นิรโทษกรรม คสช. ฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ “อัครมหาเนติบริกร”
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แถลงผลการประชุมสรุปว่าจะมีการนิรโทษกรรมให้กับการกระทำที่ถูกต้องของ คสช แต่ไม่รวมถึงการกระทำที่ทุจริต ฟังการให้สัมภาษณ์ของนายมีชัยแล้วเหมือนดูดี เพราะจะนิรโทษกรรมให้เฉพาะการกระทำที่ถูกต้องเท่านั้น คำถามของผมคือถ้าถูกต้องแล้วต้องมาเสียเวลานิรโทษกรรมอีกเพื่ออะไร ดังนั้น คำว่า “ถูกต้อง” ในความหมายของนายมีชัยจึงเป็นความถูกต้องแบบศรีธนญชัย คือถูกต้องเพราะกฎหมายที่พวกเนติบริกรเขียนขึ้นบอกให้ถือว่าถูกต้อง แต่ไม่ใช่ถูกต้องตามหลักนิติธรรมหรือถูกต้องตามความคิดของวิญญูชน อันได้แก่กรณีตามมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่บัญญัติให้บรรดาประกาศและคำสั่งของ คสช หรือหัวหน้า คสช ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด
ส่วนที่บอกว่าจะไม่นิรโทษกรรมให้กับการกระทำที่ทุจริตนั้น คือคำพูดที่ไม่มีความหมายใดๆ เลย เพราะคำว่าทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญาหมายถึง “การแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น” เนื่องจาก คสช อยู่ในฝ่ายใช้กำลังไม่ได้ทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหารจึงอาจมีข้ออ้างว่ามิได้ทำการทุจริต แต่ที่จริงแล้วคำว่าทุจริตมีความหมายกว้างกว่าที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา เช่น ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง “ประพฤติชั่วคดโกงไม่ซื่อตรง” ซึ่งสอดคล้องกับที่องค์กรระหว่างประเทศด้านความโปร่งใส (Transparency International) ให้คำจำกัดความไว้หมายถึง “การใช้อำนาจที่ได้รับความไว้วางใจในทางที่ผิดเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคล” (Corruption is the abuse of entrusted power for private gain) ดังนั้น การที่ คสช ได้ใช้อำนาจตามอำเภอใจเพื่อประโยชน์ของตนและพวกพ้อง ย่อมถือได้ว่าเป็นการทุจริตที่ไม่สมควรได้รับการนิรโทษกรรม
นับแต่ คสช ได้ยึดอำนาจการปกครองไปจากประชาชน มีการใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายอาญามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการห้ามแสดงความคิดเห็นต่างจาก คสช การบังคับเอาบุคคลที่มีความเห็นต่างไปปรับทัศนคติ การทรมานบุคคลที่ถูกจับกุม การเลือกจับกุมคุมขังเฉพาะผู้ที่มีความคิดเห็นต่างทางการเมือง การห้ามคนเดินทางไปต่างประเทศ รวมถึงการบังคับพลเรือนให้ขึ้นศาลทหาร การกระทำที่กล่าวมาทั้งหมดคือการละเมิดต่อสิทธิของความเป็นคนหรือที่เรียกว่าสิทธิมนุษยชน ซึ่งในทางสากลถือเป็นความผิดต่อมวลมนุษยชาติ (crime against humanity) ที่มีความเลวร้ายเสียยิ่งกว่าความผิดใดๆ ถึงขนาดที่จะต้องถูกดำเนินคดีโดยศาลอาญาระหว่างประเทศ ทั้งนี้ยังไม่นับรวมความเสียหายที่ประเทศชาติได้รับจากการบริหารโดยรัฐบาลที่ คสช ตั้งขึ้น
แต่ด้วยบทบัญญัติของมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว อันเป็นบริการที่พวกเนติบริกรแบบนายมีชัยเคยจัดไว้ให้ จึงทำให้นายมีชัยและคณะใช้เป็นโอกาสสนองคุณให้กับ คสช ที่จะไม่ต้องรับกรรมที่ทำไว้กับประเทศนี้หากรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติ จึงเป็นคำถามที่ท้าทายมายังพี่น้องประชาชนว่า เราจะปล่อยให้คนที่ก่อกรรมทำเข็ญกับประเทศนี้ลอยนวล เพื่อกลับมายึดอำนาจจากประชาชนซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยมีผู้คนแบบนายมีชัยและคณะรวมถึงผู้คนในกระบวนการยุติธรรมช่วยสร้างความชอบธรรมให้ เพียงอ้างคำว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ทั้งได้ที่อำนาจมาจากการใช้อาวุธ สำหรับผมบอกล่วงหน้าได้เลยว่าไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ “ฉบับไม่เห็นหัวประชาชน” โดยเด็ดขาดเป็นอะไรก็เป็นกัน
วัฒนา เมืองสุข
18 มกราคม 2559
www.facebook.com/WatanaMuangsook