“ยรรยง” ถาม ขนย้ายข้าวเสื่อมคุณภาพให้โรงงานปุ๋ย โปร่งใสจริง หรือ ปาหี่?
ช่วงนี้มีข่าวว่าโรงงานผลิตปุ๋ยที่ประมูลซื้อข้าวสารของรัฐบาล
21,229 ตัน เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบผลิตปุ๋ยอินทรีย์
(ผมเข้าใจว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เอาข้าวสารไปทำปุ๋ย)
กำลังขนย้ายข้าวสารจากโกดังไปโรงงานปุ๋ยที่ราชบุรี
และมีข่าวลือสะพัดวงการว่าเซอร์เวเยอร์ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลคุณภาพข้าวและต้องรับผิดชอบชดใช้ส่วนต่างของราคาประมูล
(ตันละ 5,020 บาท)กับราคาตลาด (ตันละ 12,300 บาท)
ถูกเจ้าหน้าที่สั่งห้ามไม่ให้เข้าตรวจสอบหรือเกี่ยวข้องกับการขนย้ายครั้งนี้อย่างเด็ดขาดโดยอ้างว่าเป็นคำสั่งของผู้ใหญ่
ผมกำลังเช็คข้อเท็จจริงเรื่องนี้อยู่เพราะตามกระแสข่าวลือว่าเป็นคำสั่งของผู้ใหญ่ในกระทรวงพาณิชย์บางกระแสก็บอกว่าเป็นคำสั่ง
คสช.จริงหรือไม่
ถ้าเป็นจริงก็จะขัดกับนโยบายปราบโกงของรัฐบาลเองและนโยบายเขตปลอดคอรัปชั่น (Zero Corruption) ของกระทรวงพาณิชย์
ซึ่งเน้นการทำงานที่โปร่งใสคือต้องสามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน
ผมมีข้อสงสัยและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการขายข้าวเสื่อมล็อตนี้
รวมทั้งการตวจสอบและการขนย้ายข้าว ดังนี้
1.
ทำไมไม่ทำการตรวจสอบคุณภาพข้าวโดยการเก็บตัวอย่างข้าวที่ต้นทางโดยละเอียด(ผลการตรวจสอบที่ผ่านมาคงใช้ยืนยันไม่ได้เพราะเป็นการสุ่มตรวจที่หยาบมากคือเพียง
11,962 ตัวอย่างจาก 180,000,000 กระสอบ)
ถ้าไม่เช่นนั้น
จะทราบได้อย่างไรว่าข้าวที่ใช้ผลิตปุ๋ยเป็นข้าวที่ซื้อจากรัฐบาลจริง
จะใช้อะไรเปรียบเทียบเพราะไม่ได้เก็บหลักฐานไว้
นอกจากนี้ การไม่เก็บตัวอย่างหรือตรวจสอบคุณภาพข้าวโดยละเอียด
เป็นการส่อว่าต้องการทุบราคาข้าวรัฐบาลให้ตํ่าลง
เพื่อจะได้มีส่วนต่างเป็นเงินทอนมากขึ้นหรือไม่ ?
2.
การวางมาตรการเข้มงวดช่วงขนย้ายข้าวเพื่อป้องกันการสับเปลี่ยนสินค้า
เป็นการโชว์ความโปร่งใสหรือเป็นการแสดงปาหี่ ? เพราะแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้ซื้อข้าวจะหาข้าวอื่นมาสับเปลี่ยนในระหว่างขนส่ง
นอกจากนี้ยังต้องใช้รถยกและรถบรรทุกจำนวนมาก ( ผมขอทำนายว่า
ผู้ซื้อจะไม่สามารถรับมอบข้าวได้หมดตามกำหนดเวลา
และจะขอขยายเวลารับมอบโดยอ้างว่าติดตรุษจีนและหารถบรรทุกยาก ซึ่งไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่จะอ้างได้)
ดังนั้น
ถ้ารัฐบาลหรือกระทรวงพาณิชย์ต้องการแสดงความโปร่งใสและดำเนินนโยบายปราบโกงอย่างแท้จริง
ไม่ใช่เล่นปาหี่แล้วละก็ ต้องทำการเก็บตัวอย่างข้าวเพื่อตรวจสอบโดยละเอียด
และไม่กีดกันเซอร์เวเยอร์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงและเป็นผู้เชี่ยวชาญตัวจริงให้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบด้วย
3.
ผมยังมีความคลางแคลงใจว่าผู้ซื้อต้องการซื้อข้าวไปผลิตปุ๋ยจริงหรือไม่
? เพราะเท่าที่ทราบยังไม่มีโรงงานไหนเคยทำมาก่อน ทั้งในแง่กระบวนการผลิต
ประสิทธิผล และความคุ้มค่าก็น่าจะตํ่ามาก
เพราะข้าวสารเมื่อนำไปหมักแล้วจะมีเซลลูโลสหรือเซมิเซลลูโลสตํ่ามากเทียบกับเศษพืช
เช่น ฟางและซังข้าวหรือข้าวโพด มูลสัตว์ ขี้ค้างคาว กระดูกหรือซากสัตว์
ซึ่งให้ปุ๋ยสูงกว่า หาได้ง่าย และราคาถูกกว่าข้าวสารมาก
ที่ผ่านมาจึงไม่มีใครใช้ข้าวสารผลิตปุ๋ยอินทรีย์
ที่กรมวิชาการเกษตรรับรองว่าข้าวสารสามารถใช้ผลิตปุ๋ยได้ น่าจะเป็นเพียงผลวิเคราะห์เชิงวิชาการเท่านั้น
น่าจะไม่ใช่การวิเคราะห์ว่าคุ้มทุนหรือไม่
เพราะกรมวิชาการเกษตรน่าจะทราบดีว่าราคาข้าวสารกับราคาปุ๋ยอินทรีย์ใกล้เคียงกันมากคือตันละ
12,000-13,000 บาท
แต่ถ้านำข้าวสารไปผลิตปุ๋ยนอกจากจะเหลือสารอินทรีย์ที่เป็นปุ๋ยจริงไม่มากแล้วยังต้องเสียค่าขน
ค่าแปรสภาพ และอื่นๆอีกมาก
ผมขอฝากให้ช่วยกันคิดให้ละเอียดรอบคอบ
เพราะเรื่องนี้ถ้าผิดพลาดจะมีผลกระทบค่อนข้างรุนแรงนะครับ