‘เพื่อไทย’ งง ‘วิษณุ’ ออกคำสั่งปกครอง ปชช.ได้ประโยชน์อย่างไร
หน.ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ชี้ใช้คำสั่งทางปกครองสรุปความเสียหายจำนำข้าว เรียกให้ชำระเอง เหมือนมัดมือชก อัดเป็นผลร้ายกับผู้ถูกกล่าวหา
นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ในลักษณะเหมือนจะยอมรับถึงการดำเนินการเรียกค่าเสียหายต่อผู้ต้องรับผิดในโครงการรับจำนำข้าวว่า อาจทำได้ 2 ทางคือ การฟ้องคดีต่อศาลเพื่อขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย และอีกวิธีคือการออกคำสั่งทางปกครองเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหาย ตามที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมไปนั้น ถือเป็นการยอมรับในวิธีการตามกฎหมายที่จะดำเนินการในเรื่องนี้แล้วว่า มีทางเลือกได้สองแนวทางว่า จะเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา มิใช่เลี้ยวได้ทางเดียว แต่นายวิษณุกลับระบุว่า รัฐบาลจะเลือกใช้การออกคำสั่งทางปกครองโดยอ้างว่าเป็นวิธีการที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุดนั้น
ตนเห็นว่า เหตุผลมีความคลุมเครือ ฟังแลัวไม่เข้าใจและไม่น่าจะเป็นเหตุผลตามเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของกฎหมาย เพราะคำว่าประชาชนตามที่นายวิษณุกล่าวนั้น หากจะหมายถึงประชาชนทั่วไปก็ไม่รู้ว่าจะได้ประโยชน์ในแง่ใด แต่หากนายวิษณุหมายถึงเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ถูกกล่าวหามากกว่า หากเป็นเช่นนี้ก็คงจะเป็นความเห็นที่คลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอย่างมาก เพราะการดำเนินคดีนั้นหลักสำคัญคือ ต้องใช้วิธีการที่จะให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหา และเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้มีโอกาสต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งวิธีการที่ว่านี้คือ การใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้ศาลซึ่งเป็นคนกลางได้พิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย
ทั้งนี้ การใช้วิธีออกคำสั่งทางปกครองนั้น นอกจากประเด็นที่ว่าจะใช้คำสั่งทางปกครองกับการทำตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาได้หรือไม่แล้ว ยังเป็นการที่รัฐออกคำสั่งฝ่ายเดียวเรียกร้องให้ผู้ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย หากผู้นั้นไม่ใช้รัฐก็มีอำนาจใชัมาตรการบังคับทางปกครองในการยึดทรัพย์เพื่อบังคับชำระหนี้นั้นได้ แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งและฟ้องคดีต่อศาลได้ก็ตาม แต่ภาระต่างๆ เช่นเรื่องค่าธรรมเนียมศาล กลับต้องตกเป็นภาระกับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งกรณีดังกล่าวควรจะใช้ในกรณีที่ความผิดและความรับผิดในคดีมีความชัดเจนแน่นอนแล้วเท่านั้น แต่เรื่องจำนำข้าวยังไม่มีความชัดเจนในหลายประเด็น ตั้งแต่ประเด็นแรกที่ว่า การที่นายกรัฐมนตรีปฎิบัติตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่จะต้องรับผิดทางละเมิดได้หรือไม่ ประเด็นเรื่องกระบวนการตรวจสอบความเสียหายก็ยังไม่ชัดเจน
และมีข้อโต้แย้งมาก การถือเอาการขาดทุนว่าเป็นความเสียหายทั้งที่รู้ ๆ กันอยู่ว่าเป็นการช่วยเหลือชาวนาการระบุจำนวนค่าเสียหายที่ไม่มีที่มาที่ไปที่ชัดเจน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ควรให้ทั้งสองฝ่ายไปพิสูจน์กันที่ศาล การใช้คำสั่งทางปกครองสรุปความเสียหายและเรียกให้ชำระเองจึงเป็นเหมือนมัดมือชกอีกฝ่าย ซึ่งเป็นผลร้ายกับผู้ถูกกล่าวหามากกว่า ไม่ใช่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเหมือนที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด