“ชูศักดิ์” แนะ ครม. – คสช. ใช้ ม.46 แก้ รธน. ให้มีการประชามติ ระบุใช้ม.44ไม่ได้ เหตุเป็นประกาศคำสั่งที่ต่ำกว่ารธน.

เมื่อวันที่ 1 พ.ค. นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ตามที่ได้มีหลายภาคส่วนเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ จันโอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ประกาศให้มีการทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ นั้น ผมเห็นด้วยที่จะให้มีการทำประชามติ แต่เห็นว่า มาตรา 44 เป็นการให้อำนาจหัวหน้า คสช. ออกประกาศหรือคำสั่ง หรือกระทำการใด เพื่อประโยชน์แก่การปฏิรูปฯ และให้ถือว่าประกาศหรือคำสั่งหรือการกระทำนั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย แต่เนื่องจากประกาศ หรือคำสั่ง หรือการกระทำนั้น มีศักดิ์ ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุนี้ เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ได้กำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่ได้กำหนดเรื่องการทำประชามติไว้ หัวหน้า คสช. จะออกคำสั่งหรือประกาศให้มีการทำประชามติ จึงน่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ทางออกของการทำประชามติ คือ การใช้ มาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวดำเนินการ โดย ครม. และ คสช. มีมติร่วมกัน ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แล้วส่งให้ สนช. พิจารณา ซึ่ง สนช. จะต้องพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน ซึ่งก็ใช้เวลาไม่มาก

และหากได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการทำประชามติจริงก็ควรที่จะกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องคะแนนเสียงประชามติให้ชัดเจนว่าต้องมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนประชาชนที่มาออกเสียงประชามติ และต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า หากประชามติไม่ผ่าน จะนำรัฐธรรมนูญฉบับใดมาใช้ โดยส่วนตัวเห็นว่าควรนำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาประกาศใช้ เป็นรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการจัดการเลือกตั้ง และคืนอำนาจให้ประชาชนต่อไป เนื่องจากถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมในขบวนการยกร่างมากที่สุด และมีความเป็นประชาธิปไตยสูง ส่วนจะแก้ไขต่อไปอย่างไร ก็ให้เป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ควรย้อนกลับมาแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ เพราะจะเสียเวลา และโอกาสของประเทศ ไปเปล่าๆ ส่วนคำถามที่ว่าถ้าทำประชามติจะกระทบโรดแมปที่ประกาศไว้ใหม เห็นว่ากระทบแน่แต่ก็ควรไม่ปล่อยให้นานเกินไปจนดูคล้ายๆจะอยู่ในอำนาจต่อไป การมีรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาเป็นอันตรายต่อการพัฒนาประชาธิปไตยมากกว่า เราจึงเห็นว่าการฟังเสียงประชาชนเจ้าของอำนาจเป็นสิ่งที่ตอบโจทก์ไดัดีที่สุด.

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1430475645