“ยิ่งลักษณ์… เหยื่ออธรรม”

     ผมรู้สึกงงเมื่อได้ยินประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดจากโครงการรับจำนำข้าว (นายจิรชัย มูลทองโร่ย) ให้สัมภาษณ์ว่าโครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายที่ดี ซึ่งเรื่องนี้นโยบายไม่ผิดแต่ว่าวิธีการมันผิด เท่ากับรัฐบาลประยุทธ์ยอมรับและยืนยันว่า การดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ถูกต้องและเป็นไปตามมาตรา 84 (8) ของรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วทุกประการ ส่วนที่บอกว่าผิดที่วิธีการนั้นคือเห็นว่า มีความผิดในส่วนการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบาย (policy implementation) ซึ่งนายกยิ่งลักษณ์ในฐานะประธาน กขช ได้แต่งตั้งให้คณะอนุกรรมการเป็นผู้รับผิดชอบ
 
     ที่น่าเศร้าไปกว่านั้นคือ ประเด็นที่ประธานคณะกรรมการฯ เพิ่งบอกว่าเป็นนโยบายที่ดีนั้น ได้ถูก ป.ป.ช. นำไปยื่นขอถอดถอนนายกยิ่งลักษณ์จน สนช มีมติให้ถอดถอนไปเรียบร้อยแล้ว ที่แย่ไปกว่านั้นคือ อัยการสูงสุดได้นำประเด็นที่บอกว่าเป็นประโยชน์กับชาวนานี้ ยื่นฟ้องนายกยิ่งลักษณ์ต่อศาลอ้างว่าเพื่อทำให้เกษตรกรเสียหาย ปรากฏตามคำฟ้องหน้า 18 ความว่า “การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกดังกล่าว จึงไม่เป็นการสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้แก่เกษตรกร ตามที่จำเลยแถลงนโยบายไว้จริง แต่เป็นนโยบายประชานิยมที่นำไปสู่การทุจริตเชิงนโยบาย อันเป็นการปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งในตำแหน่งหรือหน้าที่และใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กระทรวงการคลัง ประเทศชาติ เกษตรกร ผู้หนึ่งผู้ใดและประชาชน” 

     ความแย่ที่ผมขอประณามว่าเป็นความเลวประการต่อมาคือ อัยการสูงสุดได้นำเอาประเด็นข้าวจำนวน 390,000 ตัน ที่ปลัดกระทรวงพาณิชย์เพิ่งบอกว่า ไม่ได้หายไปใหนแต่เป็นการลงบัญชีผิดพลาดนั้น ยื่นฟ้องนายกยิ่งลักษณ์ตามคำฟ้องข้อ 2.4.2 โดยบรรยายฟ้องว่า “ความเสียหายในทางทรัพย์สินอื่น…..ตามคำฟ้องข้อ 2.1 ได้แก่การจัดเก็บรักษาข้าวตามโครงการเกิดการสูญหายหรือขาดบัญชี” สรุปก็คืออัยการสูงสุดนำเอาความเท็จ ที่เกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐไปฟ้องนายกยิ่งลักษณ์ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกถึง 10 ปี และรัฐบาลกำลังจะเอาเรื่องนี้ไปเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งจากนายกยิ่งลักษณ์อีก นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่หัวหน้า คสช ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวออกคำสั่งที่ 39/2558 เรื่อง “คุ้มครองการบริหารจัดการข้าวคงเหลือในการดูแลรักษาของรัฐและการดำเนินการต่อผู้รับผิด” ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2558 เพื่อคุ้มครองตัวเองและบริวารในการใส่ร้ายป้ายสีนายกยิ่งลักษณ์ กรณีจึงไม่ต่างจากการยุบพรรคไทยรักไทย ที่ปรากฏหลักฐานในภายหลังว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาบริสุทธิ์ทั้งสิ้น คำถามคือรัฐบาลนี้จะรับผิดชอบอย่างไรกับการนำเอาความเท็จไปฟ้องนายกยิ่งลักษณ์เป็นคดีอาญา จะปล่อยเลยตามเลยเพราะมีออกคำสั่งตามมาตรา 44 นิรโทษกรรมกันไว้แล้วใช่หรือไม่
 
    วัฒนา เมืองสุข
12 กุมภาพันธ์ 2559 

ที่มา : https://www.facebook.com/WatanaMuangsook/posts/704901419645390:0