‘ภูมิธรรม’วิพากษ์ปมร้อนร่างรธน.-บึ้มราชประสงค์

          นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ข่าวสด” ถึงร่างรัฐธรรมนูญที่ใกล้ถึงโค้งท้าย และการแก้ปัญหาของรัฐบาลจากเหตุระเบิดบริเวณราชประสงค์

          การโหวตร่างรัฐธรรมนูญ

          ในวันที่ 6 ก.ย. ซึ่งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณาเพื่อลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น ส่วนตัวเห็นว่าการที่ สปช.จะโหวตผ่านหรือไม่ผ่านนั้นไม่มีความหมาย ให้วิเคราะห์หรือคาดเดา เพราะ สปช.มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทิศทางการโหวตคงต้องดูเจตนารมณ์ตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เคยระบุไว้ว่าลงเรือแป๊ะก็ต้องตามใจแป๊ะ ดังนั้นปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ว่า สปช.จะโหวตไปในทิศทางใด แต่อยู่ที่ว่า “แป๊ะ” มองทิศทางถูกต้องหรือไม่ หากมองทิศทางถูก การโหวตตามใจแป๊ะก็จะแก้ปัญหา

          ปัญหาของร่างรัฐธรรมนูญเวลานี้ พรรคเพื่อไทยได้แสดงท่าทีไปแล้ว รัฐธรรมนูญที่ออกมาจะต้องเป็นประชาธิปไตยตามหลักสากล คือทางออกที่ดีที่สุดของระบบการเมืองในปัจจุบัน เป็นการยอมรับให้คนในสังคมทุกภาคส่วนได้มีส่วนแชร์การกำหนดทิศทางที่จะเดินไปด้วยกัน หลักการนี้จะช่วยประคับประคองและแก้ไขปัญหาให้กับคนส่วนใหญ่ได้

          ห่วงประเด็นใด

          สิ่งที่สะท้อนออกมาขณะนี้ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ แต่ดูเหมือนว่าผู้ที่อยู่ในอำนาจปัจจุบัน จะเดินต่อไปข้างหน้าตามที่ตัวเองคิดและเป็น ทั้งหมดเท่ากับปูทางให้กับกลุ่มอำนาจของตัวเองในการอยู่ในอำนาจ ทิศทางนี้จะเป็นการแก้ไขปัญหาหรือไม่ สังคมต้องช่วยกันตอบ

          จะเห็นว่าการกำหนดกลไกของรัฐธรรมนูญทั้งเรื่อง นายกฯ มาจากคนนอกได้ การกำหนดให้ ครม.เป็นผู้คัดเลือก ส.ว.ซึ่งมีจำนวนมากกว่า ส.ว.ที่มาจากเจตนารมณ์ของประชาชน หรือการยอมรับในกลไกขององค์กรอิสระที่มีอำนาจตัดสินปัญหาต่างๆ ทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานที่ยังไม่ยอมรับการตัดสินใจของประชาชนโดยตรง แล้วจะแก้ปัญหาโดยรวมได้อย่างไร

          การกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ถือเป็นเรื่องน่าห่วง เท่ากับทำให้แต่ละพรรคการเมืองต้องกลับไปจัดความคิด จัดนโยบายเสนอต่อประชาชนตามเจตนารมณ์ให้เสร็จ แต่กลับมีคณะกรรมการที่มีอำนาจเหนือฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติได้อีก แบบนี้จะสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้อย่างไร สิ่งที่นายวิษณุหรือหลายคนพูดว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ มีเจตนาดีที่อยากให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยยึดหลักสากล แต่ต้องยอมรับกติกาแบบนี้ เลยไม่เข้าใจหลักเหตุผลที่นายวิษณุหรือแม้แต่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญอธิบาย

          สิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสม คือกฎกติกาประชาธิปไตยควรมีหลักเดียว แล้วดูว่าสังคมจะปรับกันอย่างไร แต่ไม่ใช่ไปปรับหลักประชาธิปไตยให้ไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วมาบอกให้สังคมปรับตามให้เหมาะสม มองว่าเป็นคำอธิบายที่ไม่มีตรรกะที่เหมาะสมที่จะอธิบาย

          หากกมธ.ยกร่างฯ ไม่ปรับแก้

          สังคมอารยะที่เจริญแล้ว ถ้าคนในสังคมมองกติกาไม่เหมือนกัน สิ่งที่ดีที่สุด คือการเปิดโอกาสให้มีการถกเถียง หาทางออกที่ดีที่สุด ยิ่งเป็นกลุ่มคนที่เป็นชนชั้นนำทางสังคมที่เห็นต่างกัน กำลังมองทางเลือก ทางออกของประเทศที่ ต่างกัน ก็ต้องเปิดโอกาสให้คนส่วนใหญ่จริงๆ ได้ใช้สิทธิ ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางให้มากที่สุดกระทั่งได้ข้อยุติใน ขั้นต้น ไม่ได้เป็นผลเสียอะไรต่อระบอบประชาธิปไตย ต่อการสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ของประเทศ

          แต่หากไม่เปิดโอกาสแล้วยังปล่อยให้คนกลุ่มหนึ่งมา บอกว่าเป็นคนดีอย่างที่ฉันเชื่อ มากำหนดทิศทางให้คนอื่นต้องเดินตาม แบบนี้ถือเป็นความไม่งดงามในระบอบประชาธิปไตย

          กรณีสปช.โหวตคว่ำร่าง

          หากดูตามกรอบกติกา เมื่อ สปช.โหวตไม่ผ่าน เรื่องจะกลับไปที่ คสช.เพื่อตั้งกมธ.ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ถ้าโหวตผ่านจะนำไปสู่การออกกฎหมายลูกเพื่อนำไปสู่การทำประชามติ ซึ่งการจะทำประชามติสอบถามประชาชนควรถามให้ครบถ้วน ไม่ใช่ออกกฎเกณฑ์มาแบบหนึ่ง แต่กลับไปถามความเห็นเรื่องรัฐบาลปรองดองอีกแบบหนึ่ง

          คำถามเรื่องรัฐบาลปรองดองที่ทุกพรรคการเมืองมาพบกัน ทำงานด้วยกัน ถามว่าดีหรือไม่ ตอบว่าดี เป็นความฝันในอุดมคติ แต่ถามว่าคนเหล่านี้คิดเหมือนกันหรือไม่ ซึ่งไม่เหมือนกันอยู่แล้ว แตกต่างกันในเรื่องนโยบายการบริหารประเทศ แล้วจะเอานโยบายของใครมาใช้เป็นแกนกลาง คิดแค่นี้ก็ปวดหัวแล้ว

          ถ้าจะให้คิดแบบฮั้วๆ กันไป กระทบผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายให้น้อยลงหน่อย คิดแบบนี้ได้แต่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ จะเอาปรองดองแบบนี้หรือจะเอาปรองดองแบบหลักการที่สังคมยุติ อยู่ด้วยกันได้ ก็ต้องปรองดองบนหลักการที่อยู่ร่วมกันได้ ส่วนที่แตกต่างต้องเปิดโอกาสให้มีการเสนอแนะได้เต็มที่ หากมองผิวเผินข้อเสนอดังกล่าวดูดีแต่ไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไร

          คสช.ควรให้พรรคการเมืองจัดกิจกรรม

          คสช.ควรให้พรรคการเมืองเริ่มดำเนินการตามกรอบของประชาธิปไตยและสันติวิธีมานานมากแล้ว การให้คนได้เจอกันเพื่อถกเถียง ใช้สติปัญญาเพื่อแก้ปัญหาของสังคมร่วมกันเป็นสิ่งดี แต่การตีกรอบโดยไม่ให้ทำอะไรเลยนั้นไม่เป็นผลดีกับประเทศชาติ

          1 ปีที่ผ่านมาพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองส่วนใหญ่ ที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ต่างไม่สร้างเงื่อนไขเพื่อให้รัฐบาลแก้ปัญหา พยายามระมัดระวังท่าทีที่ไม่ไปขัดขวางการหาทางออกของรัฐบาล สำคัญว่าคุณได้ร่างกฎกติกาที่มีหลักนิติธรรมหรือยัง เป็นกฎกติกาที่อยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตยที่ยอมรับอำนาจของประชาชน หรือร่างกติกาที่สร้างบรรยากาศของการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้น มีบรรยากาศที่ทุกฝ่ายได้รับความยุติธรรมจากกระบวนการใช้กฎหมายอย่างยุติธรรม เท่าเทียมกัน หรือยัง

          คุณทำได้ใกล้เคียง สังคมก็ใกล้หาทางออกได้ ปัญหาอยู่ที่รัฐบาลผู้มีอำนาจในปัจจุบัน จะอำนวยสิ่งต่างๆ เหล่านี้ให้เกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน ท่านต้องใช้ศักยภาพที่มีอยู่ รับฟังความเห็นให้กว้างขวางที่สุด ดึงกำลังจากส่วนต่างๆ มาช่วยแก้ปัญหาให้ได้มากที่สุด เชื่อว่าจะเป็นทางออกของประเทศ

          เหตุระเบิดแยกราชประสงค์

          ค่อนข้างเป็นห่วงมาก เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดผล กระทบรุนแรงต่อประเทศ ต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนในประเทศและแขกที่มาเยือนเรา สิ่งที่ห่วงมาก คือไม่ได้มองการเกิดเหตุความรุนแรงแบบมืออาชีพ หรือตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น แต่กลับเอาทัศนคติ ความชอบหรือไม่ชอบมาเป็นบรรทัดฐานตั้งสมมติฐานของปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งน่าอันตรายมาก เพราะจะนำไปสู่การเข้าใจปัญหาที่ผิด การแก้ปัญหาที่ไม่ตรงเหตุ และจะนำไปสู่ความขัดแย้งอีกมากมายที่อาจเกิดขึ้น

          ข้อวิเคราะห์ต่างๆ ทั้งเรื่องนโยบายด้านการต่างประเทศที่อาจจะดึงให้ก่อการร้ายต่างประเทศเข้ามา ข้อขัดแย้ง การแย่งชิงผลประโยชน์ในตำแหน่งอำนาจหน้าที่ หรือแม้แต่ความขัดแย้งแตกต่างทางการเมือง ล้วนแต่เป็นเหตุผล ที่สามารถตั้งได้ทั้งนั้น แต่การสรุปควรขึ้นกับหลักฐานและ ข้อเท็จจริง

          มีข้อแนะนำอย่างไร

          ในฐานะพี่สอนน้อง มองว่า พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ของรัฐบาล ได้ผิดพลาดในการรีบสรุปและป้ายสีคนอื่น ทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลดูไม่มืออาชีพ หากมองไม่ตรงกับความเป็นจริงจะแก้ปัญหาไม่ได้ และเป็นการขยายความขัดแย้งให้เกิดเป็นปัญหาเข้าไปอีก

          อยากแนะนำ พล.ต.สรรเสริญใช้สติให้มากๆ มองหลักเหตุผลให้เยอะๆ ยิ่งได้ยกสถานะขึ้นเป็นถึงโฆษกรัฐบาลยิ่งต้องใช้ความไตร่ตรองในการทำงาน อนาคตยังอีกยาวไกล ไม่ควรใช้โมหาคติเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของตัวเอง จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาลด้วย

          วันนี้ทุกคนต้องช่วยกันหาสาเหตุ เพื่อหาหนทางแก้ปัญหานี้ ที่สำคัญต้องช่วยกันประณามคนที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ ไม่ว่าจะร่วมอยู่ในระดับใด เพราะเป็นความโหดเหี้ยมที่ทำร้าย ชีวิต ทรัพย์สินและผลประโยชน์ของประเทศอย่างรุนแรงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นใครเกี่ยวพันกับใคร ก็ไม่อาจยอมรับได้ เราไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงและการทำลายประเทศไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม

          ขณะนี้เห็นใจรัฐบาลที่ต้องจัดการกับสิ่งที่ตัวเองไม่มีประสบการณ์และความสามารถเพียงพอในเรื่องนี้ หากเป็นฝ่ายการเมืองคงถึงพื้นที่ในเวลาไม่ถึง 30 นาทีเพื่อเข้าไปดู ท่านอาจกำลังมึนงง ก็ขอให้กำลังใจให้เดินให้ถูกทาง ระดมทรัพยากรมาช่วยให้มากที่สุด เพราะเป็นเรื่องของประเทศชาติ ไม่ใช่เรื่องการช่วยผู้นำคนใดคนหนึ่ง

ที่มา : http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=1440082555