‘ยิ่งลักษณ์’ขึ้นศาลครั้งแรก ปฏิเสธโกงจำนำข้าวทุกข้อหา ยื่นประกันตัว30ล้าน ห้ามไปนอก
เมื่อวันที่ 19 พ.ค.
ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ ศาลฎีกาฯ
นัดพิจารณาคดีครั้งแรก และสอบคำให้การ ในคดีหมายเลขดำ อม.22/2558 ที่นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์
ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ
และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่
หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว
ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท
สำหรับบรรยากาศในบริเวณศาลฎีกาฯ
เจ้าหน้าที่ได้นำรั้วเหล็กมากั้นเป็นทางเดิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคู่ความ
เนื่องจากมีประชาชนมารอให้กำลังใจและมอบดอกไม้ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำนวนมาก
โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ จากกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 (บก.น.2)
รวมกว่า 500 นาย
มาคอยดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณโดยรอบศาลฎีกา
ต่อมาเมื่อเวลา
08.40 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมทีมทนายความได้เดินทางมาศาล โดยมี นายณัฐวุฒิ
ใสยเกื้อ อดีต รมว.พาณิชย์ นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายก่อแก้ว
พิกุลทอง นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย
พร้อมคณะเดินทางมาร่วมให้กำลังใจด้วย ขณะที่ฝ่ายอัยการโจทก์ นำโดย นายชุติชัย
สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ หัวหน้าคณะทำงานฯ นายสุรศักดิ์
ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง
รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมคณะทำงานอัยการ มาร่วมฟังการพิจารณา
ด้าน
น.ส.ยิ่งลักษณ์ เปิดเผยว่า จะต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม
และมั่นใจในความบริสุทธิ์ พร้อมขอความร่วมมืออย่าวิพากษ์วิจารณ์คดี
เพราะขณะนี้คดีอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลแล้ว
ต่อมาเวลา 10.00 น.
นายวีระพล ตั้งสุวรรณ รองประธานศาลฎีกา ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน
พร้อมองค์คณะผู้พิพากษารวม 9 คน ได้ออกนั่งบัลลังก์
เพื่อสอบคำให้การจำเลย โดยศาลได้อ่านสรุปคำฟ้องให้จำเลยฟังโดยสรุป ว่า
เมื่อระหว่างเดือนสิงหาคม 2554 – พฤษภาคม 2557 จำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย
มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน และเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ
(กขช.) จำเลยเป็นนายกฯ ดำเนินการนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกรวม 5 โครงการ ประกอบด้วย 1. โครงการรับจำนำข้าวนาปี
ระหว่างปี 2554-2555 2. โครงการรับจำนำข้าวนาปลัง ปี 2555
3. โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ระหว่างปี 2555-2556 (ครั้งที่ 1) 4.โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2556
(ครั้งที่ 2) 5. โครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2556-2557
ซึ่งระหว่างการดำเนินการ ตามนโยบายโครงการรับจำนำข้าว
ได้มีข้อทักท้วงจากหลายหน่วยงาน เช่น ป.ป.ช. สตง. กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ
และพรรคฝ่ายค้าน
โดยให้การทักท้วงว่า
โครงการรับจำนำข้าว มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย ทั้งด้านคุณภาพข้าว
การบิดเบือนราคาตลาด และอื่นๆอีกจำนวนมาก ซึ่งจำเลยและคณะรัฐมนตรี
จะต้องมีความระมัดระวังรอบคอบ ทุ่มเท เอาใจใส่ในการดำเนินการ
กำหนดหลักเกณฑ์ให้สมเหตุสมผล และมีมาตรการป้องกันความเสียหาย
ด้านเศรษฐกิจและการคลังของประเทศ แต่จำเลยกลับร่วมลงมติกับคณะรัฐมนตรี
โดยงดเว้นมาตรการป้องกันไม่ระงับยับยั้งความเสียหายให้หมดสิ้นไป หรือ
ปรับแก้ไขหลักเกณฑ์ในโครงการรับจำนำข้าว
ก่อให้เกิดความเสียหายที่ประเมินเป็นตัวเลขได้และประเมินเป็นตัวเลขไม่ได้
โดยโจทก์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 157
ซึ่งมีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 2,000 –
20,000 บาท และ
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 มีโทษจำคุก 1-10
ปี และปรับ 20,000 – 200,000 บาท
จากนั้น
นายวีระพล ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ได้สอบถามจำเลยว่า จะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธ
ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้แถลงตอบศาลด้วยสีหน้าเรียบเฉย ให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดี
พร้อมแถลงขอยื่นคำให้การที่เป็นลายลักษณ์อักษรฉบับสมบูรณ์ ไม่เกินวันที่ 3 กรกฎาคมนี้
ศาลได้สอบถามโจทก์และจำเลยว่า จะนำพยานเข้าไต่สวนในคดีนี้กี่ปาก โดยนายชุติชัย
หัวหน้าคณะทำงานอัยการโจทก์ แถลงว่า มีพยานบุคคลจะเข้าไต่สวนรวมจำนวน 13 ปาก ขณะที่ นายเอนก คำชุ่ม ทนายความจำเลย แถลงขอนำพยานเข้าไต่สวนไม่ต่ำกว่า
20 ปาก ซึ่งพยานบางส่วนอยู่ในสำนวนของ
ป.ป.ช.และพยานบางส่วนอยู่นอกสำนวน ป.ป.ช.
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า
อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การฉบับสมบูรณ์ต่อศาลภายในวันที่ 3 กรกฎาคม
นี้ โดยกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 21 และ 28 กรกฎาคมนี้ เวลา 09.30 น. ส่วนที่จำเลยยื่นคำร้องขอพิจารณาลับหลังนั้น
ศาลเห็นว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องมาศาลตามนัดทุกครั้ง หากจำเลยไม่สามารถมาศาลในนัดใด
ให้จำเลยยื่นคำร้องแสดงเหตุจำเป็นต่อศาล พิจารณาเป็นครั้งคราวไป
ขณะที่ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลย โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร
เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
จากนั้น
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เดินออกจากศาลฎีกาฯ
เพื่อมาขอบคุณประชาชนที่มารอให้กำลังใจอยู่บริเวณรอบนอก ขณะที่ประชาชนได้โห่ร้อง
ให้ดอกไม้ ถ่ายรูป และสวมกอด น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมตะโกนว่า “ยิ่งลักษณ์
สู้ๆ” จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เดินทางกลับด้วยรถตู้โฟล์ค เลขทะเบียน ฮน 333 โดยไม่ให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด
ด้าน
นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทีมทนายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เปิดเผยว่า
กระบวนการหลังจากนี้ เป็นที่ประจักษ์ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์
พร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อแสดงให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ในการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าว
ที่จะช่วยเหลือชาวนาพร้อมที่จะแสดงหลักฐานต่างๆ ต่อศาล
ขณะที่กระบวนการพิจารณาของศาลเมื่อสักครู่นั้น ศาลได้อธิบายคำฟ้องให้
น.ส.ยิ่งลักษณ์ฟัง และถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า จะให้การปฏิเสธ หรือรับสารภาพ ซึ่ง
น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ปฏิเสธ โดยจะให้รายละเอียดอีกครั้งในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้
ศาลจึงได้มีการนัดตรวจพยานหลักฐานไว้ในวันที่ 21 และ 28
กรกฎาคม เวลา 09.30 น. โดยให้จำเลยมาศาลทุกนัด
ซึ่งในวันดังกล่าว นางสาวยิ่งลักษณ์
จะเดินทางมาศาลด้วยตนเองอย่างแน่นอน แต่หากติดภารกิจไม่สามารถมาได้ก็จะแจ้งข้อขัดข้องต่อศาลเพื่อขอพิจารณาคดีลับหลัง ทั้งนี้ ทีมทนายความได้ยื่นหลักทรัพย์ในการขอปล่อยชั่วคราว
เป็นสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำนวน 30 ล้านบาท
ซึ่งศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้ โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ
นายนรวิชญ์
กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องพยานที่จะนำไต่สวนนั้นยังไม่สามารถระบุได้ในวันนี้
แต่จะแถลงในวันที่มีการนัดตรวจพยานหลักฐานดังกล่าว อย่างไรก็ตาม
ช่วงที่ผ่านมาหลังจากที่ศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องเราได้มีการขอคัดถ่ายเอกสารสรุปสำนวนการไต่สวนของ
ป.ป.ช. ซึ่งเรามั่นใจว่า จะสามารถชี้ให้เห็นข้อพิรุธในสำนวนได้
เนื่องจากพยานที่ทาง ป.ป.ช.กล่าวอ้างนั้นเคยถูกให้ออกจากราชการ
และพยานบางคนขณะที่ให้ปากคำกับทาง ป.ป.ช. ก็ถูกออกหมายจับด้วย
เราก็จะชี้ให้เห็นว่า พยานมีความน่าเชื่อถือหรือไม่อย่างไร ส่วนระยะเวลาในการพิจารณาคดียังไม่สามารถบอกได้
คงต้องรอวันนัดตรวจพยานหลักฐานอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้มีข้อกังวลอะไร
เพียงแต่เมื่อคดีเข้าสู่กระบวนการของศาลแล้ว
ไม่อยากให้พรรคฝ่ายค้านที่เป็นปฏิปักษ์ต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไปพูดชี้นำเท่านั้น
ที่มา http://www.thairath.co.th/content/499788