แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย 6 พฤษภาคม 2557

           1. ตามที่พรรคเพื่อไทยได้มีแถลงการณ์มาอย่างต่อเนื่องว่าทางออกของประเทศจากความรุนแรงและกลียุคที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น คือการเลือกตั้ง และทุกฝ่ายทุกองค์กรต้องตั้งอยู่บนความเที่ยงธรรม ปราศจากอคติความเห็นดังกล่าวเป็นความเห็นที่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2549 วันที่ 8 พฤษภาคม 2549 เป็นไปตามหลักสากลและหลักที่ประเทศไทยถือปฏิบัติมาโดยตลอด ทั้งยังสอดคล้องกับความเห็นของพรรคการเมืองแทบทุกพรรค ยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่ม กปปส.

           2. แนวคิดของพรรคประชาธิปัตย์และเครือข่ายที่ไม่ยอมรับระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ปรากฏชัดเจนตั้งแต่ ปี 2549 เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะประกาศไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง และขอนายกรัฐมนตรีพระราชทานตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 หลังจากการเข้าแทรกแซงขององค์กรตุลาการ เพื่อทำให้การเลือกตั้งเมื่อ 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ จนต้องออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่ และในที่สุดทหารก็ทำรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 ซึ่งภายหลังการรัฐประหาร แทนที่พรรคประชาธิปัตย์จะต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ประเทศกลับเข้าสู่ระบอบอย่างแข็งขัน กลับเรียกร้องให้ผู้ยึดอำนาจจัดการกับพรรคไทยรักไทยและสมาชิก จนพรรคไทยรักไทยถูกยุบ กรรมการบริหารพรรคทั้งหมดถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี  อย่างอยุติธรรมที่สุด

           3. การรัฐประหารนอกจากจะไม่ได้แก้ปัญหาความขัดแย้งใดๆ แล้ว ยิ่งซ้ำเติมให้เกิดความแตกแยก ยิ่งสร้างความยุติธรรมสองมาตรฐาน ยิ่งมีการอ้างอิงสถาบันชั้นสูงเพื่อทำลายฝ่ายที่เรียกร้องประชาธิปไตยและความยุติธรรม แม้พรรคพลังประชาชนซึ่งสืบต่อมาจากพรรคไทยรักไทยจะชนะการเลือกตั้งอย่างสง่างามภายใต้บรรยากาศที่ปิดกั้นและถูกรังแก แต่นายกรัฐมนตรีนายสมัคร สุนทรเวชก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งเพราะการออกรายการโทรทัศน์ “ชิมไปบ่นไป” เพื่อแนะนำการทำอาหาร ครั้นนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อมา ก็ถูกต่อต้านจากม็อบเสื้อเหลืองของนายสนธิ ลิ้มทองกุล แนวร่วมของพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น โดยการบุกยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสถานที่ราชการต่างๆ จนถึงขั้นยึดสนามบินปิดประเทศ และศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชนเพื่อให้เกิดสุญญากาศ นายสมชายฯ และกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี และเพราะเหตุนี้ผนวกกับการจัดการของฝ่ายที่มีอำนาจ พรรคประชาธิปัตย์และนายอภิสิทธิ์จึงได้เป็นรัฐบาลเมื่อ 17 ธันวาคม 2551 และนำมาซึ่งการต่อต้านจากฝ่ายประชาธิปไตยและรักความเป็นธรรม จนมีการสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชนจำนวนมาก

           4. เมื่อนายอภิสิทธิ์ฯ ยุบสภาและให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทยซึ่งสืบทอดมาจากพรรคไทยรักไทยและพลังประชาชนก็ชนะการเลือกตั้งได้เสียงข้างมากเด็ดขาดในสภาผู้แทนราษฎร ท่ามกลางบรรยากาศที่ไม่เป็นธรรม ไม่เอื้อต่อการหาเสียง สมาชิกพรรคจำนวนมากถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เผาบ้านเผาเมือง ก็ยืนหยัดต่อสู้ในระบอบประชาธิปไตยเสมอมา นำเสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรมต่อพี่น้องประชาชน และปฏิบัติตามนโยบายนั้นอย่างเต็มกำลังความสามารถ ท่ามกลางอุปสรรคต่างๆ นานา ทั้งจากพรรคประชาธิปัตย์ สมาชิกวุฒิสภาสายสรรหาและองค์กรตามรัฐธรรมนูญหลายองค์กร พรรคเพื่อไทยไม่เคยบอยคอตการเลือกตั้ง ไม่เคยเรียกร้องให้มีนายกฯ มาตรา 7 หรือนายกฯ คนกลาง คงมุ่งมั่นแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรมขึ้น ร้องขอความยุติธรรมจากองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็ถูกกลั่นแกล้งรังแกหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยการสมคบคิดและร่วมมือกันขององค์กรต่างๆ ที่มีรากฐานมาจากรัฐธรรมนูญเผด็จการ 2550

           5. พรรคเพื่อไทยยินดีและมีความหวังเมื่อนายอภิสิทธิ์ฯ แถลงเมื่อ 21 เมษายน 2557 ว่า การเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบประเทศ ทั้งประสงค์ที่จะเห็นการเลือกตั้งเกิดขึ้นโดยเร็ว และพร้อมจะไปร่วมประชุมกับ กกต. และพรรคการเมืองทั้งหลายในวันรุ่งขึ้น คือ 22 เมษายน 2557 แต่นายอภิสิทธิ์ฯ ก็ไม่ได้ไปด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย ซึ่งกลุ่มที่พยายามไปขัดขวางการประชุมก็คือกลุ่ม กปปส. ที่เป็นแนวร่วมของพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะที่พรรคการเมือง 50 กว่าพรรค รวมพรรคเพื่อไทยและ กกต. ประชุมกันได้และเสนอให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 20 กรกฎาคม 2557 ซึ่งพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลยอมรับ ในวันที่ 28 เมษายน 2557 พรรคเพื่อไทยจึงได้ออกแถลงการณ์ขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายได้เข้าร่วมในกระบวนการเลือกตั้งอย่างสันติ ให้เกียรติทุกฝ่าย ไม่ขัดขวางการรับสมัคร การหาเสียง การลงคะแนน การนับคะแนน ฯลฯ และเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองส่งผู้สมัครฯ และนำเสนอแนวทางการปฏิรูปประเทศไทยที่เป็นรูปธรรมเพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจของประชาชน ทั้งในแง่เนื้อหาและกระบวนการ โดยพรรคเพื่อไทยจะเร่งหารือกับทุกพรรคการเมืองและทุกองค์กร ทุกกลุ่มเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปประเทศไทย

           6. วันที่ 1 พฤษภาคม 2557 นายอภิสิทธิ์ แถลงหลังจากไปพบปะกับหลายฝ่าย ยกเว้น กปปส. พรรคเพื่อไทย และรัฐบาล ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นต้องการพบทุกฝ่ายให้หมดก่อนแล้วจะนำเสนอทางออกโดยระบุว่าข้อเสนอที่จะเสนอในอีก 2 วันนั้น ก็เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียชีวิตของประชาชน การสูญเสียประชาธิปไตยหรือการเดินออกนอกรัฐธรรมนูญและการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์หรือศาลเข้ามาอยู่ในวังวนของความขัดแย้ง พร้อมย้ำว่า ข้อเสนอ จะตั้งอยู่บนหลักการที่ว่าการปฏิรูปต้องเป็นไปตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และในวันที่ 3 พฤษภาคม 2557 ก็ได้นำเสนอแผนเดินหน้าประเทศไทย “ปฏิรูปภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ” สรุปว่า ขอให้รัฐบาลเลื่อนการตราพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งออกไป ขอให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ฯ ลาออกจำตำแหน่งเพื่อเปิดทางไปสู่รัฐบาลคนกลาง โดยประธานวุฒิสภาจะเป็นผู้สรรหานายกฯ และคณะรัฐมนตรี รัฐบาลจะมาปฏิรูปก่อนเลือกตั้งโดยใช้เวลา 150-180 วัน ส่วนการเลือกตั้งให้เลื่อนไปสัก 5-6 เดือน และต้องการรอคำตอบของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ฯ เพียงคนเดียว

           7. พรรคเพื่อไทยเห็นว่าข้อเสนอของอภิสิทธิ์ฯ สับสนและไม่ได้เป็นไปอย่างจริงใจ ขัดหลักประชาธิปไตย และไม่อยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังที่นายอภิสิทธิ์ฯ กล่าวอ้างไว้เลย ด้วยเหตุผลดังนี้

                      7.1 การเลือกตั้งเป็นทางออกของประเทศเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ประสบความสำเร็จเพราะศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้เกิดผลตามที่ กปปส. ซึ่งเป็นแนวร่วมของพรรคประชาธิปัตย์ต้องการ และพรรคประชาธิปัตย์ก็ร่วมมือด้วยการไม่ส่งผู้สมัคร และสมาชิกพรรคฯหลายร่วมมือกับ กปปส. เพื่อไม่ให้มีการเลือกตั้ง ดังนั้นปัญหาที่ทางออกนี้เดินไม่ได้ จึงอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์และ กปปส. ไม่ใช่ปัญหาของรัฐบาลหรือพรรคการเมืองอื่นใด หรือประชาชนโดยทั่วไป

                      7.2 ความพยายามให้มีนายกฯ ตามมาตรา 7 หรือนายกฯ คนกลาง ก็มาจากพรรคประชาธิปัตย์ กปปส. และแนวร่วม โดยได้รับความร่วมมือจากองค์กรตามรัฐธรรมนูญ การเสนอของนายอภิสิทธิ์ฯ ให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ฯ ลาออกจากตำแหน่งก็ไม่แตกต่างจากที่เคยเสนอในปี 2549 เป็นการสืบทอดแนวคิดทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าขัดรัฐธรรมนูญ เพราะปัจจุบันนี้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ฯ พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ไปแล้ว แต่รัฐธรรมนูญบังคับให้ต้องทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งต้องผ่านการเลือกตั้งเสียก่อน

                      7.3 การเสนอให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้สรรหานายกฯ และคณะรัฐมนตรี เป็นข้อเสนอนอกรัฐธรรมนูญโดยแท้เพราะตามรัฐธรรมนูญ เฉพาะสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นที่มีสิทธิเสนอและเลือกนายกฯ เพราะนายกฯต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเฉพาะประธานสภาผู้แทนฯ เท่านั้นที่เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการวุฒิสภาไม่มีอำนาจหน้าที่ใดๆ เกี่ยวกับการเสนอและเห็นชอบบุคคลเป็นนายกฯ หากกระทำไปก็จะเข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ(มาตรา 68) นอกจากนี้ วุฒิสภาที่ดำรงอยู่ในขณะนี้เป็นวุฒิสภาในระหว่างการยุบสภาผู้แทนฯ จึงมีอำนาจจำกัดมาก ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 132 บัญญัติไว้เท่านั้น

                      7.4 การที่รัฐบาลคนกลางจะไปดำเนินกระบวนการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง โดยการทำแผนและทำประชามติ ร่วมกับ กกต. ก็ไม่อาจทำได้ตามรัฐธรรมนูญเพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 165 กำหนดให้มีการปรึกษากับประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วย ดังนั้นต้องเลือกตั้งจนได้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเสียก่อน จึงจะทำประชามติได้ การให้รอการเลือกตั้งไป 150-180 วัน หรือ 5-6 เดือน จึงเป็นไปไม่ได้

                      7.5 การที่ต้องการรอคำตอบจากนายกฯยิ่งลักษณ์ฯ เพียงคนเดียว เท่ากับเป็นการสร้างเงื่อนไข เพื่อเอื้อข้อเสนอของตนและกปปส. ที่ขัดรัฐธรรมนูญและไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะนายกฯยิ่งลักษณ์ฯ ไม่ได้มีอำนาจตราพระราชกฤษฎีกาแต่เพียงผู้เดียว คงต้องหารือกับ กกต. และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ที่ทำหน้าที่ขณะนี้ แต่เหนือสิ่งอื่นใดเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ การเสนอเช่นนี้จึงไม่บังควรอย่างยิ่ง ทำนองเดียวกับที่เคยเสนอเรื่องมาตรา 7 ในปี 2549 จนมีพระราชดำรัสไม่ทรงเห็นชอบด้วยมาแล้ว

           8. เป็นเรื่องแปลกที่พรรคประชาธิปัตย์มาให้ความสำคัญกับการปฏิรูปประเทศในช่วงนี้แต่ตอนที่เป็นรัฐบาลระหว่างปี 2551-2554 และเป็นฝ่ายค้านระหว่างปี 2554-2556 ไม่เคยเสนออะไรทำนองนี้เลย มีแต่การแก้รัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้งเพื่อทำให้พรรคเพื่อไทยเสียเปรียบ ไม่ได้ให้ความสำคัญในข้อเสนอต่างๆ เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย เป็นธรรม หรือกระบวนการเลือกตั้งให้สุจริต เที่ยงธรรมยิ่งขึ้นแต่อย่างใด และในความเป็นจริง กกต. มีอำนาจเต็มที่ที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ที่แก้ไม่ได้และไม่พยายามแก้คือการขัดขวางการเลือกตั้งของ กปปส. และพรรคประชาธิปัตย์

           9.พรรคเพื่อไทยได้วิเคราะห์ให้พี่น้องประชาชนได้เห็นและเข้าใจมาอย่างต่อเนื่องว่ามีกระบวนการสมคบคิดกันระหว่างพรรคการเมืองบางพรรค กปปส. และองค์กรตามรัฐธรรมนูญบางองค์กรเพื่อทำรัฐประหารรูปแบบใหม่ด้วยการทำลายระบอบประชาธิปไตย ไม่เอาการเลือกตั้ง ใช้อคติ ไม่มีความยุติธรรม เลือกปฏิบัติเพื่อให้เกิดความขัดแย้ง เพื่อสร้างสุญญากาศไปสู่การมีนายกฯที่มิได้มาจากการเลือกตั้ง จึงต้องจับตาดูว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคดีนายถวิล เปลี่ยนศรี อย่างรวดเร็วหรือไม่ จะมีคำสั่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประเทศไม่มีรัฐบาล เพื่อปูทางให้วุฒิสภาไปละเมิดรัฐธรรมนูญตั้งนายกฯ คนกลางต่อไปหรือไม่ กองทัพจะออกมาสนับสนุนกระบวนการที่ขัดรัฐธรรมนูญเช่นนี้หรือไม่ กกต.จะทำตามนายอภิสิทธิ์และกปปส. ด้วยการเลื่อนการเลือกตั้งที่ตนเสนอเองออกไป จนไม่มีการเลือกตั้งหรือไม่

           10. พรรคเพื่อไทยขอย้ำว่าจะต้องเดินหน้าเลือกตั้งต่อไปในวันที่ 20 กรกฎาคม โดยทุกพรรคนำเสนอแนวทางปฏิรูปประเทศไทยของตนต่อประชาชน หลังเลือกตั้งทุกฝ่ายต้องร่วมกันผลักดันให้มีกฎหมายรับรององค์กรปฏิรูปฯ เมื่อแผนและแนวทางปฏิรูปแล้วเสร็จ ให้นำไปทำประชามติ รัฐบาลที่ตั้งขึ้นภายหลังการเลือกตั้งจะอยู่ไม่เกิน 12 เดือนเพื่อสนับสนุนกระบวนการปฏิรูปฯ จากนั้นจะมีการยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่หลังจากมีแผนและแนวทางปฏิรูปฯ แล้ว


พรรคเพื่อไทย

6 พฤษภาคม 2557