แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย เรื่อง โครงการอุทยานราชภักดิ์

แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย

เรื่อง โครงการอุทยานราชภักดิ์

  ตามที่พรรคเพื่อไทยได้มีแถลงการณ์
ฉบับลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2558, 19 พฤศจิกายน 2558 และ 24
พฤศจิกายน 2558  เรียกร้องให้รัฐบาลแถลงรายละเอียดและมาตรการดำเนินการต่างๆ
กรณีมีการทุจริตในโครงการอุทยานราชภักดิ์ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ซึ่งรับรู้และสนับสนุนโครงการอุทยานฯ มาตั้งแต่ต้น
แสดงความรับผิดชอบและดำเนินการตรวจสอบหาผู้รับผิดชอบ ด้วยความโปร่งใส

ไม่เห็นแก่ผู้ใดนั้น ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ
ได้มีคำสั่งให้ปลัดกระทรวงกลาโหม (พลเอกปรีชา จันทร์โอชา)
แต่งตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีโครงการอุทยานฯ ทั้งๆ
ที่ได้ปฏิเสธและยืนยันต่อสาธารณะมาโดยตลอดว่า โครงการอุทยานฯ ไม่เกี่ยวข้องกับทางราชการและดำเนินการโดยโปร่งใส

  ณ
บัดนี้ ได้ปรากฏข้อเท็จจริงสู่สาธารณะเพิ่มเติมขึ้นจากเดิม พรรคเพื่อไทยจึงเห็นเป็นความจำเป็นที่จะต้องแถลงข้อเท็จจริงต่อสาธารณะ
รวมทั้งเสนอข้อเรียกร้องต่อผู้รับผิดชอบ
ดังกล่าว คือ

1. 
ปรากฏข้อเท็จจริงกรณี นายชัยสิทธิ์  ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
(คตง.) เปิดเผยว่า เงินที่ใช้ในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์
มีส่วนหนึ่งมาจากงบกลาง จำนวน
63.57 ล้านบาท 
โดยผู้ที่รับผิดชอบในการสั่งจ่ายเงินคือ แผนกสั่งจ่ายงบประมาณ สำนักงานปลัดบัญชีกองทัพบก
จึงเห็นได้ว่าโครงการอุทยานฯ ได้ใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งขัดแย้งกับคำชี้แจงของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ว่าโครงการอุทยานฯ ไม่ได้ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินแต่อย่างใด 

2. 
ปรากฏข้อเท็จจริงว่า งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรและดำเนินการก่อสร้าง
มีราคาสูงผิดปกติ
เช่น งานสร้างป้ายทางเข้า (ป้ายชื่อ) ใช้งบประมาณถึง 5,031,700 บาท
งบประมาณสร้างอาคารรักษาความปลอดภัย 2,254,300 บาท งานก่อสร้างรั้วรอบบริเวณภายในอุทยานราชภักดิ์
ใช้งบประมาณถึง 9,343,500 บาท เป็นต้น

3.  ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ศาลทหารได้ออกหมายจับที่
33/2558 และ 35/2558 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน
2558
และที่47/2558 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 ให้จับกุมดำเนินคดีกับพันเอกคชาชาติ
บุญดีและพลตรีสุชาติ  พรมใหม่ สำหรับพลตรีสุชาตินั้นเป็นกรรมการและเลขานุการมูลนิธิราชภักดิ์
ซึ่งมีพลเอกอุดมเดช สีตบุตร เป็นประธานมูลนิธิฯ
 
อีกทั้งเคยทำหน้าที่นายทหารฝ่ายเสนาธิการของพลเอกอุดมเดชมาตั้งแต่ครั้งเป็นแม่ทัพกองทัพภาคที่
1
จากนั้นได้รับการแต่งตั้งเป็น ผบ.ร.
11 รอ.พล1 ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการทหารคุมหน่วยรบที่สำคัญยิ่งของกองทัพบกและครั้นเมื่อพลเอกอุดมเดชกำลังจะเกษียณอายุ
ก็ได้เลื่อนตำแหน่งให้กับพันเอกสุชาติ พรมใหม่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ อัตราพลตรี

สำหรับพันเอกคชาชาติ บุญดีนั้น พลเอกอุดมเดชได้แต่งตั้งให้เป็น
ผบ.กรมทหารพรานที่ 36 ทภ.3 และจากนั้นได้ย้ายให้มาดำรงตำแหน่ง
ผบ.ป.11 รอ.ทภ.1
ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการทหารที่มีความสำคัญในกองทัพบกเช่นกัน และสุดท้ายเมื่อพลเอกอุดมเดชใกล้เกษียณอายุ
ก็ได้ออกคำสั่งเลื่อนพันเอกคชาชาติเป็นรองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่
11 แต่เมื่อพลเอกธีรชัย นาควานิช มาดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.ได้ยกเลิกคำสั่งพร้อมส่งตัวพันเอกคชาชาติ
บุญดี กลับกองทัพภาคที่ 3 โดยเหตุนี้ทั้งพลตรีสุชาติ พรมใหม่และพันเอกคชาชาติ
บุญดี จึงเป็นนายทหารที่มีความใกล้ชิดกับพลเอกอุดมเดช ทำหน้าที่ประหนึ่งนายทหารคนสนิท
และได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่พิเศษต่างๆ มากมายนอกเหนือจากตำแหน่งทางทหารที่ดำรงตำแหน่งอยู่
เช่น โครงการอุทยานราชภักดิ์ที่พลตรีสุชาติถูกแต่งตั้งให้เป็นกรรมการและเลขานุการมูลนิธิราชภักดิ์

พรรคเพื่อไทยเห็นว่า
ข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อสาธารณะเพิ่มเติมดังที่กล่าวมาในข้อ 1 ถึงข้อ 3 ชี้ให้เห็นว่าโครงการอุทยานฯ
ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของทางราชการ มีการทุจริตเกิดขึ้นอย่างชัดเจน
การปฏิเสธความรับผิดชอบของผู้บังคับบัญชาในระดับชั้นต่างๆ โดยลำดับมา 
จึงเป็นความบกพร่องและไม่รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น 

พรรคเพื่อไทยจึงมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

1) 
พลเอกอุดมเดช สีตบุตร ควรพิจารณาตัวเองด้วยการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อพลตรีสุชาติและพันเอกคชาชาติถูกกล่าวหาว่ามีความผิดตามมาตรา
112 และ 113 ตลอดจนความผิดทางอาญาอื่นๆ พลเอกอุดมเดชจึงมีความมัวหมองอย่างยิ่งที่อาจจะถูกมองว่าเกี่ยวพันกับเรื่องต่างๆ
ที่กำลังถูกกล่าวหาอยู่ 
พลเอกอุดมเดชในฐานะที่เคยดำรงตำแหน่ง ผบ.ร.21 และ ผบ.ทบ.
และการเป็นราชองครักษ์ จึงย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าเพื่อความสง่างาม
เพื่อดำรงศักดิ์ศรีของกองทัพบกและเพื่อรักษาไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพ  พลเอกอุดมเดชไม่อาจดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมได้อีกต่อไปแม้แต่น้อย
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและอดีต ผบ.ทบ., พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ  รองนายกรัฐมนตรี  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและอดีต
ผบ.ทบ.และพลเอกอุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมและอดีต ผบ.ทบ.
จะต้องร่วมกันตัดสินใจเพื่อดำรงไว้ซึ่งความจงรักภักดีของกองทัพบก ที่มีต่อสถาบัน
อย่างหาที่สุดมิได้ ให้จนได้

2) 
เมื่อปรากฏว่ามีการใช้งบกลางของรัฐบาล
และรัฐบาลมีมติ ครม.มอบหมายให้กองทัพบกเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
จึงมีความชัดเจนว่าโครงการอุทยานฯ อยู่ในความรับรู้เห็นชอบของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลมาตั้งแต่ต้น
อีกทั้งยังมีข่าวภาพทางสื่อบ่งบอกว่า นายกรัฐมนตรีมีความสนิทสนมกับเซียนพระผู้รับจ้างถึงขนาดไปแสดงความยินดีเมื่อบุคคลนั้นได้รับเลือกตั้งเป็นนายก
อบต.ในขณะที่ตนเองดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.  สิ่งที่นายกรัฐมนตรีแสดงออกมาโดยตลอดเกี่ยวกับโครงการอุทยานราชภักดิ์
จึงสวนทางกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น มีพฤติกรรมปกปิด ปฏิเสธความรับผิดชอบ ในฐานะที่นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งประธานกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติของ
คสช.เช่นเดียวกับรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พรรคเพื่อไทยจึงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีรับผิดชอบกับกรณีดังกล่าว
ในฐานะที่รัฐบาลมีนโยบายสำคัญที่แถลงต่อสาธารณะว่า จะปกป้องสถาบันฯ และจะป้องกันปราบปรามการทุจริต

นอกจากนั้น รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งปวง
จะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อการกระทำที่เกิดขึ้น

3) 
เมื่อมีพฤติการณ์ว่ามีการทำผิดกฎหมายเกิดขึ้น มีการแสวงหาประโยชน์จากโครงการ ย่อมเป็นอำนาจหน้าที่ของ
ป.ป.ช. , ส.ต.ง. , ส.ต.ช. , กรมสอบสวนคดีพิเศษ , ป.ป.ง.
ที่จะต้องเข้ามาตรวจสอบโดยพลัน
ทั้งนี้การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่งให้ปลัดกระทรวงกลาโหม
(พลเอกปรีชา จันทร์โอชา) แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง
ย่อมมีปัญหาในทางหลักการว่าจะเป็นการสอบสวนด้วยความโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม
ปราศจากการแทรกแซงใดๆ และจะเป็นที่ยอมรับของสังคมหรือไม่ ที่ถูกต้องควรมอบหมายหน่วยงานที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงให้เข้ามาตรวจสอบ
จึงจะมีความถูกต้องและเป็นที่ยอมรับได้มากกว่า

          พรรคเพื่อไทย

         27 พฤศจิกายน 2558