เพื่อไทย โต้ แนวคิด ให้ ปชช.จัดรายชื่อปาตี้ลิสเอง ทำพรรคการเมืองอ่อนแอ


             เมื่อวันที่ 13 มีนาคม นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นผู้จัดรายชื่อปาตี้ลิส หรือที่เรียกว่าโอเพ่นลิส ว่า ตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 ได้กำหนดไว้ดังนี้ มาตรา 107 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองจัดทำขึ้นโดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อใดบัญชีรายชื่อหนึ่งเพียงบัญชีเดียว และอาจระบุด้วยว่าต้องการให้ผู้ใดที่มีชื่อในบัญชีนั้นหนึ่งคนได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใดได้คะแนนเป็นสัดส่วนที่ทำให้ได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ดำเนินการจัดสรรให้พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองนั้นเป็นจำนวนตามสัดส่วนนั้น และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรายชื่อตามบัญชีรายชื่อที่ได้มีการเรียงลำดับแล้วของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองนั้นกล่าวคือ ในการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองแต่ละพรรคนั้น ให้ผู้มีสิทธิเลือกบัญชีพรรคการเมืองได้บัญชีเดียว และอาจระบุหมายเลขผู้สมัครในบัญชีรายชื่อที่ประสงค์จะให้เป็น ส.ส.ได้หนึ่งคนด้วย
                 นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหา คือ 1.เป็นการไม่เคารพการจัดสรรบัญชีผู้สมัครของพรรคการเมือง เพราะการเลือกแบบบัญชีรายชื่อเป็นการเลือกพรรค ไม่ใช่เลือกตัวบุคคล ดังนั้นเมื่อพรรคจัดทำบัญชีรายชื่อแล้วก็ควรเลือกจากบัญชีรายชื่อไม่ใช่เลือกเป็นรายบุคคลในบัญชีนั้นอีก


                    2.เกิดความยุ่งยากในการจัดทำบัญชีเลือกตั้ง ประชาชนจะเลือกหรือไม่ก็ได้ ประชาชนจะเกิดความสับสน นอกจากนั้นผู้สมัครในบัญชีจะต้องหาเสียงเกิดความแตกแยก


                   3.เกิดความยุ่งยากในการคำนวณคะแนนเสียงเพราะนอกจากจะต้องจัดสรรที่นั่งให้พรรคการเมืองตามสัดส่วนในแต่ละภาคแล้วยังต้องมาจัดลำดับบุคคลที่จะได้รับเลือกตั้งอีก และเมื่อไม่บังคับให้เลือกบุคคล จะมีประโยชน์อะไรในการจัดลำดับ
                   4.เป็นการไม่สอดคล้องกับเหตุผลที่ต้องการให้ผู้สมัครเลือกพรรคการเมืองและไม่ส่งเสริมระบบพรรคการเมือง


                  5.เมื่อแต่ละบัญชีมีผู้สมัครถึง 30 กว่าคน แล้วเหตุใดจึงให้เลือกผู้สมัครได้คนเดียว ถ้าต้องการให้ประชาชนจัดลำดับก็ควรจัดทั้ง 30 คน แต่ก็เห็นได้ชัดว่าคงใช้เวลาอยู่ในคูหาไม่ต่ำกว่า 10 นาที ซึ่งเป็นการยุ่งยากมากขึ้นไปอีกและปฏิบัติยาก และ


                  6.ในที่สุดประชาชนก็จัดลำดับตามจังหวัดหรือพื้นที่ที่ตนรู้จักมากที่สุด เมื่อมีประชาชนไม่เท่ากัน ภาคไหน จังหวัดไหนมีประชาชนมากกว่าก็ได้ลำดับต้นๆ กลายเป็นภูมิภาคนิยม จังหวัดนิยม


                  ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าระบบบัญชีรายชื่อเป็นการให้ประชาชนเลือกตั้งจากบัญชีรายชื่อผู้สมัครของพรรค   ไม่ใช่ที่ตัวบุคคล   จึงควรมีบัญชีเดียวทั่วประเทศเหมือนที่เคยใช้ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ซึ่งเป็นการเหมาะสมและสะดวกต่อการจัดการเลือกตั้งและการใช้สิทธิลงคะแนนของประชาชน การแบ่งเป็นภาคและแยกบัญชี รวมถึงการให้เลือกคนจากบัญชีอีกนั้น จึงไม่มีเหตุผลรองรับจะเป็นการสร้างปัญหาและสร้างความสับสนแก่ประชาชนเสียมากกว่า
http://m.matichon.co.th/readnews.php?newsid=1426239357