′ชูศักดิ์′ หยิบรธน.มากาง งง! อำนาจ สนช. ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ด้วยหรือ? (มติชนออนไลน์ 13 กันยายน 2557)

เมื่อวันที่ 12
กันยายน 2557 นายชูศักดิ์ ศิรินิล ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
ได้มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 11 กันยายน  ซึ่งในร่างข้อบังคับดังกล่าว ได้กำหนดเรื่องการถอดถอนและการให้บุคคลพ้นจากตำแหน่งไว้ด้วยนั้น (หมวด 10) 

พิจารณาแล้วเห็นว่า
การถอดถอนและการให้บุคคลพ้นจากตำแหน่งต้องแยกพิจารณาเป็น 2 กรณี กล่าวคือ  

กรณีแรก :

การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงออกจากตำแหน่งอันมีที่มาจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พุทธศักราช 2550 ว่ารัฐธรรมนูญ 2550
มาตรา 270 – 274 ได้บัญญัติเรื่องการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง
ออกจากตำแหน่งไว้  โดยมาตรา 270 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับเหตุแห่งการกระทำที่จะถูกถอดถอนจากตำแหน่ง 

ได้แก่ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ
ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
ส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม
ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืน
หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งกรณีต่างๆ
ดังกล่าวเป็นเรื่องที่เป็นสาระบัญญัติส่วนมาตรา 271 – 274
เป็นเรื่องของขั้นตอนวิธีการในการถอดถอนจากตำแหน่งอันเป็นเรื่องวิธีสบัญญัติ

นายชูศักดิ์กล่าวว่า  การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ข้างต้นออกจากตำแหน่ง
จำเป็นต้องมีองค์ประกอบทางกฎหมาย (รัฐธรรมนูญ)
ทั้งในส่วนของสาระบัญญัติและวิธีสบัญญัติที่บัญญัติไว้ให้ทำได้ 

แต่เมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 ได้ถูกยกเลิกแล้วโดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
(คสช.) ฉบับที่ 22/2557 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว)
พ.ศ.2557 ไม่ได้บัญญัติเรื่องการถอดถอนออกจากตำแหน่ง ดังเช่นมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ
2550 

จึงต้องถือว่าในปัจจุบันไม่มีรัฐธรรมนูญบัญญัติ
เรื่องการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงไว้
แม้ต่อมาจะมีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 24/2557 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม  2557 ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542
มีผลใช้บังคับต่อไปก็ตาม แต่เนื่องจากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้น ออกโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ
เมื่อเรื่องการถอดถอนไม่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
จึงไม่อาจนำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมาใช้บังคับให้เกินเลย
หรือขัดกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้

        

นายชูศักดิ์ กล่าวว่า แม้ขณะที่อ้างว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงดังกล่าว
กระทำการอันเป็นเหตุแห่งการถอดถอนนั้น
มีกฎหมายบัญญัติให้ถอดถอนได้ก็ตาม 

แต่เมื่อขณะนี้ไม่มีบทบัญญัติเรื่องถอดถอนไว้แล้ว  สนช. ซึ่งแม้ทำหน้าที่วุฒิสภาก็ไม่อาจจะถอดถอนได้ตามหลัก “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ
ถ้าไม่มีกฎหมายบัญญัติ” 

นอกจากนี้
จะอ้างว่าเรื่องการถอดถอนเหลือเพียงขั้นตอนวิธีสบัญญัติเท่านั้นก็ไม่ได้เช่นกัน
เพราะเมื่อไม่มีบทบัญญัติในส่วนที่กำหนดความผิด หรือเหตุแห่งการถอดถอนตามรัฐธรรมนูญ 2550
ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน  สนช.จะพิจารณาเหตุแห่งการถอดถอนว่าสมควรจะถอดถอนหรือไม่ จากเหตุใด

กรณีที่สอง
:

การถอดถอน หรือการให้บุคคลพ้นจากตำแหน่ง
ตามที่มีกฎหมายเฉพาะบัญญัติไว้ ว่า 

การถอดถอน
หรือให้บุคคลพ้นจากตำแหน่งตามที่มีกฎหมายเฉพาะบัญญัติไว้ เนื่องจากมีกฎหมายเฉพาะหลายฉบับ
บัญญัติให้มีการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง หรือให้บุคคลพ้นจากตำแหน่งได้ เช่น
กฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
พระราชบัญญัติว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 

กฎหมายเหล่านี้ได้บัญญัติเรื่องการถอดถอนและการให้พ้นจากตำแหน่งไว้ แต่มิใช่โดยอาศัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเป็นฐาน  ดังนั้นเมื่อกฎหมายต่างๆ เหล่านั้นบัญญัติให้ถอดถอน หรือให้บุคคลพ้นจากตำแหน่งได้  สนช. ซึ่งทำหน้าที่วุฒิสภาก็มีอำนาจถอดถอน หรือให้พ้นจากตำแหน่งได้

     
         

นายชูศักดิ์กล่าวว่า สำหรับหน้าที่ของ สนช.
นั้นย่อมมีเพียงตามที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) บัญญัติไว้เท่านั้น แม้ตามมาตรา 6 วรรคสองจะให้ สนช.ทำหน้าที่วุฒิสภาก็ต้องเป็นเรื่องที่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้
และกฎหมายนั้นก็ต้องไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย เมื่อการถอดถอนไม่มีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จะอาศัยรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 270 ที่ยกเลิกแล้ว
มาอ้างเพื่อใช้อำนาจถอดถอนมิได้ 

และการที่ สนช.ได้มีความพยายามที่จะออกข้อบังคับในเรื่องดังกล่าว ไม่ว่าเพื่อเตรียมการสำหรับการถอดถอนบรรดาอดีต ส.ส.,
ส.ว., ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.
ได้มีมติชี้มูลและเตรียมส่งเรื่องให้วุฒิสภาดำเนินการก่อนมีการรัฐประหาร
หรือเจตนาจะให้ใช้บังคับกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในรัฐบาลปัจจุบันด้วยก็ตาม

นายชูศักดิ์กล่าวว่า ขอให้ สนช.ได้พิจารณาข้อกฎหมายให้รอบคอบเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของตน
เพราะบทบัญญัติต่างๆ ของรัฐธรรมนูญ 2550  ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.
อ้างตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นเหตุถอดถอนนั้น ได้ยกเลิกไปแล้ว  ถ้าจะนำข้อบังคับดังกล่าวมาใช้เพื่อถอดถอนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือสมาชิก
สนช.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่  จะทำได้หรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557
ไม่ได้บัญญัติให้อำนาจไว้ 

ยิ่งถ้า สนช. เลือกใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเดิมที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว
แต่ไม่อาจนำข้อบังคับนี้มาใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งเกิดจากรัฐธรรมนูญ
(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เช่นเดียวกับ สนช.ได้ ก็เท่ากับท่านออกข้อบังคับย้อนหลังไปเอาผิดเอาโทษกับบุคคลในอดีต  

สนช.ควรต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนอย่างแท้จริง
ไม่ใช่เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการกำจัดนักการเมือง
หากคิดจะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จน่าจะสวนทางกับหลักการสร้างความสามัคคีและความสงบสุขของคนในชาติที่
คสช.กำหนดไว้แต่แรก