ชูศักดิ์ชี้ไม่เคยมีนโยบายรัฐบาลถูกฟ้อง ยกคดี สปก.4-01-ปรส. เทียบ

นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงแนวทางการต่อสู้คดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์มีทีมกฎหมายดูแลอยู่ สิ่งหนึ่งที่ตนมีความรู้สึกว่าอาจจะไม่ค่อยเป็นธรรมกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ คือคดีจำนำข้าวนั้นทำตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา รัฐธรรมนูญก็กำหนดว่าก่อนที่รัฐบาลจะบริหารประเทศต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา การแถลงนโยบายต่อรัฐสภาคือแถลงให้ตัวแทนของประชาชนรู้ว่ารัฐบาลจะทำอะไรบ้าง มีข้อท้วงติงหรือไม่ มีข้อซักถามอะไร รัฐธรรมนูญเขียนอีกว่าถ้ารัฐบาลไม่ทำตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาถือว่าทำผิดรัฐธรรมนูญเป็นเหตุให้ถูกถอดถอนอีก

“ในอดีตที่ผ่านมาการทำตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภานั้น ถือเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารที่กระทำได้ ในอดีตที่ผ่านมาไม่เคยมีคดีประเภทที่เมื่อทำตามนโยบาย ทำตามมติ ครม.ที่ภาษาทางบริหารเรียกว่าเป็นการกระทำทางบริหารของรัฐบาล แล้วจะถูกฟ้องร้องเป็นคดีอาญา” นายชูศักดิ์กล่าว

“ผมลองไปค้นเหตุการณ์ในอดีต เช่น คดี ส.ป.ก.4-01 ในสมัยนั้นอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภามีอำนาจกระทำได้ นอกจากนั้น การฟ้องกันตามมาตรา 157 จะต้องมีเจตนาพิเศษ คือทำไปเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้หนึ่งผู้ใดหรือไม่ หรือต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อแสวงหาประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่นโดยไม่ชอบ คำถามคือว่าสิ่งที่นายกฯยิ่งลักษณ์นั่งหัวโต๊ะประชุมไปเป็นมติ ครม. ทำตามนโยบายที่แถลง ถามว่าต้องการจะไปสร้างความเสียหายให้กับใครไหม แท้ที่จริงแล้วเป็นการทำตามนโยบายเพื่อช่วยเหลือชาวไร่ชาวนาให้ลืมตาอ้าปากได้ แก้ปัญหาความยากจน หนี้สิน ชีวิตความเป็นอยู่ ในอดีตทุกรัฐบาลก็ใช้เงินจำนวนมหาศาลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรคนยากจน เช่น โครงการประกันราคาข้าว หนึ่งฤดูกาลใช้เงินไป 7 หมื่นล้านบาท โดยไม่มีเม็ดข้าวเลยแม้แต่น้อย” นายชูศักดิ์กล่าว และว่า รัฐบาลปัจจุบันแจกเงินให้ชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ใช้เงินไปถึง 4 หมื่นล้านบาท ที่น่าคิดคือ ถ้ารัฐบาลวันข้างหน้า รัฐบาลใดก็ตามมาทำตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา แล้วต้องเผชิญชะตากรรมถูกฟ้องต่อศาลเป็นคดีอาญา เป็นคดีแพ่ง ถูกถอดถอน ฉะนั้นต้องทบทวนระบบแบบนี้แล้ว

นายชูศักดิ์กล่าวว่า ส.ป.ก.4-01 สั่งไม่ฟ้อง ปรส. (องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน) ใช้เงินไป 8 แสนล้านบาท ท้ายที่สุดก็ไม่เห็นจะมีนายกรัฐมนตรี หรือ ครม.คนไหนมารับผิดชอบ คิดว่าคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์สามารถต่อสู้ไปในแนวทางของหลักการประชาธิปไตย หลักการแบ่งแย่งอำนาจ หลักทฤษฎีการบริหารราชการแผ่นดิน หลักรัฐธรรมนูญ หลักว่ามิได้มีเจตนาพิเศษในทางเสียหายอย่างใดเลย


ที่มา http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1427080219