฐฯ แม้ว่าเขาจะไม่ได้ประกาศชัดเจน ประเทศในภูมิภาคเดียวกันประกาศลดภาษีศุลกากรเหลือ 0% สุดท้ายก็ยังไม่ตอบโจทย์สหรัฐ
โดยรัฐบาลจะมีการตรวจสอบสินค้าที่สวมสิทธิแหล่งกำเนิด สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งต้องมีการปรับเปลี่ยนกลไกเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแบบนี้ในอนาคต อีกทั้งต้องมีการแก้ไขอุปสรรคที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาษี (Non-Tariff Barriers) การเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกิจ เพื่อให้การเจรจาเกิดประสิทธิผลมากที่สุด รวมถึงการลงทุนในประเทศสหรัฐฯ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนไทย
“เป็น New Normal ของการค้าโลก เราต้องอยู่กับมัน และปรับตัวให้ได้ รัฐบาลจะเข้ามาช่วยการปรับตัวให้กับภาคเอกชน โดยขณะนี้เตรียมเงินไว้ 5,000 ล้านบาท ไว้กับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และจะมีมาตรการอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกร” นายจุลพันธ์กล่าว
นายจุลพันธ์กล่าวว่าหากวิเคราะห์กันตามตรง เรื่องนี้เป็นผลกระทบเชิงลบหากหาโอกาสในวิกฤตพบ ก็จะมีแนวทางตอบโต้ในหลายวิธี เช่น บางประเทศตอบโต้โดยการขึ้นภาษีแข่งกัน ซึ่งหากไทยเจรจาได้สำเร็จและมีสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดอาจจะเป็นช่องว่างที่สินค้าไทยสามารถนำสู่การค้าที่เพิ่มขึ้นได้ หรือบางประเทศที่ตัดสินใจออกมาตรการภาษี เช่น Digital Services Tax ที่เกี่ยวกับแพลตฟอร์มออนไลน์สัญชาติอเมริกา โดยประเทศไทยจะมองช่องโหว่นี้อย่างไรให้ได้ประโยชน์ อย่างน้อยก็ตามไม่ปฏิเสธว่าเรื่องนี้กระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
#พรรคเพื่อไทย #ภาษีสหรัฐฯ

บทความที่เกี่ยวข้อง
