เพื่อไทย “วิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญ” ชี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับกดหัวประชาชน

ที่ พท 0047/2558

                                                               27 สิงหาคม 2558

เรื่อง    การรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างรัฐธรรมนูญ 

เรียน    ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

สิ่งที่ส่งมาด้วย  คำแถลง “เพื่อไทย วิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญ” ฉบับลงวันที่
27 สิงหาคม 2558

            ตามที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น
และเสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบโดยมีกำหนดการพิจารณาในวันอาทิตย์ที่ 6 กันยายนที่จะถึงนี้

            ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยได้รวบรวมความคิดเห็นและเสนอต่อคณะกรรมาธิการฯ
ทั้งด้วยวาจาและเป็นหนังสือมาเป็นระยะโดยตลอดตั้งแต่ต้น เพื่อขอให้คณะกรรมาธิการฯ ปรับปรุงแก้ไขในหลายประเด็นที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตยที่เป็นสากลและขัดต่อหลักนิติธรรม
แต่ปรากฏว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างเสร็จสิ้นแล้วดังกล่าว มิได้ตอบสนองข้อคิดเห็นเหล่านั้น
กลับมีเนื้อหาแทบจะตรงกันข้าม รวมทั้งกระบวนการยกร่างในหลายขั้นตอน คณะกรรมาธิการฯ
ได้ดำเนินการแบบปิดลับ ไม่โปร่งใส ไม่แสดงถึงการฟังความเห็นจากสื่อมวลชนและสาธารณชนแต่อย่างใด

            พรรคฯ
จึงขอเรียนมายังประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติว่า ขอให้ท่านและสมาชิกสภาปฏิรูปฯ
โปรดให้ความสำคัญในการพิจารณาข้อคิดเห็นที่แตกต่างจากคณะกรรมาธิการฯ
ซึ่งพรรคเพื่อไทยและสมาชิกพรรคได้รวบรวมมาเสนออีกครั้งตามเอกสารที่แนบมาพร้อมนี้  และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในวันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน 2558
ประชาชนจะได้เห็นท่านและสมาชิกสภาปฏิรูปฯ แสดงบทบาทในวาระสำคัญด้วยวิจารณญาณและจิตใจที่ปรารถนาจะเห็นประโยชน์สุขของประชาชนเป็นที่ตั้ง
และไม่ปรารถนาจะผลักประเทศให้กลับไปตกอยู่ในวังวนแห่งความขัดแย้งที่ไม่สิ้นสุดอีกต่อไป.

                                                                                                   ขอแสดงความนับถือ

                                                                               พลตำรวจโท  …………………………………….

                                                                                                   (พลตำรวจโท
วิโรจน์ เปาอินทร์)

                                                                                                   รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย





                                เพื่อไทย วิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญ   

                            เป็นรัฐธรรมนูญฉบับกดหัวประชาชน

            รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะอ่อนแอ
บริหารประเทศไม่ได้

 
อำนาจที่แท้จริงอยู่กับองค์กรและกลไกที่มุ่งสืบทอดอำนาจ อย่างไร้การตรวจสอบ
 

  ประชาชนขาดสิทธิและโอกาส เศรษฐกิจจะยิ่งตกต่ำ
ความปรองดองจะเกิดได้ยาก

                                                    ……………………………

         ตามที่คณะทำงานและสมาชิกพรรคเพื่อไทยหลายท่านได้รวบรวมความคิดเห็นและเสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
ทั้งด้วยวาจาและเป็นหนังสือมาโดยตลอดตั้งแต่ต้น 
โดยขอให้ปรับปรุงแก้ไข หลายประเด็นที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตยที่เป็นสากลและขัดต่อหลักนิติธรรม
ต้องไม่สร้างองค์กรและกลไกที่มุ่งสืบทอดอำนาจและยิ่งสร้างความแตกแยก
ต้องมีการปฏิรูปประเทศอย่างรอบด้านและเป็นรูปธรรม 
ต้องสร้างความสมานฉันท์โดยใช้หลักเมตตา ปรารถนาดี ให้อภัย
และทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีความเป็นธรรม 
ปราศจากอคติ ไม่มีสองมาตรฐาน นั้น

         บัดนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้ยกร่างเสร็จสิ้นและเสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ แต่ร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างเสร็จสิ้นแล้วไม่ได้ตอบสนองข้อคิดเห็นเหล่านั้นแม้แต่น้อย
กลับมีเนื้อหาแทบจะตรงกันข้าม และกระบวนการยกร่างในหลายขั้นตอน คณะกรรมาธิการฯ
ก็ยังดำเนินการแบบปิดลับ ไม่โปร่งใส
ไม่ต้องการฟังความเห็นจากสื่อมวลชนและสาธารณชนแต่อย่างใด

        พรรคเพื่อไทยจึงเห็นว่า
หากสภาปฏิรูปฯ ประสงค์จะให้ร่างรัฐธรรมนูญเช่นนี้ เป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป  ก็เป็นที่น่าห่วงใยอย่างยิ่งว่าประเทศชาติจะยิ่งตกอยู่ในวงจรอุบาทว์อย่างไม่สิ้นสุด
และจะมีแต่ความขัดแย้งในทุกระดับซึ่งเป็นผลโดยตรงจากร่างรัฐธรรมนูญนี้  ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1) 
การสืบทอดอำนาจ
ขัดหลักการประชาธิปไตยพื้นฐาน ไม่เห็นหัวประชาชน

          1.1 
การสร้างระบบเลือกตั้งและกลไกจำกัดอำนาจการทำงานตามปกติของรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน  เพื่อให้ได้รัฐบาลที่อ่อนแอเป็นตัวแทนของประชาชนและประเทศในการแก้ปัญหาทั้งภายในประเทศและในความสัมพันธ์กับต่างประเทศไม่ได้

          1.2 
การเปิดโอกาสให้มีนายกรัฐมนตรีที่มากจากคนนอก
คือ ไม่ต้องเป็นผู้แทนราษฎร ก็เพื่อให้สัมพันธ์กับการทำให้มีรัฐบาลที่อ่อนแอ
เพื่อให้ประเทศถูกปกครองโดยนายกรัฐมนตรีที่ไม่มีความยึดโยงและรับผิดชอบใดๆ
กับประชาชน 
เป็นช่องทางของการสืบทอดอำนาจอย่างชัดเจน

         1.3 
การกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา
123 คนจาก 200 คน ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

ทั้งๆ ที่วุฒิสภามีอำนาจมาก ยิ่งกว่าสภาผู้แทนราษฎร  เพราะสามารถแต่งตั้งถอดถอนผู้ดำรงตำแห่งสำคัญๆ
ในรัฐธรรมนูญได้  มีอำนาจอนุมัติกฎหมาย  ร่วมพิจารณาและให้ความเห็นชอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ฯลฯ  อีกทั้ง
ส.ว.ชุดแรกก็มาจากการสรรหาของคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน เพื่อเป็นช่องทางสืบทอดอำนาจและสนับสนุนกระบวนการดังกล่าว

        1.4 
การกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ  เพื่อสืบทอดอำนาจ
โดยคณะกรรมการที่มีจำนวน 22 คนซึ่งรวมเอาผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก
ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไว้ด้วย  และยังมีผู้ทรงคุณวุฒิอีก 11
คนที่ในระยะเริ่มแรกจะได้รับการแต่งตั้งจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
ชุดปัจจุบัน  ซึ่งรวมกันก็มีจำนวน 16 จาก
22 คนแล้ว เท่ากับมีจำนวนเกิน 2 ใน 3 
ดังนั้นจึงสามารถมีมติใช้อำนาจกระทำการใดๆ ที่มีความจำเป็นเพื่อรักษาความสงบของชาติ
ฯลฯ ในช่วง 5 ปีแรกได้ ไม่ว่าจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ หรือบริหาร 
โดยร่างรัฐธรรมนูญให้ถือว่าการกระทำและการปฏิบัติตามการกระทำนั้น  เป็นสิ่งที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ชอบด้วยกฎหมายและเป็นที่สุด

         ดังนั้น
คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ที่เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งและมีจำนวนมากถึง 2 ใน 3  จึงเป็นการสร้าง “ซูเปอร์องค์กร”
เพื่อสืบทอดอำนาจอย่างเป็นรูปธรรม เพราะอยู่เหนือฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร  การจะมีสถานการณ์ตามที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดไว้หรือไม่นั้น
ก็ขึ้นอยู่กับความเห็นของเสียง 2 ใน 3 ที่ตั้งไว้แล้วดังกล่าว แทนที่จะให้ระบบปกติแก้ปัญหาตามระบอบประชาธิปไตยจนเป็นบรรทัดฐานและเป็นการตกผลึกของประชาชนในสังคม  กลับยิ่งเชื้อเชิญวงจรอุบาทว์ต่อไปแม้เมื่อพ้น
5 ปีไปแล้ว เพราะไม่ยอมรับว่าระบบปกติแก้ปัญหาได้ถ้าทุกองค์กรร่วมกันทำหน้าที่ของตนตามกฎหมายและไม่ใช้อคติ

นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นธาตุแท้ของคณะกรรมาธิการฯ ว่า ต้องการให้มีรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรที่อ่อนแอ
ก็เพื่อให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ที่สืบทอดจากการรัฐประหาร สามารถเข้าแทรกแซงและยึดอำนาจไปจากรัฐบาลและรัฐสภาได้

         1.5
การกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ
และองค์กรต่าง ๆ ที่ถูกตั้งไว้ในช่วงการรัฐประหาร 
และภายหลังการเลือกตั้ง เป็นกลไกที่มีอำนาจเหนือฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ
การวางกลไกเช่นนี้ เป็นการตอกย้ำและเสริมสร้างระบบขัดขวางการทำงานของรัฐบาลและสภาที่สืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญ
2550 ทั้งในแง่ที่มาและอำนาจหน้าที่
เพื่อมุ่งหมายให้รัฐบาลและสภาอ่อนแอไม่สามารถทำงานเพื่อประชาชนตามนโยบายที่หาเสียงได้
และเพื่อบีบให้พรรคการเมืองส่วนหนึ่งต้องไปศิโรราบสนับสนุนให้บุคคลที่มิได้มาจากการเลือกตั้ง
จัดตั้งรัฐบาล

        1.6  การเพิ่มองค์กรและคณะกรรมการใหม่ๆ
ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญอีกไม่น้อยกว่า 20
องค์กร  เห็นได้ชัดว่าเพื่อตอกย้ำเป้าหมายของการให้มีรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรที่อ่อนแอ
องค์กรเหล่านี้จะเป็นองค์กรที่ครอบงำการทำงานของหน่วยงานที่มีอยู่ตามปกติ
จนยิ่งจะมีแต่ความขัดแย้ง สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายที่มาจากภาษีของประชาชน และการทำงานของหน่วยงานปกติจะไร้ประสิทธิภาพ  ขอให้จับตาดูองค์กรเหล่านี้เพราะจะเป็นที่รองรับกลุ่มบุคคลที่ปฏิเสธอำนาจของประชาชนผ่านการเลือกตั้งต่อไป

        1.7  การกำหนดให้รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ยากมาก  จนผู้ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนไม่อาจแก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไปได้เลย
เพราะนอกจากจะมีการเพิ่มเติมกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ให้ยุ่งยาก
รวมทั้งการตรวจสอบจากศาลรัฐธรรมนูญแล้ว 
ยังต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภาซึ่งมี 650 คน แทนที่จะเป็นเสียงข้างมากเช่นรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ
ทุกฉบับ  และเมื่อมี ส.ว.ที่มาจากการสรรหาถึง
123 คนแล้ว การแก้ไขก็แทบจะเป็นไปไม่ได้

2)  การทำเป็นอ้างหลักนิติธรรมและนิยามความหมาย  แต่เนื้อหาหลักกลับทำลายหลักนิติธรรมทั้งหมด

        2.1
การกำหนดให้การใช้อำนาจในกรณีจำเป็นของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ครอบคลุมได้ทั้งทางนิติบัญญัติและบริหาร
และให้ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ชอบด้วยกฎหมายและเป็นที่สุด
ขณะที่ในหลักการ
(ร่างมาตรา 3) กำหนดให้ทุกองค์กรตามรัฐธรรมนูญต้องปฏิบัติตามหลักนิติธรรม
และยังกำหนดอีกว่า (ร่างมาตรา 205) หลักนิติธรรมมีหลักการพื้นฐาน 5 ประการ เช่น
การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค  บุคคลมีสิทธิในการปกป้องตนเองเมื่อสิทธิ หรือเสรีภาพถูกกระทบ  การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ความเป็นอิสระของศาล
ฯลฯ  ถ้าสิทธิ
เสรีภาพของบุคคลใดถูกกระทบจากการกระทำที่ไม่ชอบขององค์กรใดตามรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว  องค์กรหรือบุคคลในองค์กรนั้นย่อมถูกร้องเรียน
ร้องทุกข์ ฟ้องร้องดำเนินคดีได้  แต่ถ้าเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ
และผู้ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งนอกจากจะยึดอำนาจบริหารและนิติบัญญัติไปแล้ว
แม้ทำไม่ชอบด้วยประการทั้งปวง ร่างรัฐธรรมนูญนี้ก็ถือว่าชอบหมดและเป็นที่สุดอีกด้วย
  ไม่สามารถไปร้องทุกข์ ดำเนินคดีใดๆ ได้เลย  และแม้แต่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ
จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายใดใช้ย้อนหลังเป็นโทษทางอาญาแก่บุคคลใด 
ซึ่งขัดต่อหลักพื้นฐานของหลักนิติธรรมที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดไว้  ก็ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุดเช่นกัน
การใช้อำนาจของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ จึงทำได้ตามใจชอบโดยไม่ต้องถูกตรวจสอบหรือต้องมีความรับผิดชอบใดๆ

         2.2
การกำหนดให้ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือหัวหน้า คสช.
หรือการปฏิบัติตามประกาศและคำสั่ง เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และเป็นที่สุด
และห้ามฟ้องร้องอีกด้วย 
ถือเป็นการล้มล้างหลักนิติธรรมที่อ้างไว้โดยบริบูรณ์

เมื่อประสงค์จะกำหนดเช่นนี้ ก็อย่าไปกล่าวถึงหลักนิติธรรมและความหมายเลยจะดีกว่า  เพราะไม่เป็นการเสแสร้างหลอกลวง  กรณีนี้ก็เหมือนกับกรณีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ โดย
คสช.แปลงร่างไปอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในรูปของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ โดยไม่ต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรมและความรับผิดชอบใดๆ
ในกรณีที่กลั่นแกล้งคน หรือละเมิดสิทธิ เสรีภาพ หรือทำลายความเสมอภาคของบุคคล
หรือทำลายความเป็นอิสระของศาล  สรุปคือ ฝ่ายเผด็จการที่ทำลายหลักกฎหมายและหลักนิติธรรม
ร่างรัฐธรรมนูญนี้ให้ถือเป็นอันชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นที่สุด ห้ามฟ้องร้อง  แต่ถ้าเป็นผู้ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ต้องถือว่ากระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ผิดกฎหมายและต้องรับผิดชอบทุกอย่าง 

        จะมีรัฐธรรมนูญแบบนี้ไปเพื่ออะไร

3) 
การจำกัดสิทธิของผู้เคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง
หรือเคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งมาแล้วในการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง

ทั้งๆ ที่ผู้ที่เคยถูกถอดถอนหรือถูกตัดสิทธิทางการเมืองในอดีตเกือบทั้งหมดไม่มีโอกาสในการต่อสู้คดีและถูกลงโทษย้อนหลัง
จึงเป็นการลงโทษซ้ำในความผิดที่เขาไม่ได้กระทำ และไม่มีการดำเนินกระบวนการพิจารณาตามหลักนิติธรรมแต่อย่างใด
และต้องไม่หมายรวมถึงผู้ที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญโดยกระบวนการที่ไม่ปกติที่ผ่านมา
มิฉะนั้นบทบัญญัติดังกล่าวก็มีขึ้นเพียงเพื่อสกัดกั้นบุคคลจากพรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใดเป็นการเฉพาะนั่นเอง

        โดยสรุป ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างขึ้นในบรรยากาศแห่งการเสแสร้งรับฟังความคิดเห็นในระดับหนึ่งเพื่อให้ดูชอบธรรม  แต่ไม่สนใจข้อเสนอแนะที่ให้ยึดหลักสากลและเชื่อมั่นในวิจารณญาณของประชาชน 
ใช้กลไกประชาธิปไตยและกลไกของรัฐที่มีแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างเป็นธรรม
ไม่เลือกปฏิบัติ การยกร่างก็กระทำแบบปิดลับ ขาดความโปร่งใส จนได้ร่างรัฐธรรมนูญที่แย่กว่าร่างเดิม  มุ่งเน้นการสืบทอดอำนาจและสร้างองค์กรต่างๆ
ขึ้นมากมาย  เพื่อครอบงำรัฐบาลที่ถูกออกแบบมาให้อ่อนแอ 
กำหนดให้ผู้ที่มาจากการเลือกตั้งต้องถูกตรวจสอบและรับผิดชอบทุกอย่าง แต่คณะรัฐประหารและองค์กรสืบทอดอำนาจทำอะไรก็ได้ทุกอย่าง  โดยให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญหมดและเป็นที่สุด
ห้ามฟ้องร้อง องค์กรที่มาจากการเลือกตั้งต้องดำรงตนอยู่ในหลักนิติธรรม แต่องค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอยู่นอกหลักนิติธรรมได้

ที่กล่าวนี้ยังไม่รวมถึงเนื้อหาของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จะกำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์การต่างๆ
ตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ที่อาจจะหมกเม็ดอีกมากและบรรยากาศในการจัดทำจะยิ่งไม่โปร่งใส
เพราะคณะกรรมาธิการที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน เป็นผู้ยกร่าง

        ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำลายหลักการอันดีงามที่ประเทศเคยยึดถือ  และยังทำให้ความคิดแบบเผด็จการอำนาจนิยมสามารถกดหัวประชาชนต่อไป  ยากที่ประเทศจะกลับคืนสู่สันติสุขได้  จึงขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันไตร่ตรองและหาทางแก้ไข อย่าดึงดันจนเกิดวิกฤตอีกเลย.

                                                                                        พรรคเพื่อไทย 

                                                                                     27 สิงหาคม 2558