นพ.พรมมินทร์ เลิศสุริย์เดช ได้ให้สัมภาษณ์ ประเด็นยุทธศาสตร์การเจรจากับสหรัฐรัฐอเมริกา เพื่อลดผลกระทบการประกาศขึ้นภาษีการนำเข้า
เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2568 นพ.พรมมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ คมชัดลึก ทางช่องเนชั่นทีวี ถึงประเด็นยุทธศาสตร์การเจรจากับสหรัฐรัฐอเมริกา เพื่อลดผลกระทบการประกาศขึ้นภาษีการนำเข้า
นพ.พรมมินทร์ ระบุว่า เรื่องการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา ทางรัฐบาลไทยพอที่จะประเมินทิศทางได้ตั้งแต่ก่อนที่ โดนัลด์ ทรัมป์ จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี เพราะมีการประเมินสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา นายกรัฐมนตรีจึงได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการ คณะทำงานที่ให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน เพื่อให้มีการเตรียมการติดตามสถานการณ์ และรับมือล่วงหน้า ทั้งการประเมินดูว่ารัฐบาลของสหรัฐฯ จะมีหน้าตาอย่างไร หรือแม้แต่ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับนักการเมืองที่สหรัฐฯ ก็ได้เดินทางในนามส่วนตัว เพื่อไปศึกษาดูว่า ทิศทางนโยบายของทรัมป์จะเป็นอย่างไร ดูทั้งจุดอ่อนจุดแข็ง เพื่อที่จะนำกลับมาวิเคราะห์แนวทางรับมือกันต่อไป
นอกจากคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นนี้จะได้ดำเนินการทำงานกันอย่างละเอียดแล้ว ในการประชุมของคณะที่ปรึกษานโยบายนายกรัฐมนตรี ที่บ้านพิษณุโลก นายกรัฐมนตรีก็ได้เข้าร่วมประชุมทุกสัปดาห์ และได้มีการอัพเดทเรื่องนี้มาโดยตลอด ซึ่งได้มีการคาดการณ์ว่าจะมีการขึ้นภาษีแน่นอน และคาดว่าทางสหรัฐฯ อาจจะมีการประกาศชลอมาตรการตามมา ซึ่งวันนี้ก็พบว่าเป็นดังที่คาดการณ์ไว้จริง
“เราเตรียมเรื่องนี้กันล่วงหน้า มีการตั้งคณะกรรมการตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค. ส่วนทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งวันที่ 20 ม.ค. ผมถามว่าช้าไปไหม”
จะสังเกตว่า ยุทธศาสตร์ของทางรัฐบาล มีดำเนินการอย่างมีขั้นตอน โดยเวลานี้มีข้อเสนอต่อสหรัฐฯ มีการจัดเตรียม package ไว้ แต่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่อาจจะต้องมีการประเมินกันอีกที แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าสิ่งที่จัดเตรียมไว้เป็นข้อเสนอต่อสหรัฐฯ ค่อนข้างครอบคลุม และทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เองก็ได้ทำการติดต่อกับทางผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่สัญญาที่สำคัญ ไว้ล่วงหน้าก่อนที่ทรัมป์ จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี โดยเวลานี้ก็ได้มีการตอบอีเมลล์กลับมาว่า เขายินดีที่พูดคุยเจรจา รอแต่เพียงการจัดหาวันเวลาที่เหมาะสม
“มันมีหลักฐานชัดเจนครับ ผมเห็นวิจารณ์กันเนี่ยคนที่ไม่รู้ และไม่เคยทำงานก็ชอบพูดกันเรื่อยเปื่อย”
ต่อกรณีที่มีการวิพากษ์ วิจารณ์ว่ารัฐบาลไม่เห็นทำอะไรเลย ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านประเทศไทยต่างก็เดินหน้าประกาศมาตรการลดภาษีนำเข้าให้สหรัฐฯ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ยกตัวอย่างถึง กรณีของประเทศเวียดนามที่ได้ยื่นข้อเสนอกลับไปให้สหรัฐฯ แต่ต่อมา ปีเตอร์ นาวาร์โร ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของทรัมป์ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า สิ่งที่เวียดนามเสนอมานั้นไร้ความหมาย และยังบอกด้วยว่า จริงๆ แล้วเวียดนามยังซ่อนอะไรไว้อีกเยอะ
เมื่อมองย้อนกลับมาดู 5 ข้อเสนอของรัฐบาลไทย เราเชื่อว่า ทางสหรัฐฯ จะรับฟัง เนื่องจากเรามีการระบุถึงสิ่งที่เขารู้สึกว่า เขาต้องการ เพราะเราพูดถึงเรื่องที่กวนใจเขามาตลอดซึ่งแน่นอนว่า ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการลดภาษีเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีทั้งเรื่องการแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า และแนวทางการเข้าไปลงทุนเพิ่มในสหรัฐฯ
“วันนี้เรามีความต้องการข้าวโพดเพื่อผลิตเป็นอาหารสัตว์ประมาณ 9 ล้านตัน เราผลิตได้ในประเทศประมาณ 5 ล้านตัน ต้องนำเข้าอีก 4-5 ล้านตัน โดยนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และนำเข้าจากบราซิลด้วย ฉะนั้นเราสามารถเปลี่ยน หรือเพิ่มการนำเข้าได้ และ โดยทางรัฐบาลได้เจรจากับทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ ได้รับคำยืนยันว่า เรามีศักยภาพในการผลิตเหลือเฟือ เบื้องต้นคุณปลูกได้เท่าไหร่ หรือปลูกเพิ่มเท่าไหร่ ผมรับได้ และไม่กระทบกับเกษตรกรไทย เพราะที่เราปลูกได้ไม่เพียงอยู่แล้ว ในยุทธศาสตร์นี้คือ เราจะเป็นโรงงานผลิตให้”
ส่วนเรื่องการปรับลดภาษีการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ นั้น วันนี้ก็ต้องมาดูว่า มีสินค้าประเภทใดบ้างที่มีการเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรมกับสหรัฐฯ และการเก็บภาษีนี้ก็ไม่ได้ทำให้ไทยได้ประโยนช์อะไร เรื่องนี้ก็ต้องผ่อนคลายลง
นอกจากนี้ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งคือ ในอุตสาหกรรมซิมิคอนดักเตอร์ และฮาร์ดไดร์ฟ ผู้ที่ครองตลาดใหญ่ที่สูงคือ สหรัฐฯ ซึ่งมีการผลิตอยู่ในประเทศไทย เรื่องนี้ไม่ใช่เพียงการผลิตในไทยทำให้ขายง่ายกว่า แต่เป็นเรื่องฝีมือแรงงานของคนไทยด้วย ซึ่งมีคนงานอยู่กว่า 30,000 คน เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องที่ทางสหรัฐฯ ยังไม่ได้คิดถึง ฉะนั้นนี่จึงเป็นเรื่องที่เราจะนำไปผู้คุยว่าจะร่วมประโยชน์กันอย่างไร รวมทั้งเรายังมีเรื่องของการลงทุนที่สามารถเข้าไปลงทุนในสหรัฐได้ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร
“ในการดำเนินการต่างๆ เราต้องคำนึงถึงทุกภาคส่วน และในส่วนเกษตรกรของเรา ก็ต้องดูแลเป็นพิเศษอยู่แล้ว”
ส่วนเรื่องการควบคุมสินค้าที่เข้ามาสวมสิทธิเป็นสินค้าส่งออกของไทย วันนี้เราต้องเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบ สร้างความโปร่งใสของกระบวนการนำเข้าสินค้ามาเพื่อส่งออก
เมื่อถามว่า มาตรการหรือข้อเสนอทั้ง 5 เรื่องที่ทางการไทยเตรียมการเจรจากับสหรัฐเพียงพอแล้วหรือไม่ หรือจะให้ทางสหรัฐฯ รู้สึกว่าเป็นข้อเสนอที่มหัศจรรย์หรือไม่ นพ.พรมมินทร์ ระบุว่า ทั้งหมดเป็นเรื่องของการเจรจา แต่อย่างไรก็ตามเรายังมีไพ่ใบอื่นอีก
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ 191 ปี มีอะไรมากกว่านั้น เรามีความสัมพันธ์กันมายาวนาน มีสนธิสัญญาหลายฉบับ ซึ่งความสัมพันธ์เหล่านี้ไม่ใช่เพียงเรื่องทางการค้าอย่างเดียว เรามีแผนเรื่องการปรับยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงอยู่ รวมทั้งมติด้านสังคม และวัฒนธรรม ซึ่งเรามีการเตรียมการไว้ เรื่องนี้เขาอาจจะมองไปที่เรื่องตัวเลขเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะไม่ได้มองถือมิติอื่นๆ ที่เรามีประโยชน์อื่นๆ ร่วมกัน
“ความเป็นรัฐบาล เราห่วงชาวนาของเรา เขาก็ห่วงเกษตรกรของเขาเหมือนกัน ฉะนั้นเราก็จะเลือกซื้อสินค้าที่ถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ซื้อสินค้าจากฐานเสียงของเขา เราไม่เพียงแต่จะเจรจากับรัฐบาล แต่เราจะต้องไปคุยกับหลายๆ กลุ่ม ทั้งนักการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ เช่น เกษตรกรที่เขาก็เข้าใจเรา เราทำงานกันหลายระดับ”
นพ.พรมมินทร์ ระบุด้วยว่า การชลอการขึ้นนำเข้าของสหรัฐฯ แม้จะเป็นไปตามที่ทางคณะทำงานคาดการณ์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะทำให้เรานิ่งนอนไว้ ทุกวันนี้ทุกภาคส่วนมีความตื่นตัว และเราได้รับการติดต่อจากหลายส่วน แม้กระทั่ง EU ก็บอกว่าให้มีการคุยรวมกับประเทศไทยด้วย ในอาเซียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็ได้รับเชิญไปร่วมหารือกันในที่ประชุมรัฐมนตรีพาณิชย์อาเซียน เราติดต่อทุกฝ่าย และมีนายกรัฐมนตรีของบางประเทศ ต้องการติดต่อพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีของไทย แต่เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องความเคลื่อนไหวของโลก และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ไทยอยู่ใกล้ชิดกับหลายประเทศ และเป็นประเทศที่มีของ มีคำตอบ มีแนวทางแก้ปัญหา
“เกมนี้ เป็นเกมสำคัญ ประธานาธิบดีทรัมป์ ต้องการเซ็ตกติกาใหม่ของโลก ซึ่งเราเองก็ต้องปรับตัว หากเราอยู่ในกระบวนทัศน์เดิมก็เสร็จ ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือ สัญญาณเตือน ถึงเวลาคุณไม่ปรับคุณแย่ วันนี้มองไปที่โครงสร้างการผลิต เรามีศักยภาพเหลือในเรื่องการผลิตอาหารสัตว์ส่งออกต่างประเทศ”
#พรรคเพื่อไทย #ภาษีสหรัฐฯ

บทความที่เกี่ยวข้อง
