“แด่… หลักนิติธรรม” โดย วัฒนา เมืองสุข

เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2559 ศาลปกครองกลางได้อ่านคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ในคดีที่ผมฟ้องหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) เพื่อขอให้ศาลพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่ง คสช. ที่ห้ามผมเดินทางออกนอกประเทศ โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลางที่เห็นว่า ประกาศและคำสั่งที่ห้ามผมเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเป็นไปตามมาตรา 47 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่บัญญัติให้เป็นประกาศและการปฏิบัติที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด การที่ศาลปกครองไม่รับคำฟ้องของผมไว้พิจารณาจึงชอบแล้ว

ผมมีความเห็นด้วยความเคารพว่า แม้กลุ่มบุคคลที่เรียกตัวเองว่า คสช. จะได้ใช้กำลังคนและอาวุธยึดอำนาจการปกครองไปเป็นของตนเองตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 แล้วก็ตาม แต่เมื่อกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญเพื่อใช้ปกครองประเทศเป็นการชั่วคราว และต่อมาได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แล้ว ก็เท่ากับ คสช. ยอมตนอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอันถือเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ที่บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฏ หรือข้อบังคับใดจะขัดหรือแย้งมิได้ หลักการอันสำคัญยิ่งที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 4 คือ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้วย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้” ประกาศและคำสั่งที่ห้ามผมเดินออกนอกราชอาณาจักร เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการเดินทางอันเป็นสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลที่เคยได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาทุกฉบับ จึงขัดต่อประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองอันเป็นกฎหมายระหว่างประเทศของสหประชาชาติที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ที่เป็นพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวจึงไม่อาจใช้บังคับได้

ประเทศไทยเป็นสังคมนิติรัฐหรือสังคมที่ปกครองด้วยกฎหมายที่อยู่บนหลักนิติธรรม ไม่ใช่หลักอำเภอใจบุคคล บทบัญญัติหรือการกระทำใดที่ขัดกับหลักนิติธรรมย่อมใช้บังคับมิได้ โดยมีศาลที่มีความเป็นอิสระเป็นผู้ควบคุมและตรวจสอบหลักนิติธรรมดังกล่าว ที่สำคัญคือประกาศหรือคำสั่ง คสช. ที่มีขึ้นโดยอ้างตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์นั้น เป็นการใช้อำนาจที่ได้มาโดยไม่ชอบเพราะใช้กำลังคนและอาวุธบีบบังคับให้ได้มา การใช้อำนาจของ คสช. จึงต้องกระทำไปเพื่อประโยชน์สาธารณะไม่ใช่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ผลจากการที่ศาลปกครองปฏิเสธที่จะตรวจสอบการใช้อำนาจของ คสช. ที่แม้จะละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยอ้างเพียงบทบัญญัติของมาตรา 47 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวคุ้มครองไว้ แต่มิได้พิจารณาถึงเนื้อหาสาระและการกระทำตามประกาศหรือคำสั่งว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ก็เท่ากับเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหารว่ามีอำนาจที่จะกระทำการใดๆ ก็ได้อันจะทำให้วงจรรัฐประหารเกิดขึ้นในสังคมไทยไม่มีที่สิ้นสุด การยอมรับอำนาจที่เกิดจากการใช้กำลังและอาวุธว่าอยู่เหนือความชอบธรรมใดๆ จะนำไปสู่การใช้กำลังอาวุธเข้าตัดสินกันแทนที่จะยุติด้วยคำวินิจฉัยของศาลที่ตั้งอยู่บนหลักนิติธรรม

ผมเป็นนักกฎหมายคนหนึ่งที่มีความละอายในสุภาษิตกฎหมายละตินที่ว่า “กฎหมายหมดเสียง เมื่ออยู่ท่ามกลางอาวุธ” (Silent leges inter arma) เพราะมันแสดงให้เห็นว่านักกฎหมายเป็นพวกเอาตัวรอดยอมก้มหัวให้กับอาวุธจึงได้เกิดสุภาษิตดังกล่าว เช่นเดียวกับที่ผมไม่ชอบคำพังเพยไทยที่ว่า “รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” อย่างไรก็ตามในวงการยุติธรรมก็ยังมีเรื่องที่ทำให้ผมภาคภูมิใจกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดของประเทศฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1962 เพิกถอนอำนาจของประธานาธิบดีที่แม้จะเป็นไปตามมาตรา 16 ของรัฐธรรมนูญของประเทศฝรั่งเศสที่ผ่านการออกเสียงลงประชามติมาแล้วก็ตาม เนื่องจากการใช้อำนาจของประธานาธิบดีนั้นขัดต่อหลักกฎหมายทั่วไปหรือหลักนิติธรรมนั่นเอง ส่วนคนไทยผมมีความภาคภูมิใจในวีรกรรมของนายครอง จันดาวงศ์ นักโทษการเมืองผู้ไม่ยอมก้มหัวให้กับเผด็จการแม้ในวาระสุดท้ายของชีวิตยังเปล่งวาจาจากหลักประหารว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ก่อนที่จะสิ้นใจด้วยคมกระสุนตามคำสั่งของจอมเผด็จการเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2504 

“เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ”

วัฒนา เมืองสุข
10 มกราคม 2559
www.facebook.com/WatanaMuangsook