“วัฒนา” อัด คำชี้แจงแบบขี้เรื้อน

คำชี้แจงแบบขี้เรื้อน

ผมติดตามการประชุมชี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำโดยนายมีชัยและคณะ ซึ่งผมเรียกว่า “ฉบับขี้เรื้อน” ในประเด็นการเพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งนายมีชัยชี้แจงว่า มีเรื่องเดียวที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญก่อนๆ คือการวินิจฉัยความประพฤติที่ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมขององค์กรอิสระ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับ ส.ส. ส.ว. หรือรัฐมนตรี

การแบ่งแยกอำนาจ (separation of power) เป็นหัวใจสำคัญของรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรม เพื่อเป็นหลักประกันว่าอำนาจอธิปไตยที่เป็นของปวงชนชาวไทย จะถูกใช้อย่างมีดุลยภาพบนหลักนิติธรรม หลักการที่สำคัญคือฝ่ายบริหารจะต้องมีความเป็นอิสระ บริหารราชการแผ่นดินภายใต้การควบคุมของสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง อันเป็นฝ่ายนิติบัญญัติที่ใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน โดยมีองค์กรอิสระเช่น ป.ป.ช. หรือ สตง. ทำหน้าที่ตรวจสอบ (inspection) การใช้อำนาจรัฐ แต่รัฐธรรมนูญฉบับขี้เรื้อนกลับเอาอำนาจการควบคุมรัฐบาล ไปมอบให้องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐที่ กรธ จะไปเขียนขึ้นเองในภายหลัง และมาตรฐานทางจริยธรรมเป็นเครื่องมือในการควบคุมตัวแทนของประชาชน

ตามร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 215 วรรคสอง บัญญัติให้มาตรฐานทางจริยธรรมที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดขึ้นและประกาศใช้บังคับแล้ว ใช้บังคับแก่ ส.ส. ส.ว. และ คณะรัฐมนตรีด้วย เท่ากับให้องค์กรอิสระกำหนดกฏเกณฑ์ควบคุมฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากประชาชน หาก ส.ส. ส.ว. หรือ รัฐมนตรีถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืน จะถูกเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 231 (1) หากศาลรับเรื่องไว้พิจารณา ผู้ถูกกล่าวหาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย หากศาลวินิจฉัยว่ามีพฤติการณ์ตามที่ถูกกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหาต้องพ้นจากตำแหน่งโดยผู้เป็น ส.ส. สมาชิกภาพสิ้นสุดตามมาตรา 95 (10) ส่วนรัฐมนตรีจะขาดคุณสมบัติตามมาตรา 155 (5) ดังนั้น คำแถลงของนายมีชัยที่ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยมาตรฐานทางจริยธรรมขององค์กรอิสระ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับ ส.ส. ส.ว. หรือรัฐมนตรี จึงเป็นการโกหกประชาชนอย่างน่าละอาย

หากจะดูผลงานและวิสัยทัศน์ของศาลรัฐธรรมนูญ ผมขอทบทวนความจำพี่น้องประชาชนเรื่องโครงการเงินกู้ 2.2 ล้านล้านของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่จะนำมาลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงแต่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่ให้ทำ หลังจากมีการยึดอำนาจโครงการดังกล่าวกลับถูกรัฐบาลนี้เอาไปดำเนินการ จากรถไฟความเร็วสูงกลายเป็นความเร็วปานกลางแต่ใช้เงินงบประมาณมากกว่า ล่าสุดรัฐบาลเพิ่งแถลงว่าจากรถไฟรางคู่จะเหลือเพียงรางเดี่ยว ทุกท่านคงจำได้ดีถึงตุลาการท่านหนึ่งที่เคยกล่าวทำนองว่า “รถไฟความเร็วสูงยังไม่จำเป็น ควรจะไปทำถนนลูกรังให้หมดไปจากประเทศไทยก่อน จึงค่อยคิดถึงรถไฟความเร็วสูง” ตุลาการท่านนั้นคือรองประธาน กรธ คนที่หนึ่งต่อจากนายมีชัย ผมจึงไม่แปลกใจที่คนพวกนี้ต้องใส่หมวกตอนแถลงข่าวคงกลัวประชาชนจะจำได้ รัฐธรรมนูญที่ถูกร่างโดยประธานที่กล้าชี้แจงด้วยความเท็จ มีรองประธานคนที่หนึ่งที่มีวิสัยทัศน์เรื่องรถไฟความเร็วสูงจนคนไทยต้องเสียเงินมากขึ้นและเสียโอกาสกันทั้งประเทศ คือคนที่ คสช บรรจงเลือกมาร่างรัฐธรรมนูญให้คนไทยใช้ ยังไม่เข็ดกันอีกหรือครับ

   วัฒนา เมืองสุข
5 กุมภาพันธ์ 2559

ที่มา : https://www.facebook.com/WatanaMuangsook/posts/702142663254599:0