แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย 8 พฤษภาคม 2557

           ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รวมถึงรัฐมนตรีที่เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ก.ย.2554 ที่มีมติเห็นชอบใน  การโอนย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ต้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวนั้น

           พรรคเพื่อไทยเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญขัดต่อรัฐธรรมนูญและหลักการทางกฎหมายหลายประการ ดังนี้

           1.การกล่าวหาว่ารัฐมนตรีคนใดกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ประกอบ มาตรา 266 ที่จะเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่ง(7) นั้น ต้องมีการยื่นคำร้องกล่าวหารัฐมนตรีคนนั้นเป็นคนๆ ไป หรือถ้าเห็นว่าร่วมกันทำผิดก็ต้องกล่าวหาร่วมกันมาในคำร้องด้วย เมื่อในคดีนี้ในคำร้องไม่มีการกล่าวหารัฐมนตรีคนอื่นๆว่าร่วมกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญด้วยแล้ว จึงถือว่ารัฐมนตรีเหล่านั้นเป็นบุคคลนอกคดี และไม่มีโอกาสต่อสู้คดีในศาล ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้รัฐมนตรีเหล่านั้นสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีไม่ได้ ซึ่งต่างกับกรณีวินิจฉัยให้ยุบพรรคที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดได้

           2.การวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีคนอื่นนอกเหนือจากนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง โดย ที่ไม่มีข้อกล่าวหาและไม่เปิดโอกาสให้รัฐมนตรีดังกล่าวได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของศาลนั้น เป็นการวินิจฉัยโดยไม่มีอำนาจ และนอกเหนืออำนาจ ขัดต่อสิทธิในกระบวนการยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญของรัฐมนตรีเหล่านั้นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 40 เพราะการสิ้นสุด  ความเป็นรัฐมนตรีเป็นเรื่องการกระทำเฉพาะบุคคล แม้รัฐมนตรีเหล่านั้นจะเข้าร่วมประชุมและมีมติ ก็ควรได้มีโอกาสในการชี้แจงข้อเท็จจริงและต่อสู้คดีด้วย การกระทำของศาลรัฐธรรมนูญจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญ และหลักยุติธรรมสากล

           นอกจากนี้คำวินิจฉัยยังมีปัญหาตามมาว่ากรณีรัฐมนตรีที่ได้ร่วมลงมติบางคนได้ถูกปรับเปลี่ยนโยกย้ายตำแหน่งแล้วในภายหลัง ความเป็นรัฐมนตรีของบุคคลเหล่านั้นในตำแหน่ง ที่เกิดขึ้นภายหลังย่อมจะไม่พ้นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ  เพราะตำแหน่งเดิมได้หมดสิ้นไปแล้ว  มีการโปรดเกล้าฯ ใหม่ ถวายสัตย์ใหม่ จึงเป็นเรื่องของคณะรัฐมนตรีต่างคณะ การทำหน้าที่ก็ต่างกรรมต่างวาระ

           3.การที่ศาลรัฐธรรมนูญอาศัยผลของคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดที่วินิจฉัยว่าการโอนย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรีเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ จึงเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมาวินิจฉัยในคดีนี้ว่ากรณีดังกล่าว เป็นการใช้สถานะการเป็นนายกรัฐมนตรีเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งข้าราชการนั้น เป็นการใช้และตีความกฎหมายที่คลาดเคลื่อน เพราะการจะถือว่าเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงนั้นต้องเป็นเรื่องไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะดำเนินการได้ แล้วเข้าไปกระทำการนั้น

           แต่ข้อเท็จจริงในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลไว้ชัดเจนว่า นายกรัฐมนตรีมีอำนาจตามกฎหมายในการโอนย้ายแต่งตั้งข้าราชการได้ การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเช่นนี้จะ  ทำให้เกิดปัญหาต่อการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะต่อไปเมื่อมีการโอนย้ายข้าราชการ หากผู้ถูกย้ายไม่พอใจก็จะอาศัยช่องทางยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเช่นกรณีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญก็จะกลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมืองในที่สุด ทั้งที่เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ

           4. การที่ศาลรัฐธรรมนูญอาศัยเหตุผลเรื่องกระบวนการโอนย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรีว่า เป็นการดำเนินการที่เร่งรีบ เพื่อเป็นเหตุผลหนึ่งในการวินิจฉัยว่าเป็นการใช้สถานะการเป็นนายกรัฐมนตรีเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งข้าราชการนั้น เสมือนเป็นการเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาไว้อย่างชัดเจนว่า กระบวนการโอนนายถวิล เปลี่ยนศรีได้ดำเนินการโดยถูกต้องตามขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว ด้วยเหตุนี้จึงมีการอ้างตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่วินิจฉัยคดีเป็นพยาน แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับไม่อนุญาต โดยอ้างว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอแล้ว

           5.การที่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีมีอำนาจตามกฎหมายในการโอนย้ายแต่งตั้งข้าราชการ ถือเป็นข้อยกเว้นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ที่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีสามารถกระทำการได้โดยไม่ถือเป็นการกระทำอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 266 การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายกรัฐมนตรีกระทำการอันต้องห้ามเช่นนี้ เท่ากับข้อยกเว้นดังกล่าวไร้สภาพบังคับต่อไป และถือว่าศาลรัฐธรรมนูญกระทำการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรมเสียเอง

           6.กรณีที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีใช้อำนาจตามกฎหมายในการโอนย้ายข้าราชการนั้น ได้ทำกันมาตลอดเพราะถือเป็นส่วนของการบริหารงานบุคคลภาครัฐ แม้หลายเรื่องมีการไปฟ้องต่อศาลปกครองและศาลปกครองมีคำพิพากษาว่าการโอนย้ายดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายก็เป็นเรื่องกระบวนการทางปกครอง ไม่เคยมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพราะรู้กันอยู่ว่าเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่ไม่ใช่การก้าวก่ายแทรกแซง เช่นกรณีที่รัฐบาลสมัยนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีได้มีการโอนย้ายนายพีรพล ไตรทศาวิทย์ และ  นายวงศ์ศักดิ์  สวัสดิ์พานิชย์ คดีนี้จึงเป็นครั้งแรกที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและเป็นการดำเนินคดีและดำเนินกระบวนการพิจารณาซ้ำกับศาลปกครอง จึงเป็นที่น่าสงสัยว่ามีเหตุผลทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่

           7.มีข้อน่าสงสัยว่าเหตุใดนายสุเทพ  เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส.และนายไพบูลย์ นิติตะวัน ผู้ยื่น  คำร้องจึงได้กล่าวในหลายเวทีถึงความมั่นอกมั่นใจในผลของคำวินิจฉัยที่จะเกิดขึ้น รวมถึง  นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ออกมาเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจรับข้อเสนอของตนก่อนที่  ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย คนพวกนี้แสดงออกเสมือนรู้ผลการวินิจฉัยล่วงหน้าว่าจะเป็นอย่างไร

           8.พรรคเห็นว่ากระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อการเมืองและบ้านเมืองอยู่ในขณะนี้  เป็นกระบวนการเดียวกันเพื่อมุ่งหวังแย่งชิงอำนาจทางการเมืองโดยวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย นอกรัฐธรรมนูญ โดยมีการวางแผนอย่างเป็นขั้นตอน ขั้นตอนแรกใช้กลไกในสภา เมื่อไม่ได้ผลขั้นตอนต่อมาจึงใช้มวลชนกดดันนอกสภาชุมนุมขับไล่ใส่ร้ายป้ายสีต่างๆ นานา แต่ก็ยังไม่บรรลุผลจึงอาศัยองค์กรในกระบวนการยุติธรรมและองค์กรอิสระบางองค์กรเป็นเครื่องมือ หากยังไม่ได้ผลก็จะมีการเคลื่อนไหวสร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรงเพื่อให้ทหารทำรัฐประหาร หรือร่วมกับทหารบางกลุ่มทำการรัฐประหาร โดยอาศัยประชาชนเป็นผู้ออกหน้ายึดหน่วยงานราชการต่างๆ ให้รัฐบาลไม่สามารถบริหารและสั่งราชการได้ โดยมีทหารบางกลุ่มหนุนหลังเพื่อสุดท้ายจะอ้างได้ว่าเป็นการปฏิวัติประชาชน หลังจากนั้นก็จะมีการเสนอตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีตามที่เตรียมการไว้ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะทำให้เกิดหายนะต่อบ้านเมืองอย่างใหญ่หลวง  เพราะจะมีประชาชนที่คัดค้านและไม่เห็นด้วยออกมาต่อต้านอย่างรุนแรง จนทำให้ประเทศไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

           พรรคเพื่อไทยจึงขอเรียกร้องให้บุคคลและกลุ่มบุคคลทั้งที่แสดงออกโดยเปิดเผยและที่แอบอยู่เบื้องหลังเพื่อหวังได้อำนาจการปกครองประเทศโดยวิถีทางนอกรัฐธรรมนูญ ได้สำนึกและเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ความเดือดร้อนของพี่น้องคนไทยทั้งประเทศ และความสูญเสียทางเศรษฐกิจและการลงทุนรวมถึงความเชื่อมั่นของประเทศในสายตาต่างชาติ ได้ยุติการกระทำและร่วมกันเดินหน้าจัดการเลือกตั้งให้สำเร็จตามที่กำหนดไว้  เพื่อจะได้รัฐบาลที่มาจากความยินยอมของคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่รัฐบาลของคนใด หรือกลุ่มใดเป็นการเฉพาะ

พรรคเพื่อไทย

8 พฤษภาคม 2557