ยิ่งลักษณ์ ทำจดหมายเปิดผนึก ถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (12 ตุลาคม 2558)
จดหมายเปิดผนึก
เรียน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและนายกรัฐมนตรี
ดิฉันขอใช้โอกาสนี้ ทำจดหมายเปิดผนึกถึงท่าน เพราะดิฉันไม่มีโอกาสได้พบและติดต่อใด
ๆ กับท่านมานับแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ที่ท่านได้เข้ามาเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเวลากว่า ๑ ปีเศษแล้ว ในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว
ดิฉันได้ถูกดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ทั้งที่เป็นการดำเนินนโยบายสาธารณะที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภา
เกี่ยวกับ “นโยบายรับจำนำข้าว” ดังนี้
๑.
สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ดำเนินการถอดถอนดิฉันออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ทั้งๆ ที่ ตำแหน่งดังกล่าวไม่มีอยู่และรัฐธรรมนูญได้สิ้นสุดลงแล้ว
๒. มีการแถลงสั่งฟ้องคดีดิฉันต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ก่อนหน้าที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะมีมติถอดถอนดิฉันเพียง ๑ ชั่วโมง
ทั้ง ๒ กรณี ท่านอาจจะกล่าวได้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับท่านโดยตรง เพราะเป็นเรื่องของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
อัยการสูงสุด และของศาลที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม แต่สิ่งที่ดิฉันจะกล่าวต่อไปนี้ล้วนเกี่ยวกับตัวท่านโดยตรงทั้งสิ้น
คือ
การดำเนินการให้มีการเรียกร้องค่าเสียหายทางคดีแพ่งต่อการดำเนินนโยบายรับจำนำข้าว
ที่ท่านออกคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ ๔๔๘/๒๕๕๘
เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ฉบับลงวันที่
๓ เมษายน ๒๕๕๘ และท่านยืนยันว่า “ผิดก็ว่าไปตามผิด ถูกก็ว่าไปตามถูก หากผิดก็มีกลไกอยู่แล้ว
เรื่องการเรียกร้องค่าเสียหายทางคดีแพ่ง และยืนยันใช้มาตรฐานเดียวกับทุกพวกทุกฝ่าย
เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ”
ดิฉันคาดหวังว่า ท่านคงต้องให้นโยบายต่อคณะกรรมการฯ ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยไม่ละเลยประเด็น
“ความยุติธรรม” ตามกลไกของระเบียบที่มีอยู่อย่างไม่เร่งรีบและไม่รวบรัด ให้โอกาสผู้เกี่ยวข้องโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานอย่างเพียงพอและเป็นธรรม
ตามที่ปรากฏต่อสาธารณะโดยทั่วไปว่าฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลของท่าน
มีความหนักใจที่รัฐต้องฟ้องเรียกค่าเสียหายซึ่งต้องเสียเงินค่าธรรมเนียมศาลเป็นจำนวนมาก แต่ในอดีตที่ผ่านมาถือได้ว่า “ศาล” เป็น
“กลไกตามกระบวนการยุติธรรม” เพื่อการเรียกร้องค่าเสียหายในคดีแพ่ง
ซึ่งต้องใช้สิทธิทางศาลโดยสุจริต
แต่ฝ่ายกฎหมายของท่านกลับ “พลิกมุมกฎหมายและกลไก” ในการเรียกค่าเสียหายใหม่
โดยหากพบว่ามีความผิด รัฐจะไม่ฟ้อง แต่ใช้วิธีให้ท่านออกคำสั่งทางปกครอง
(โดยไม่ต้องเข้าคณะรัฐมนตรี) สั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องชำระหนี้เหมือนคำสั่งยึดทรัพย์
เพียงเพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมในการฟ้องเรียกค่าเสียหายที่จะต้องเสียเงินค่าธรรมเนียมศาล ซึ่งเท่ากับว่าท่านได้ใช้อำนาจหน้าที่ของท่านเสมือนหนึ่งเป็นคำพิพากษาของศาล
เป็นกลไกในการชี้ถูกผิดว่าจะให้ผู้ใดรับผิดชอบในค่าเสียหายต่อการดำเนินนโยบาย รับจำนำข้าว ทั้งที่การพิจารณาคดีของศาลในคดีอาญายังไม่เสร็จสิ้น
ดิฉัน เห็นว่าเรื่องที่ดิฉันกล่าวมาทั้งหมดเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องระหว่างตัวของดิฉันในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรีผู้เคยดูแลการแก้ปัญหาสินค้าข้าว
ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศ
เพื่อให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิผลเป็นประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม
มีกลไกบริหารนโยบาย คือ คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ซึ่งในปัจจุบัน คือ
คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว โดยมีท่านเป็นประธาน
อย่างไรก็ตามที่ดิฉันเสนอว่าควรให้ศาลเป็นผู้พิจารณานั้น เพราะดิฉันเห็นว่าทุกคนควรได้รับ“หลักประกันแห่งความยุติธรรม”
ที่จำต้องมี เพราะการดำเนินนโยบายโครงการรับจำนำข้าวเป็นการกระทำทางการบริหารตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญที่มีผลผูกพันกับส่วนราชการหลายส่วนที่ต้องปฏิบัติงาน
ดังนั้น
เพื่อความโปร่งใสและคงไว้ซึ่งความเป็นกลาง ท่านในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่มีตำแหน่งเป็น
“ประธานกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว และในฐานะนายกรัฐมนตรี” ที่ต้องรับผิดชอบในการแก้ปัญหาในเรื่องข้าวในขณะนี้
ซึ่งอาจเห็นแตกต่างกันในเชิงนโยบายและกลไกในการบริหารนโยบายในเรื่องข้าวในอดีต ที่ในสมัยรัฐบาลดิฉันได้ดำเนินนโยบายดังกล่าวไป จึงมิใช่ “ผู้ที่เป็นกลาง”
แต่เป็น “ผู้มีส่วนได้เสีย” เพราะเห็นต่างกันในนโยบายการแก้ปัญหาในเรื่องข้าว
ดังนั้นการใช้อำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นผู้ตัดสินความถูกผิดโดยการใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีลงนามในคำสั่งทางปกครองเพื่อสั่งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดชำระค่าเสียหายทั้ง
ๆที่ศาลยังไม่มีคำตัดสิน ถือเป็นการขัดต่อ “หลักนิติธรรม”อย่างยิ่ง
ดิฉันจึงเห็นว่าเพื่อให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม ดิฉันขอให้ท่านควรจะได้มีการดำเนินการดังนี้
๑. พิจารณาทบทวน และยุติการดำเนินการใดๆ ที่ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลเสนอ
และดำเนินการให้ท่านใช้อำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรี
และในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าวในปัจจุบัน
ลงนามทำคำสั่งทางปกครองใดๆ อันขัดต่อหลักความเป็นกลาง และเป็นผู้มีส่วนได้เสีย
เพื่อมีคำสั่งให้บุคคลใดชำระหนี้ค่าเสียหาย
อันเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายโครงการรับจำนำข้าว ที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา
แทนการพิจารณาและพิพากษาคดีของศาล
๒. ภายหลังการสอบสวนโดยกระบวนการสอบสวนที่ถูกต้องตามระเบียบ กฎหมาย
และหลักนิติธรรม เสร็จสิ้น หากพบความเสียหาย รัฐเองควรให้หน่วยงานของรัฐฟ้องคดีต่อศาล
เพื่อแสดงให้เห็นว่าท่านมีความยุติธรรมและเที่ยงธรรมต่อทุกคนที่ถูกกล่าวหา
๓. การพิจารณาคดีอาญาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังไม่เสร็จสิ้น
และอายุความในคดียังเหลือเวลาอีกนาน ตามที่ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลแถลง จึงไม่ควรเร่งรีบ
รวบรัด ในการทำสำนวนการตรวจสอบความรับผิดทางละเมิด ควรให้โอกาสผู้เกี่ยวข้องหรือผู้เสียหายได้ชี้แจงข้อเท็จจริง
และโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนอย่างเพียงพอ และเป็นธรรมต่อดิฉัน
ซึ่งดิฉันได้มีหนังสือหลายฉบับมายังท่านและคณะกรรมการฯ แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณาและไม่แจ้งเหตุ
ซึ่งท่านสามารถตรวจสอบความมีอยู่จริงของหนังสือนั้นได้
ทั้งนี้ดิฉันได้มอบหมายให้ทนายความไปยื่นหนังสือถึงท่านในวันอังคารที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา ณ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล และหวังว่าเมื่อท่านได้รับหนังสือแล้ว ท่านคงจะไม่เพิกเฉย
และจะได้พิจารณาด้วยความเป็นธรรม
เพราะท่านได้ยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
ขอบคุณค่ะ
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
อดีตนายกรัฐมนตรี
๑๒
ตุลาคม ๒๕๕๘
ที่มา:https://www.facebook.com/Y.Shinawatra/photos/a.106877456023385.4057.105044319540032/1093054740738980