วิกฤติเศรษฐกิจกำลังคืบคลานใกล้เข้ามาทุกที

วิกฤติเศรษฐกิจกำลังคืบคลานใกล้เข้ามาทุกที


จากข้อมูลการส่งออกเดือนสิงหาคม ปรากฏว่าเป็นการลดลงต่อเนื่อง 8 เดือนติดต่อกัน โดยหากพิจารณาเฉพาะสินค้าส่งออกที่ไม่รวมทองคำ พบว่า
การส่งออกในเดือนสิงหาคม ติดลบถึงร้อยละ 9.5
โดยมีกลุ่มสินค้าส่งออกที่หดตัวมาก คือ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ฮารด์ดิสก์ไดรฟ์
และสินค้าเกษตร

การที่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและ
อดีตเลขาธิการ สภาพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ถึงกับออกมาเตือนว่าภาวะเศรษฐกิจน่าเป็นห่วง
และหากการส่งออกยังติดลบต่อเนื่องไปอีก ในปีหน้า ประเทศก็จะเข้าสู่วิกฤต
ก็ย่อมเป็นที่เข้าใจได้

ผมรู้สึกเห็นใจ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล
ที่ต้องพยายามให้ความหวังว่าเศรษฐกิจยังไม่วิกฤติ และจะไม่วิกฤติ เพื่อผู้คนทั่วไปจะได้มีกำลังใจ  แต่ถ้าหากท่านจะไม่หลอกตัวเองไปด้วย
และหมั่นถามไถ่ชาวบ้านร้านตลาด โดยไม่เพียงแต่สนทนาอยู่กับเจ้าสัวใหญ่ๆ
ท่านก็จะทราบว่าภาวะเศรษฐกิจปากท้องทั่วไปในปัจจุบันถือว่าอยู่ในภาวะพิเศษแล้ว
และท่านก็มีเวลาในการทำงานไม่มากและต้องถูกวิธีเท่านั้น ภาวะเศรษฐกิจจึงจะไม่เป็นอย่างที่นายอาคม
แสดงอาการเป็นห่วง

มาตรการอัดฉีดเงินทุนหมุนเวียนต้นทุนต่ำแก่ภาคการผลิต
ของผู้ประกอบการขนาดย่อมของท่าน ในขณะที่ยังไม่มีคำตอบว่ากำลังซื้อ จะมาจากไหน
ทั้งจากภายนอกคือการส่งออก และจากภายในคือกำลังซื้อของผู้คนในประเทศ น่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นความพยายามขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ไม่ครบวงจร
และจะทำให้ เวลา 3 เดือน
ที่หัวหน้ารัฐบาล กำหนดเป็นเส้นตายไว้ให้ท่านแสดงผลงาน หมดลงไปอย่างเปล่าประโยชน์
ซึ่งถ้าท่านไม่อยากจะฟังผม ก็น่าจะฟังรุ่นพี่ของท่านคือ หม่อมอุ๋ย
ที่ห่วงใยเตือนไว้ตั้งแต่วันแรกๆ ที่ท่านมาแตะมือรับหน้าที่ต่อนะครับว่า
“ผู้ประกอบการในขณะนี้น่ะ เขาไม่ได้ต้องการเงินทุนหมุนเวียน
แต่เขาต้องการใบสั่งซื้อสินค้า”

ในฐานะที่ผมเคยทำหน้าที่ที่ปรึกษาของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจในรัฐบาลก่อน
คือนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่มีหน้าที่ต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี
2554 ผมอยากวิงวอนให้ทีมเศรษฐกิจฯ ปัจจุบันเปิดใจรับฟังให้มากๆ
โดยไม่ไปด่วนกล่าวหาใครต่อใครว่าจะมาสะเออะแนะนำทำไม
และเร่งแก้ไขภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ อย่างเร่งด่วน เพื่อคลายทุกข์ของประชาชน
ก่อนที่จะสายเกินไป
เพราะถ้าทำได้เป็นผลสำเร็จอย่างรวดเร็วเราอาจจะรอดจากภาวะวิกฤติที่มาจ่ออยู่หน้าประตูบ้านแล้วได้

ผมขอไม่พูดถึงประเด็นความยากของการบริหารเศรษฐกิจในภาวะไร้ประชาธิปไตยนะครับ
เพราะประเด็นนี้ท่านย่อมรู้อยู่แก่ใจมานานพอสมควรแล้วมิฉะนั้นคงไม่รับเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจให้รัฐบาลมาตั้งแต่แรก
และก็ปรากฏชัดว่ารัฐบาลไม่พอใจที่จะฟังเรื่องนี้
ผมจึงขอเสนอให้ท่านมีความหวังในสมมุติฐานเอาว่าภาวะการเมืองแบบนี้ยังมีประชาคมเศรษฐกิจ
และธุรกิจเขาให้การยอมรับอยู่ และมุ่งสำรวจดูว่าสิ่งที่จะควบคุมได้โดยรัฐบาลเองน่ะ
ทำงานกันเต็มที่ทุกเรื่องแล้วหรือยัง ซึ่งผมเห็นว่าต้องไม่ละเลย สามเรื่องที่สำคัญ
คือ

1.ดูแลรายได้ของภาคเกษตร
โดยใส่ใจกับราคาสินค้าเกษตรในพืชหลักได้แก่ ข้าว ยางพารา
และปาล์มนำ้มันโดยถ้าท่านกลัววิธีการรับจำนำ
ท่านก็ควรใช้วิธีการใดก็ได้ที่ท่านเชื่อจะเป็นผล โดยไม่ต้องไปหวั่นเกรงว่าจะมีรัฐบาลใจสกปรกในอนาคตมาฟ้องร้องเอาผิดกับท่าน
เพราะนอกจากท่านจะเป็นรัฐาธิปัตย์ แล้วท่านก็ยังไม่เป็นประชานิยมด้วย
เพราะท่านใช้คำว่าประชารัฐแทนอยู่แล้ว

2.การติดตามประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณทั้งงบฯ
ประจำ และงบฯลงทุน ไม่ให้ล่าช้าเหมือนกับทีมบริหารเศรษฐกิจชุดก่อน

3. ประสานงานกับฝ่ายนโยบายการเงินอย่างใกล้ชิดให้อัตราดอกเบี้ย
และอัตราแลกเปลี่ยนเอื้ออำนวยกับศักยภาพในการส่งออก ความสนใจลงทุน
และการดึงดูดการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
โดยพิจารณาเปรียบเทียบอัตราแลกเปลี่ยนกับประเทศคู่แข่ง และคู่ค้าอย่างใกล้ชิด
ไม่ใช่พิจารณาแต่เพียงอัตราแลกเปลี่ยนที่เทียบกับสกุลเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น

ถ้าทำได้ทั้งสามเรื่องหลักดังกล่าว มาตรการทางเศรษฐกิจจึงจะครบวงจร
และน่าจะประคองเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไปได้

แม้ความอยู่รอดของทีมเศรษฐกิจอาจไม่เป็นที่พอใจของคนรักประชาธิปไตย
แต่ถ้าท่านอยู่รอด คงหมายถึงเศรษฐกิจไทยก็รอดด้วย โปรดเอาใจใส่
ในขณะที่เราเอาใจช่วย ก่อนที่สายเกินไป แต่ถ้าทำงานหนักจนครบถ้วน
ครบวงจรแล้วยังไม่เป็นผลสำเร็จ ก็ไม่ใช่ความผิดท่านหรอกครับ  ความไม่เป็นประชาธิปไตยนั่นแหล่ะ คืออุปสรรคของความมั่นใจ
และความมั่นใจคือเงื่อนไขของภาวะเศรษฐกิจที่ดี

นายจักรพงษ์ แสงมณีอดีตกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย
และที่ปรึกษาหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ของรัฐบาล นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

2 ตุลาคม 2558