พท.แถลงการณ์ค้านใช้ ม.44 คดีจำนำข้าว

แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย

       ตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ออกคำสั่งที่ 39/2558 เรื่อง การคุ้มครองการบริหารการจัดการข้าวคงเหลือในการดูแลรักษาของรัฐและการดำเนินการต่อผู้รับผิด ลงวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2558 โดยอ้างความจำเป็นที่ต้องบริหารจัดการและการเก็บรักษาข้าวที่คงเหลือไม่ให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเพิ่มขึ้น รวมทั้งต้องดำเนินการต่อผู้รับผิดเพื่อชดใช้ความเสียหายแก่รัฐ อันเป็นความจำเป็นเพื่อป้องกันและระงับความเสียหายต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ นั้น
พรรคเพื่อไทยเห็นว่ายังไม่มีเหตุผลและความจำเป็นเพียงพออีกทั้งเงื่อนไขในการออกคำสั่งยังไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 จึงขอคัดค้านการออกคำสั่งดังกล่าวด้วยเหตุผล ดังนี้
       1. การบริหารจัดการข้าวไม่ว่าจะเป็นการเก็บรักษา การระบาย หรือการดำเนินการต่อผู้รับผิดเพื่อชดใช้ความเสียหายแก่รัฐ ถือเป็นงานประจำของฝ่ายบริหารที่ได้กระทำมาอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาช้านานของทุกรัฐบาลรวมทั้งมีหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบดำเนินการอย่างชัดเจน เนื่องจากเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนสูงสุดอันเป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กรณีจึงไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ที่มีความเร่งด่วนหรือเป็นการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ที่นำมาเป็นข้ออ้างในการออกคำสั่งแต่อย่างใด
       2. คำสั่งตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ให้อำนาจแก่คนคนเดียวในการออกคำสั่งในทางใดก็ได้ไม่ว่าจะเป็นทางบริหาร นิติบัญญัติหรือตุลาการ ถือเป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างชัดแจ้งที่จะต้องหลีกเลี่ยงการใช้หรือพึงใช้ด้วยความระมัดระวัง แต่เหตุผลที่อ้างในการออกคำสั่งเพื่อคุ้มครองบุคคล คณะบุคคล คณะทำงาน คณะกรรมการ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่บริหารจัดการข้าวของรัฐที่กระทำไปโดยสุจริต ให้พ้นจากความรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย นั้น ไม่มีเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องออกเป็นคำสั่งดังกล่าวอีก เนื่องจากผู้ที่กระทำการไปโดยสุจริตย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในขณะนี้แล้ว
       3. การออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าว ยังขัดกับหลักการตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 63/2557 เรื่อง นโยบายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมของรัฐ ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2557 ที่ผู้ออกคำสั่งประกาศว่า “ประชาชนต้องได้รับความเป็นธรรมภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างทั่วถึง โดยเสมอภาคและเท่าเทียมกันในกระบวนการยุติธรรม หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมจะต้องปฏิบัติงานด้วยความเที่ยงธรรม มีบรรทัดฐานที่ชัดเจนที่สาธารณชนสามารถตรวจสอบได้ หลีกเลี่ยงการการดำเนินการใดๆ ที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดในการบังคับใช้กฎหมาย อันจะนำไปสู่ความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคม ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรมและไม่มีการเลือกปฏิบัติ” แต่ผลของคำสั่งที่ 39/2558 ที่ปิดกั้นโอกาสของผู้เสียหายไม่ให้เรียกร้องความชอบธรรมด้วยการใช้สิทธิทางศาลถือเป็นการละเมิดเสรีภาพในกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง คำสั่งดังกล่าวจึงขัดต่อหลักนิติธรรมและเป็นการเลือกปฏิบัติ ทำให้ปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคมขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
       4. ข้ออ้างในการยึดอำนาจการปกครอง ดังปรากฏในประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2557 เรื่อง การควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คือ “ประชาชนในชาติเกิดความรัก ความสามัคคีเช่นเดียวกับห้วงที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทุกพวก ทุกฝ่าย” รวมถึงถ้อยแถลงทางวาจาของผู้ออกคำสั่งที่แสดงต่อสาธารณะในแทบทุกโอกาสเรียกร้องให้ทุกคนเคารพกฎหมายและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จึงขัดกันโดยสิ้นเชิงกับการออกคำสั่งที่ 39/2558 ที่ผู้ออกคำสั่งกับพวกกลับเป็นฝ่ายหลีกเลี่ยงการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเสียเอง
       5. ผลการศึกษาปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยจากทุกสถาบันเห็นตรงกันว่า มีสาเหตุสำคัญมาจากการเมือง การปกครอง กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม มีการเลือกปฏิบัติในลักษณะที่เรียกกันว่าสองมาตรฐาน คณะรักษาความสงบแห่งชาติเองก็ตระหนักในปัญหาดังกล่าวจึงได้ออกประกาศฉบับที่ 63/2557 เรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพและดำเนินการให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมและไม่มีการเลือกปฏิบัติ ดังนั้น การออกคำสั่งที่ 39/2558 นอกจากจะเป็นการละเมิดต่อหลักนิติธรรมและเลือกปฏิบัติแล้ว ยังเป็นการทำลายหลักการที่ตนเองประกาศทั้งด้วยวาจาและลายลักษณ์อักษร เท่ากับหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในสังคมไทยเสียเอง
       6. ประการสำคัญที่สุดคือการอ้างคำว่า “สุจริต” แล้วออกกฎหมายหรือคำสั่งยกเว้นความรับผิดไว้ล่วงหน้า เป็นการแทรกแซงอำนาจตุลาการในกระบวนการยุติธรรมและกลายเป็นสิ่งที่ทำจนเป็นบรรทัดฐาน หน้าที่การพิสูจน์การกระทำว่าสุจริตหรือไม่ต้องเป็นของคนกลางคือศาลหรือสถาบันตุลาการที่ใช้อำนาจแทนประชาชน ไม่ใช่ให้ตัวผู้กระทำซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียเป็นผู้พิสูจน์หรือบอกกับสังคมเสียเองดังที่ทำกันมาโดยตลอด การออกคำสั่งที่ 39/2558 จึงเป็นเช่นเดียวกันกับการยึดอำนาจการปกครองที่อ้างว่ากระทำไปโดยสุจริตเพื่อต้องการแก้ไขปัญหาให้ประเทศ แต่กลับนิรโทษกรรมตนเองและบริวารให้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาไว้ล่วงหน้าหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากเจ้าของอำนาจ หากสุจริตจริงดังข้ออ้างย่อมจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” ดังนั้น คำว่า “สุจริต” จึงเป็นเพียงวาทกรรมที่นำมาเป็นข้ออ้างในการกระทำตามอำเภอใจเท่านั้น
       พรรคเพื่อไทยจึงเรียกร้องให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติยกเลิกการออกคำสั่งดังกล่าว เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติและเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างทั่วถึง โดยเสมอภาคและเท่าเทียมกัน อันจะนำมาซึ่งความยุติธรรมที่เป็นหัวใจสำคัญของความปรองดองที่ทุกฝ่ายในสังคมไทยปรารถนาให้เกิดขึ้น

พรรคเพื่อไทย
4 พฤศจิกายน 2558