ทนายนรวิชญ์ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ อสส. เพื่อพิจารณาทบทวนกรณีมีความเห็นสั่งฟ้องและให้มีการไต่สวนข้อไม่สมบูรณ์และข้อบกพร่อง ในรายงานการสอบสวน ป.ป.ช.

วันนี้ (12 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 13.00น.) นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายส่วนตัวนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ยื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุดขอความเป็นธรรม  เพื่อให้พิจารณาทบทวน กรณีมีความเห็นสั่งฟ้อง  และให้มีการไต่สวนข้อไม่สมบูรณ์ และข้อบกพร่องในรายงานสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในคดีโครงการรับจำนำข้าวให้สิ้นกระแสความ  ที่ สำนักงานอัยการสูงสุดศูนย์ราชการ  แจ้งวัฒนะ โดยมีเนื้อหาดังนี้

—————–

วันที่  12 กุมภาพันธ์  2558 

เรื่อง​ขอความเป็นธรรม  เพื่อให้พิจารณาทบทวน กรณีมีความเห็นสั่งฟ้อง  และให้มีการไต่สวนข้อไม่สมบูรณ์ และข้อบกพร่องในรายงานสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในคดีโครงการรับจำนำข้าวให้สิ้นกระแสความ

เรียน  ​อัยการสูงสุด สำนักงานอัยการสูงสุด  

อ้างถึง   1. หนังสือร้องขอความเป็นธรรม ในกรณีมีข้อไม่สมบูรณ์  และข้อบกพร่อง ในรายงานและสำนวน                                     การสอบสวนของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในโครงการรับจำนำข้าว และให้ไต่สวนพยานบุคคล (เพิ่มเติม )ในแต่ละประเด็นข้อไม่สมบูรณ์ ฉบับลงวันที่ 6 สิงหาคม 2557

2. หนังสือขอความเป็นธรรม เพิ่มเติม (ครั้งที่ 1) ในกรณีมีข้อไม่สมบูรณ์ และข้อบกพร่องในรายงานสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในโครงการรับจำนำข้าว ฉบับลงวันที่ 21 สิงหาคม 2557

3. หนังสือขอความเป็นธรรม อ้างพยานบุคคล และพยานเอกสารเพิ่มเติม ฉบับลงวันที่ 2 ตุลาคม 2557 

4. หนังสือร้องขอความเป็นธรรม ในกรณีมีข้อไม่สมบูรณ์ และข้อบกพร่องในรายงานสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในโครงการรับจำนำข้าวรวม 3 ประเด็น   ฉบับลง    วันที่ 7 มกราคม  2558

5.   หนังสือ ขอความเป็นธรรม ในกรณีมีข้อไม่สมบูรณ์ และข้อบกพร่องในรายงานสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในโครงการรับจำนำข้าว  ฉบับลงวันที่  23 มกราคม  2558

ข้าพเจ้าทนาย นรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความผู้รับมอบอำนาจ ของนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร ผู้ถูกกล่าวหา ในคดีโครงการรับจำนำข้าว

ด้วยเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2558 สำนักงานอัยการสูงสุด ได้แถลงข่าวว่า   อัยการสูงสุดได้พิจารณาพยานหลักฐานที่คณะทำงานส่งมา ดังกล่าวข้างต้น  ประกอบพยานหลักฐานที่มีทั้งหมดในสำนวนไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เห็นว่าคดีมีความสมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีอาญาฟ้องผุ้ถูกกล่าวหาต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ จึงให้ดำเนินคดีอาญาฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  ตามข้อกล่าวหานั้น  ความแจ้งแล้วนั้น

ข้าพเจ้าในฐานะทนายความผู้รับมอบอำนาจ จากนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร  เห็นว่า การพิจารณาและมีความเห็นสั่งฟ้อง นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร ของอัยการสูงสุด  นั้น ไม่เป็นตามลำดับขั้นตอนของกฎหมาย และขัดต่อข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานอย่างชัดแจ้ง  กล่าวคือ

ภายหลังที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ส่งสำนวนพร้อมมติชี้มูลความผิด นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  อดีตนายกรัฐมนตรี ว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เรื่องละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการ      รับจำนำข้าว ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 123/1 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติ  หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจโดยมิชอบ   และต่อมาอัยการสูงสุดในฐานะหัวหน้าคณะทำงาน พร้อมคณะทำงาน  มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า สำนวนคดี ยังมีข้อไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีตามข้อกล่าวหา   และเห็นว่าสำนวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีประเด็นที่ยังไม่สมบูรณ์  3 ข้อ ดังนี้

(1) ประเด็นเรื่องโครงการรับจำนำข้าว เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโครงการรับจำนำข้าว ดังกล่าวเป็นโครงการของรัฐบาลที่แถลงไว้เป็นนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 178 บัญญัติให้ในการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐมนตรีต้องดำเนินการ  ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบาย    ที่ได้แถงไว้ต่อรัฐสภาด้วย ดังนั้น จึงควรรวบรวมพยานหลักฐานให้ได้ความชัดว่า นายกรัฐมนตรี มีอำนาจในการที่จะยับยั้งโครงการที่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาแล้ว หรือไม่

(2) ประเด็นเรื่องการละเว้นการปฎิบัติหน้าที่  ควรทำการไต่สวนรวบรวมพยานหลักฐานให้  สิ้นกระแสความว่า ภายหลังจากที่โครงการรับจำนำได้ถูกท้วงติงจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แล้ว ผู้ถูกกล่าวหา ดำเนินการตรวจสอบและป้องกันการทุจริต หรือไม่ อย่างไร ผลการตรวจสอบเป็นอย่างไร

(3) ประเด็นเรื่องการทุจริต ควรไต่สวนพยานเพิ่มเติมให้ได้ความว่า โครงการรับจำนำข้าว        ที่ยืนยันว่ามีการทุจริตนั้น พบการทุจริตในขั้นตอนใด และมีการทุจริตอย่างไร นอกจากนั้นมีการกล่าวอ้างถึงรายงานวิจัยโครงการนโยบายข้าวของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ(TDRI ) ว่าโครงการดังกล่าวมีการทุจริต และมีความเสียหายจำนวนมาก   แต่ในสำนวนการไต่สวนปรากฎว่ามีเพียงหน้าปกรายงานวิจัยเท่านั้น  ดังนั้นจึงให้รวบรวมรายงานวิจัยทั้งฉบับเป็นพยานหลักฐานในสำนวนการไต่สวนให้สมบูรณ์ด้วย

ข้าพเจ้าในฐานะทนายความผู้รับมอบอำนาจได้ติดตาม  และรอฟังผลการการไต่สวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ในข้อไม่สมบูรณ์ทั้ง  3 ข้อเรื่อยมา เพราะข้าพเจ้าเห็นว่า  เมื่ออัยการสูงสุดได้ชี้ข้อไม่สมบูรณ์ของสำนวนแล้ว   และอัยการสูงสุดได้มีหนังสือแจ้งข้อไม่สมบูรณ์ไปยังคณะกรรมการป.ป.ช. และต่อมามีการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างอัยการและป.ป.ช. เพื่อพิจารณาหลักฐานข้อที่ไม่สมบูรณ์ และรวบรวมพยานหลักฐานไต่สวนพยานเพิ่มเติมให้สำนวนคดีมีความสมบูรณ์   จึงเป็นไปอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องดำเนินการไต่สวนพยาน  ในแต่ละประเด็น ให้สำนวนมีความสมบูรณ์   ซึ่งถือว่าเป็นสาระสำคัญ  ที่ทำให้เห็นว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี และในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ  ไม่ได้ปฏิบัติ  หรือไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หรือไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบแต่อย่างใด  ข้าพเจ้าในฐานะทนายความผู้รับมอบอำนาจ  จึงได้ร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด  เพื่อให้มีการไต่สวนในข้อไม่สมบูรณ์ และข้อบกพร่อง ทั้ง 3 ข้อเรื่อยมา   รายละเอียด ตามหนังสือที่อ้างถึง  1 ถึง 5

อย่างไรก็ดีในข้อไม่สมบูรณ์ ทั้ง 3 ข้อนั้น ตลอดเวลาที่ผ่านมาได้รับทราบว่าจากสื่อมวลชนมาโดยตลอดว่า คณะกรรมการร่วม อัยการสูงสุด และคณะกรรมการ ป.ป.ช.  ยังไม่ได้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในข้อไม่สมบูรณ์ ทั้ง 3 ข้อ แต่อย่างใด

แต่ปรากฏว่า  เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558 นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช.ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “  คณะทำงานร่วมป.ป.ช.กับอัยการสูงสุดมีมติแล้วว่า ให้ส่งฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ต่อ  อสส. โดยในการประชุมคณะทำงานร่วมฯ  นัดสุดท้ายเมื่อวันที่ 20 มกราคม   ที่ผ่านมา มีตัวแทนป.ป.ช.และอสส.อยู่ในที่ประชุม 13 คนถือว่าครบองค์ประชุม เป็นตัวแทนป.ป.ช. 10 คน และอัยการสูงสุด 3 คน ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงในคณะทำงานก่อนหน้านี้ว่า การประชุมไม่จำเป็นต้องมีตัวแทนคณะทำงานเข้าร่วมประชุมครบทุกคน ขอให้มีครบองค์ประชุมพอ และก่อนนัดประชุมคณะทำงานในวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา ฝ่ายเลขาฯป.ป.ช.ทำหนังสือแจ้งให้คณะทำงานฝ่ายอัยการสูงสุดทราบทุกคนแล้ว แต่เมื่อถึงเวลานัดหมายมีตัวแทนฝ่ายอัยการฯมาประชุมเพียง 3 คน ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า ขณะนี้ข้อไม่สมบูรณ์ในสำนวนคดีน.ส.ยิ่งลักษณ์ได้สอบพยานบุคคล   และหาพยานหลักฐานต่างๆจนครบถ้วนหมดแล้ว จึงมีมติให้ส่งฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ต่ออัยการสูงสุดต่อไป นั้น 

ต่อมาเมื่อวันที่  22 มกราคม 2558 จากการให้สัมภาษณ์ ของ นายสรรเสริญฯ  ดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้  นายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ รองอัยการสูงสุด(อสส.) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานพิจารณาสำนวนคดี  ได้ให้สัมภาษณ์ดังที่ทราบกันทั่วไปว่า “ด้านนายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ รองอัยการสูงสุด (อสส.) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานพิจารณาสำนวนคดี  ป.ป.ช.  แสดงอาการแปลกใจกรณีป.ป.ช.ระบุคณะทำงานป.ป.ช.ร่วมกับ  อสส.เห็นพ้องส่งฟ้องคดีอาญาน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า ตนในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฯไม่เห็นทราบเรื่องที่ป.ป.ช.ไปออกข่าว ไปประชุมกันตอนไหน ยังงงว่าทำไมไม่เชิญตน คณะทำงานฯยังไม่สรุปเรื่องเลย   อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานที่ไม่สมบูรณ์ สอบพยานเพิ่ม 2 ปากไม่ถึงไหนยังไม่รายงานเลย ตนจะเรียกคณะทำงานมาสอบถามว่าตกลงยังไง ยืนยันว่าการพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์คดีนี้ต้องพิจารณาคำให้การของพยานที่สอบเพิ่มเติม และหลักฐานต่างๆ ที่ฝ่าย ป.ป.ช.ขอจากหน่วยงานราชการมาให้ครบถ้วนเสียก่อน ”

​จากข้อเท็จจริงข้างต้น  จึงเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า การที่อัยการสูงสุดได้พิจารณา และมีความเห็นสั่งฟ้อง    นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในคดีโครงการรับจำนำข้าวนั้น ไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตอนของกฎหมาย  และเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ขัดต่อพยานหลักฐาน  และข้อเท็จจริง โดยชัดแจ้ง  คือ ​

1. ยังไม่มีการไต่สวนพยานบุคคล  และพยานเอกสารหลักฐาน ในข้อไม่สมบูรณ์ และข้อบกพร่องของสำนวน ตามที่คณะทำงานร่วมอัยการสูงสุดและ ป.ป.ช.  ที่ได้ชี้ข้อไม่สมบูรณ์ และข้อบกพร่องไว้  ให้สิ้นกระแสความ    

2. การพิจารณาและมีคำสั่งของอัยการสูงสุด  โดยไม่มีรายงานความเห็นในทางคดี จาก นายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ รองอัยการสูงสุด(อสส.) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานพิจารณาสำนวนคดี  มาประกอบการพิจารณา และมีความเห็นในการพิจารณา และมีความเห็นสั่งฟ้อง  

ด้วยข้อเท็จจริงดังที่ได้กราบเรียนมา ข้าพเจ้าในฐานะทนายความเชื่อโดยสุจริตว่า ในกรณีที่              ผู้ถูกกล่าวหาขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด ก่อนที่จะมีคำสั่งใดๆ ตลอดมาอัยการสูงสุดก็ได้ดำเนินการต่อผู้กล่าวหา โดยยึด “หลักนิติธรรม”  ไม่เลือกปฏิบัติ มีความเสมอภาคทั้งฝ่ายผู้กล่าวหาและฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา โดยมีการไต่สวนจนสิ้นกระแสความทั้งสิ้น โดยเฉพาะคดีนี้ผู้ถูกกล่าวหาเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมถูกกล่าวหาในเรื่อง การบริหารราชการแผ่นดินเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะที่สำคัญต่อการช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศการสั่งคดีนอกจากจะมีผลกระทบต่อการอำนวยความยุติธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหาแล้ว ยังกระทบต่อเศรษฐกิจฐานราก และเกษตรกรโดยทั่วไป เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะทำให้การสั่งคดีของอัยการสูงสุดเป็นไปโดยถูกต้องและเที่ยงธรรม เมื่อข้อไม่สมบูรณ์ที่อัยการสูงสุดได้ชี้ข้อไม่สมบูรณ์ของคดีนี้จนมีการตั้งคณะทำงานของตน  เพื่อปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการยังไม่เสร็จสิ้นดังที่กล่าวมา และเมื่อคำนึงถึงผู้ถูกกล่าวหาเป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรีที่ควรคำนึงถึงสถานะและผลกระทบที่สมควรยังประโยชน์แห่งความยุติธรรมให้ครบถ้วนเสร็จสิ้นทุกขั้นตอนและกระบวนการที่พึงปฏิบัติก่อนมีดุลพินิจสั่งคดีอันปราศจากการเร่งรีบ รวบรัด ในการสั่งคดี เพื่อประโยชน์ของฝ่ายผู้กล่าวหาในคดีนี้ แต่เพียงประการเดียวโดยไม่คำนึงถึงการอำนวยความยุติธรรมให้กับผู้ถูกกล่าวหาด้วย ข้าพเจ้าเชื่อมั่นในองค์กรอัยการสูงสุดที่ได้อำนวยความยุติธรรมมาเป็นเวลาช้านาน จึงจำเป็นที่จะต้องร้องขอให้ทบทวนการสั่งคดีด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมา

ดังนั้น ​ข้าพเจ้าในฐานะทนายความของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  ผู้ถูกกล่าวหา   จึงขอความเป็นธรรมมายังอัยการสูงสุด  พิจารณา และทบทวน คำสั่ง การพิจารณา และมีความเห็นสั่งฟ้อง  นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร  อีกครั้งหนึ่ง  โดยขอให้อัยการสูงสุด    ให้ดำเนินการไต่ส่วนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในข้อไม่สมบูรณ์ทั้ง 3  ข้อ ทั้งในพยานเอกสาร พยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง ให้สิ้นกระแสความ ก่อนที่จะมีการพิจารณา และมีคำสั่งในสำนวนอย่างใดอย่างหนึ่ง

ขอแสดงความนับถือ

นายนรวิชญ์  หล้าแหล่ง

ทนายความผู้รับมอบอำนาจ

ที่มา :  https://www.facebook.com/NorrawitSocial/photos/a.1549753511949106.1073741827.1549395275318263/1561831477407976/?type=1&theater