จดหมายเปิดผนึกจากบุญทรง ยัน นายกฯยิ่งลักษณ์ไม่ผิด ย้ำ คสช.ใช้ม.44 คุ้มครองทุกองค์กรในการระบายข้าว

 จดหมายเปิดผนึกจากบุญทรง ยัน นายกฯยิ่งลักษณ์ไม่ผิด ย้ำ คสช.ใช้ม.44 คุ้มครองทุกองค์กรในการระบายข้าว พิสูจน์ชัดโครงการรับจำนำข้าวถูกใช้เป็นเครื่องมือโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรม ป้องตัวเองไม่ให้ถูกฟ้องกลับ

จดหมายเปิดผนึก

ผมเห็นภาพข่าวนายกฯยิ่งลักษณ์เดินทางไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยความรู้สึกสะเทือนใจ ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ซี่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในการดูแลการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว ผมย่อมรู้ดีกว่าใครว่านายกฯยิ่งลักษณ์ไม่ได้ทำอะไรผิดแต่การที่ท่านต้องถูกดำเนินคดี ถูกถอดถอนและกำลังจะถูกเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่งโดยหัวหน้า คสช ต้องใช้มาตรา 44 ออกคำสั่ง คสช ที่ 39/2558 คุ้มครองทุกคนและทุกองค์กรที่ถูกใช้ให้มาจัดการกับท่านและพวกผมในเรื่องข้าว ย่อมเห็นได้อย่างชัดเจนว่านายกฯยิ่งลักษณ์และโครงการรับจำนำข้าวคือเหยื่อในทางการเมือง ผมจึงควรพูดอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้

1. การกล่าวหาว่านายกฯยิ่งลักษณ์ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว จนทำให้ประเทศชาติเกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงนั้น เป็นเพียงข้ออ้างเพื่อทำลายนายกฯยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยปูทางไปสู่การยึดอำนาจการปกครองอย่างแท้จริงโดยใช้ชาวนาเป็นตัวประกัน นายกฯยิ่งลักษณ์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเป็นผู้รับผิดชอบโครงการโดยตรง กล่าวคือ (1) การรับจำนำมีคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการรับจำนำข้าวเป็นผู้รับผิดชอบและ (2) การระบายข้าวมีคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวเป็นผู้รับผิดชอบ จากโครงสร้างดังกล่าวนายกฯยิ่งลักษณ์จึงไม่ควรถูกลากโยงเข้ามาเกี่ยวข้องในคดีเลย เพราะเป็นเพียงผู้กำกับดูแลนโยบายในภาพรวมเท่านั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการรับจำนำหรือการระบายซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของคณะอนุกรรมการดังกล่าว นายกฯยิ่งลักษณ์จึงมิได้ปล่อยปละละเลยใดๆ ในเรื่องนี้ เพราะได้ดำเนินการด้วยความรอบคอบแล้วด้วยการติดตามกำชับให้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย มติ ระเบียบและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องรวมทั้งได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามตรวจสอบและป้องกันไม่ให้มีการทุจริต ส่วนผมขอยืนยันว่าได้ดำเนินการไปโดยถูกต้องตรงตามมติ ระเบียบและแนวปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวนี้ทุกประการ

2. ในส่วนของการรับจำนำไม่มีประเด็นกล่าวหามากนักเพราะได้จ่ายเงินให้ชาวนาโดยตรงผ่าน ธกส. คงเหลือเพียงการขายข้าวที่ถูกนำมาโจมตีเป็นประเด็นการเมืองโดยเฉพาะการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G2G) ให้กับ Guangdong Stationary & Sporting Goods Imp. & Exp. Corp. หรือ GSSG และ Hainan Grain and Oil Industrial Trading Company หรือ Hainan โดยกล่าวหาว่าทั้งสองบริษัทมิได้มีฐานะเป็นรัฐและมีการสมยอมเรื่องราคา นั้น ผมขอชี้แจง ดังนี้

(1) ระเบียบและแนวปฏิบัติที่ถือว่ารัฐ (G)ให้ครอบคลุมถึงรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลของประเทศผู้ซื้อมีขึ้นตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตามรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลังครั้งที่ 5/2552 วันที่ 18 มิถุนายน 2552 โดยกรมการค้าต่างประเทศจะเป็นผู้ตรวจสอบและพิจารณาคุณสมบัติของผู้เสนอซื้อว่ามีฐานะเป็นรัฐหรือไม่ ซึ่งถือเป็นงานประจำของกรมการค้าต่างประเทศที่ทำกันมาทุกรัฐบาล

(2) กรมการค้าต่างประเทศตรวจสอบพบว่า GSSG และ Hainan เป็นรัฐวิสาหกิจของมณฑลโดยรัฐบาลจีนถือหุ้น 100% จึงถือเป็นรัฐตามมติที่ประชุมดังกล่าว จากนั้นได้มีการทำสัญญาแบบ G2G ตามแนวปฏิบัตินี้หลายครั้ง เช่นเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2553 กรมการค้าต่างประเทศได้เป็นคู่สัญญาซื้อขายแป้งมันสำปะหลังแบบ G2G กับ Guangxi Mingyang Biochemical Science & Technology ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของมณฑล กระทั่งล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ก็ได้ทำสัญญาขายยางแบบรัฐต่อรัฐระหว่างองค์การสวนยางกับ China Hainan Rubber Industry Group Co., Ltd. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของมณฑลเช่นกัน ดังนั้น GSSG และ Hainan จึงมีฐานะเป็นรัฐเช่นเดียวกันกับอีกสองรัฐวิสาหกิจในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์และอยู่ในเครือเดียวกันกับรัฐวิสาหกิจที่มาซื้อยางสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์

(3) ท่านทั้งหลายทราบหรือไม่ว่า วิธีการที่บริษัท Guangxi เสนอขอซื้อมันจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์และวิธีการที่บริษัท China Hainan เสนอซื้อยางจากรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ตั้งแต่ต้นจนจบทำโดยวิธีเดียวกันกับที่ GSSG และ Hainan ขอซื้อข้าวจากรัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ ไม่เหมือนกันเพียงอย่างเดียวคือการซื้อขายของทั้งสองรัฐบาลไม่ถูก ป.ป.ช. กล่าวหาว่ามีการสมยอมเรื่องราคาแต่ผมถูกกล่าวหาครับ

(4) ส่วนที่อ้างว่าพบหลักฐานเด็ดเป็นเช็คจากธนาคารภายในประเทศนำมาชำระค่าข้าวแสดงว่าไม่มีการซื้อขายจริงเพราะไม่ได้ชำระเป็น L/C จากต่างประเทศ จึงสงสัยกันว่าน่าจะไม่มีการส่งออกนั้น ขอเรียนว่าผู้ซื้อข้าวเพื่อส่งออกสามารถชำระเงินเป็นเช็ค หรือเงินสดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเปิด L/C อย่างเดียว ซึ่งเป็นไปตามแนวปฏิบัติของกระทรวงพาณิชย์ไม่ใช่หลักเกณฑ์ที่ผมคิดขึ้นมาเอง ทั้งนี้กรมการค้าต่างประเทศได้กำหนดรูปแบบการชำระเงินไว้ 3 วิธี คือ 1. L/C ชนิดเพิกถอนไม่ได้ 2. การโอนเงินผ่านธนาคาร (SWIFT) หรือ 3.จ่ายเป็นเช็คเงินสดในรูปแบบของเงินบาทก่อนรับมอบข้าวในแต่ละงวดและเป็นวิธีที่กรมการค้าต่างประเทศเริ่มปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะแล้ว

(5) ข้อโจมตีที่ว่าการที่รัฐบาลไม่สามารถระบายข้าวหรือระบายในราคาที่ต่ำกว่าทุนทำให้ประเทศขาดทุนมหาศาลนั้น เป็นข้อกล่าวหาที่ไม่ถูกต้องเพราะในความเป็นจริงข้าวเป็นสินค้าที่เสื่อมสภาพตลอดเวลา การขายข้าวหรือสินค้าเกษตรได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่รับจำนำจากเกษตรกรจึงถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์หรือรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ก็ขายได้ต่ำกว่าราคาทุนเช่นกัน และจะว่าไปแล้วราคาที่แต่ละรัฐบาลจำหน่ายข้าวได้ก็ไม่แตกต่างกันหากเทียบราคาขายต่อหน่วย ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าโครงการจำนำข้าวไม่ได้มีขึ้นเพื่อการแสวงหาผลกำไรให้กับรัฐ แต่เป็นการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรเพื่อช่วยเหลือชาวนาอันเป็นหน้าที่ๆ ทุกรัฐบาลต้องกระทำตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การขายข้าวได้ในราคาต่ำจึงไม่ใช่ตัวชี้วัดว่าโครงการจำนำข้าวล้มเหลวแต่อย่างใด นอกจากนี้การโจมตีเรื่องสต็อกข้าวของรัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ว่าจำนวนมากนั้นก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะรัฐบาลที่เข้ามาใหม่ต้องรับหน้าที่บริหารจัดการข้าวที่สะสมมาจากรัฐบาลก่อนหน้านี้ด้วย เมื่อรวมกับข้าวล็อตใหม่ที่นำมาเข้าโครงการในสมัยของตนตัวเลขข้าวในสต๊อกย่อมต้องสูงขึ้นเป็นธรรมดา เช่น ในสมัยรัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ก็ต้องบริหารจัดการข้าวที่เหลือสะสมมาจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เช่นเดียวกับที่รัฐบาล พล.อ ประยุทธ์ก็ต้องรับผิดชอบระบายข้าวที่สะสมมาจากยุครัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ด้วยเช่นกันจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ดังนั้น ที่อ้างกันว่าโครงการรับจำนำข้าวทำให้ประเทศเสียหายมากเพราะรัฐบาลขายข้าวไม่ได้ราคา หรือเพราะมีข้าวเหลือในสต็อกเป็นจำนวนมาก จึงเป็นการกล่าวหาที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงและที่สำคัญการระบายข้าวที่กล่าวมาแล้วตั้งแต่ต้นจนจบถูกดำเนินการโดยคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับนายกฯยิ่งลักษณ์ทั้งสิ้น

(6) กรณีที่มีการกล่าวหาว่าข้าวขาดหายไปจากโกดังก็ดี หรือข้าวเสื่อมสภาพเสียหายก็ดี อยู่ในความรับผิดชอบของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการรับจำนำข้าว มีเจ้าของโกดังที่เป็นผู้รับฝากเก็บสินค้าทำหน้าที่ดูแลปริมาณและรักษาคุณภาพข้าวให้เป็นไปตามสัญญาฝากเก็บโดยมีหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาจากธนาคารมอบไว้กับ อตก. หรือ อคส. แล้วแต่กรณี ดังนั้น หากมีความเสียหายใดๆ เกิดขึ้นรัฐบาลก็สามารถเรียกร้องเอาจากผู้รับฝากเก็บหรือจากธนาคารผู้ค้ำประกันได้จึงไม่ควรนำมาเป็นประเด็นการเมืองอีกต่อไป

(7) จากข้อเท็จจริงที่กล่าวมาจะเห็นว่าการรับจำนำและระบายข้าวสารได้กระทำตามมติ ระเบียบและแนวทางปฏิบัติที่มีอยู่แล้วทุกประการ อีกทั้งนายกฯยิ่งลักษณ์ก็ไม่ได้ปล่อยปละละเลยใดๆ ตามที่พยายามกล่าวหากัน ถ้าจะอ้างว่าเป็น G2G ปลอมก็ปลอมมาตั้งแต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์จนถึงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ หรือจะกล่าวหาว่าเป็นการสมยอมเรื่องราคาหรือฮั้วก็ทำเหมือนกับทั้งสองรัฐบาล ส่วนเรื่องการรับเงินค่าซื้อขายเป็นเช็คก็เป็นระเบียบที่ทำกันมาก่อนหน้ารัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์เพียงแต่พวกผมเท่านั้นที่ถูกดำเนินคดี จนท้ายที่สุดเมื่อหัวหน้า คสช ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช ที่ 39/2558 คุ้มครองทุกคนและทุกองค์กรที่ถูกใช้ให้มาจัดการในเรื่องนี้คือหลักฐานที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าโครงการรับจำนำข้าวถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อทำลายล้างนายกฯยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยโดยไม่ต้องคำนึงถึงวิธีการ ความถูกต้องและไม่มีความเป็นธรรมใดๆ จึงต้องออกคำสั่งมาคุ้มครองตัวเองและบริวารไม่ให้ถูกฟ้องกลับ แต่การที่นายกฯยิ่งลักษณ์และผมเป็นเหยื่อทางการเมืองก็ยังสามารถต่อสู้คดีในศาลได้แม้ในชั้น ป.ป.ช. จะไม่ได้รับโอกาสและความเป็นธรรมก็ตาม แต่คนที่น่าเห็นใจที่สุดที่ต้องมารับกรรมในเรื่องนี้คือเกษตรกรและชาวนาที่ได้รับผลกระทบจากการใช้โครงการรับจำนำข้าวเป็นเครื่องมือเพื่อทำลายหรือกำจัดนายกฯยิ่งลักษณ์ออกไปจากการเมือง

บุญทรง เตริยาภิรมย์
1 พฤศจิกายน 2558