แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย 21 เมษายน 2557

           1.ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยขณะนี้ และมีแนวโน้มว่าจะนำไปสู่ความรุนแรงถึงขั้นกลียุคได้นั้น พรรคเพื่อไทยเห็นพ้องด้วยกับหลายฝ่ายว่า มีสาเหตุหลักมาจากความพยายามของกลุ่มบุคคลและพรรคการเมืองบางพรรคที่ไม่ต้องการระบอบประชาธิปไตย ไม่ยอมรับและเคารพในอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยและการตัดสินใจของประชาชนผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ไม่เคารพกติกาของบ้านเมือง พวกเขาจึงร่วมมือกันปฏิเสธการเลือกตั้ง และจงใจขัดขวางกระบวนการเลือกตั้งทุกขั้นตอน โดยได้รับการสนองตอบและร่วมมือจากหลายองค์กรตามรัฐธรรมนูญในลักษณะสมคบคิดกัน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองการบริหาร เพื่อที่พวกตนจะได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นรัฏฐาธิปัตย์ผ่านวิธีการใดวิธีการหนึ่งใน3วิธีการนี้คือ 1) การยึดอำนาจรัฐโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกลุ่ม กปปส. 2)การใช้กระบวนการทางวุฒิสภาที่ขัดรัฐธรรมนูญเพื่อเสนอให้มีนายกรัฐมนตรีที่มิได้มาจากการเลือกตั้ง3) การขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา7

           2.พรรคเพื่อไทย ขอเรียนพี่น้องประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนทุกระดับว่า การสมคบคิดและการดำเนินการเพื่อไปสู่ความมุ่งหมายดังกล่าว เป็นความคิดและการกระทำที่จะเป็นต้นเหตุสำคัญที่สุดของความพินาศของชาติ เพราะเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักสากลและประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันดีงามของประเทศไทยอย่างชัดแจ้ง เป็นการยั่วยุให้เกิดความแตกแยกและเกลียดชังในหมู่ประชาชน เป็นความต้องการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

           3.พรรคเพื่อไทยขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักว่า ทางออกจากความขัดแย้งและความพยายามให้เกิดสุญญากาศนั้น มีเพียงวิธีการเดียวคือการฟังเสียงประชาชน ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยก็คือการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติดังที่ศาลรัฐธรรมนูญในคำวินิจฉัยที่9/2549วันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ระบุว่า “การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปที่เกิดขึ้นภายหลังจากการยุบสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ มีสาเหตุตามที่ปรากฏในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2549 สรุปได้ว่ามีการเกิดการชุมนุมสาธารณะตั้งข้อเรียกร้องทางการเมือง โดยการชุมนุมเรียกร้องดังกล่าวได้ขยายตัวไปในทางที่กว้างขวางและอาจรุนแรงขึ้น เมื่อปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นความคิดเห็นในสังคมที่หลากหลายและยังคงแตกต่างกันจนกลายเป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงเช่นนี้ การดำเนินการเพื่อตรวจสอบความประสงค์อันแท้จริงของประชาชน โดยประการอื่นเพื่อให้ทุกฝ่ายหยั่งทราบแล้วยอมรับให้เป็นไปตามกลไกในระบอบประชาธิปไตยก็ทำได้ยากทางออกในระบอบประชาธิปไตยที่เคยปฏิบัติมาในนานาประเทศและแม้แต่ในประเทศไทย คือ การคืนอำนาจตัดสินใจทางการเมืองกลับไปสู่ประชาชนด้วยการยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปขึ้นใหม่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญต่อไป

           4.พรรคเพื่อไทยขอยืนยันความเห็นตามหนังสือของพรรคการเมืองทั้งหลายที่มีถึงศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 31 มีนาคม 2557 โดยสรุปคือ ขอให้ กกต. ดำเนินการจัดการการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่โดยเร่งด่วนภายใน 45 – 60วัน นับตั้งแต่วันที่ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2557 ที่วินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มีผลใช้บังคับ คือวันที่ 27มีนาคม 2557 แต่บัดนี้เวลาได้ล่วงเลยมาเกือบ 1เดือน หลังคำวินิจฉัยมีผลบังคับใช้แล้ว กกต. ก็ยังไม่มีท่าทีกระตือรือร้นเพื่อทำหน้าที่ของตน และใช้การฟังเสียงประชาชนด้วยการเลือกตั้งเป็นทางออกของประเทศเลย มิหนำซ้ำ กกต. บางคนกลับไปเสนอกำหนดการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคมเสียอีก พรรคเพื่อไทยจึงหวังว่า การหารือระหว่าง กกต. กับพรรคการเมืองในวันที่ 22 เมษายนนี้ จะนำไปสู่การเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด มิเช่นนั้นจะเป็นการสมประโยชน์ของทฤษฎีสมคบคิด ที่มุ่งหมายให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองและการบริหารและจะมีผลกระทบต่อการจัดทำงบประมาณรายจ่ายของประเทศประจำปี 2558 ซึ่งโดยปกติสภาผู้แทนราษฎรจะเริ่มพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฯ ดังกล่าวในเดือนพฤษภาคม และจะต้องเป็นกฎหมายใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 ดังนั้นการขับเคลื่อนประเทศในทุกภาคส่วนจะติดขัดหมด ประเทศและประชาชนจะเดือดร้อนอย่างหนัก

           5.แม้ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2557 จะเป็นคำวินิจฉัยที่แปลกเพราะไม่ปกป้องคนสุจริตที่เข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง แต่ก่อให้เกิดผลที่ไปรับรองความมุ่งหมายของคนไม่สุจริตที่ไม่ร่วมมือและขัดขวางการเลือกตั้งเพื่อไปสู่สุญญากาศ อย่างไรก็ตามศาลก็มิได้วินิจฉัยเลยว่า การเลือกตั้งเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม แต่ให้เหตุผลว่าการเลือกตั้งไม่อาจเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรได้ เพราะการรับสมัครผู้สมัครฯ ใน 28 เขตเลือกตั้งไม่อาจทำได้ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งและแตกแยกของชนในชาติอย่างรุนแรงและมีการขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้งดังนั้นขอให้ฝ่ายที่ไม่ร่วมมือและขัดขวางการเลือกตั้งอย่าได้อ้างว่าถ้ามีการเลือกตั้งแล้วจะไม่สุจริตและเที่ยงธรรม เพราะเท่ากับเป็นการดูถูก กกต. ว่าจะไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรมได้

           6.พรรคเพื่อไทยขอเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคประชาธิปัตย์เห็นความสำคัญของการฟังเสียงประชาชน ด้วยการให้ความร่วมมือในทุกขั้นตอนของกระบวนการเลือกตั้ง และขอให้ทุกฝ่ายหยุดการใช้วาทกรรมและการกระทำที่เป็นการสร้างความเคลือบแคลงหรือขัดขวางการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย และการดำเนินไปอย่างต่อเนื่องของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

           7.พรรคเพื่อไทยขอให้พี่น้องประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนร่วมมือกันยืนหยัดพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (รัฐธรรมนูญ มาตรา 70)และใช้วิจารณญาณของท่านโดยสุจริตและไม่เห็นแก่ผู้ใดหรือสิ่งใด ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  ที่จะมีขึ้นในเร็ววันนี้ และขอให้ทุกท่านทราบด้วยว่า หากมีบุคคลใดหรือองค์กรใด การกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ท่านทุกคนมีสิทธิต่อต้านการกระทำดังกล่าวโดยสันติวิธี (รัฐธรรมนูญ มาตรา 69)


พรรคเพื่อไทย

21 เมษายน 2557