แถลงการณ์คณะทำงานปราบโกง พรรคเพื่อไทย เรื่อง ขอให้ตรวจสอบการเรียกรับผลประโยชน์และเก็บค่าหัวคิว โครงการขุดลอกแหล่งน้ำ ขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก กระทรวงกลาโหม

     ตามที่กลุ่มธรรมาภิบาล เครือข่ายประชาชนต้านทุจริตและคอรัปชั่น  ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณี  มีบุคคลแอบอ้างผู้ใหญ่ในรัฐบาลเรียกรับผลประโยชน์และเก็บค่าหัวคิวสูงถึง  40 – 50 % ในโครงการขุดลอกแหล่งน้ำ  ขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ซึ่งอยู่ในกำกับ ดูแลของรัฐบาลนั้น

​     ขณะที่รัฐบาลชุดนี้ประกาศว่า นโยบายการปราบโกงหรือการปราบทุจริตคอรัปชั่น เป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล และถึงกับบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีการเรียกขานร่าง รธน. ฉบับนี้ว่า “ร่าง รธน.ฉบับปราบโกง”
​แต่นับจากมีการร้องเรียนกล่าวหาว่ามีการทุจริตคอรัปชั่นดังกล่าว รัฐบาลกลับไม่มีการชี้แจงหรือมีคำสั่งให้ตรวจสอบแต่ประการใด ว่าการใช้จ่ายงบประมาณขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  รวมทั้งมีการทุจริตหรือไม่ อันอาจถูกกล่าวหาได้ว่ารัฐบาลเลือกปฏิบัติในการตรวจสอบการทุจริต คอรัปชั่น ปกป้องแต่พวกพ้องหมู่คณะดังที่เกิดขึ้นในกรณีอุทยานราชภักดิ์มาแล้ว
     ​คณะทำงานปราบโกง พรรคเพื่อไทย ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อ วันที่ 15 ธันวาคม 2552  เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริต คอรัปชั่น คู่ขนานกับรัฐบาลและองค์กรตรวจสอบทั้งหลาย ซึ่งมีผลงานการตรวจสอบทุจริตหลายโครงการ เช่น ทุจริตงบไทยเข้มแข็ง ทุจริตการสร้างโรงพัก เป็นต้น
คณะทำงานปราบโกงสนับสนุนนโยบายการปราบทุจริตของรัฐบาล จึงให้ความสำคัญในการติดตามตรวจสอบ ข้อมูลที่กลุ่มธรรมาภิบาล เครื่อข่ายประชาชนต้านทุจริตและคอรัปชั่น ได้ออกมาเผยถึงเรื่องทุจริตที่เกิดขึ้นในองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังการรัฐประหารโดย คสช. เพียงไม่ถึง 2 เดือน ก็มีการอนุมัติให้ อผศ. ได้สิทธิพิเศษในการรับจ้างพัฒนาแหล่งน้ำ และจากการตรวจสอบของคณะทำงงานปราบโกงได้พบเรื่องที่สมควรต้องได้รับการตรวจสอบหลายประการ
คณะทำงานปราบโกงจึงขอเสนอข้อมูลเบื้องต้น เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการตรวจสอบ  ตามนโยบายปราบทุจริตคอรัปชั่นที่รัฐบาลประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
     1) จากการตรวจสอบของคณะทำงานปราบโกง พบว่า อผศ. ได้รับงบประมาณจำนวนมาก จากหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงาน ในการปรับปรุงฟื้นฟูแหล่งน้ำทั่วประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ซึ่งกำลังเป็นปัญหาที่ทำความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสให้ประชาชนในขณะนี้ แต่ อผศ. มิได้ดำเนินการเอง โดยมีการ “ทำนิติกรรมอำพราง” กับเอกชนผู้รับเหมา  เพื่อไม่ให้ผิดระเบียบ เลี่ยงไม่ทำสัญญาว่าจ้างโดยตรง แต่ทำเป็นบันทึกข้อตกลง เป็นเรื่องเช่ายานพาหนะ เครื่องมือ เครื่องจักร ปลอมขึ้นมากับเอกชนผู้รับเหมางาน ซึ่งถือว่าผิดระเบียบผิดกฏหมายอย่างชัดเจน เนื่องจาก อผศ. ได้รับสิทธิพิเศษในการจัดซื้อ จัดจ้าง โดยกรณีพิเศษภายใต้เงื่อนไข  “ให้องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ต้องเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยมิชอบเป็นการประกอบการงาน หรือร่วมการงาน หรือสมทบกับบุคคลอื่น”
     1) จากข้อร้องเรียนของกลุ่มธรรมาภิบาล เครือข่ายประชาชนต้านทุจริตและคอรัปชั่นว่า  มีการเรียกหัวคิว 40- 50 % ทุกโครงการ เพื่อนำไปให้ผู้ใหญ่ในรัฐบาล  ดังที่ปรากฏเป็นข่าวแล้ว ดังนั้นทุกโครงการเงินงบประมาณก็จะหายไปไม่ต่ำกว่า 40- 50 % รวมทั้งจากการตรวจสอบจากการสัมภาษณ์บุคคลในพื้นที่ปฏิบัติงานจริงพบว่า ในงบประมาณ 100 บาท นำมาลงเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำแก้ไขปัญหาภัยแล้งเพียง 30- 40 บาท เต็มที่ไม่เกิน 50 บาท เพราะมีการเรียกเก็บหัวคิวในจำนวนที่สูงมาก ที่สำคัญเมื่อมีการเรียกหัวคิวจำนวนสูงเช่นนี้ การขุดลอกแหล่งน้ำก็จะมีการทำจริงเพียงส่วนน้อย เช่น ต้องขุดลึก 2 เมตรก็ขุดจริงไม่ถึง  1 เมตร ซึ่งเป็นการซ้ำเติมให้ประชาชนต้องยากลำบากอย่างแสนสาหัสจากภาวะภัยแล้ง ในปัจจุบันมากขึ้น คณะทำงานปราบโกง พรรคเพื่อไทย จึงขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ส่งข้อมูลการขุดลอก คูคลองที่มีการปฏิบัติจริง ว่าเนื้องานถูกต้องตามงบประมาณที่ลงไปหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ข้อมูลดังกล่าวอยู่ในมือของคณะทำงานปราบโกง พรรคเพื่อไทย จำนวนหนึ่งแล้ว
     1) จากการตรวจสอบของคณะทำงานปราบโกง ได้พบว่า อผศ. ได้รับการจ้างจากหน่วยงานของรัฐในแต่ละปีเป็นงบประมาณสูงหลายพันล้านบาท ให้ผลิตตั้งแต่เครื่องนุ่งห่ม จนถึงผลิตเสื้อเกราะ และรวมไปถึงการรับซ่อมเครื่องบินได้อีกด้วย  นับเป็นหน่วยงานที่มีความสามารถทำทุกอย่างได้จนน่าอัศจรรย์จนยากที่จะเป็นจริงได้ จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า การดำเนินการดังกล่าว อผศ. สามารถดำเนินการได้ ทำหรือผลิตเองได้จริงหรือ ซึ่งมติ ครม. เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2553 ได้ให้สิทธิพิเศษแก่ อผศ. ภายใต้เงื่อนไขว่า “อผศ. ต้องสามารถทำหรือผลิตเองได้” 

​     ทั้งนี้ จากการตรวจข้อมูลเบื้องต้น ดังกล่าว จึงน่าเชื่อว่าข้อร้องเรียนของกลุ่มธรรมาภิบาล เครือข่ายประชาชนต้านทุจริตและคอรัปชั่น น่าจะมีมูลตามข้อร้องเรียน ดังนั้น คณะทำงานปราบโกง พรรคเพื่อไทย จึงขอให้รัฐบาลดำเนินการดังต่อไปนี้
​     1. ให้นายกรัฐมนตรี สั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตรวจสอบการทุจริตในเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเร่งด่วนที่สุด เพื่อระงับยับยั้งมิให้มีการสูญเสียงบประมาณไปมากกว่านี้ และปัญหาภัยแล้งกำลังเป็นปัญหา ความเดือดร้อนอย่างยิ่งของประชาชนจำนวนมาก หากรัฐบาลปล่อยให้มีการทุจริต เรียกเก็บหัวคิวอย่างมโหฬาร ก็เท่ากับซ้ำเติมให้ประชาชนที่ต้องเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสจากภัยแล้งแล้วต้องเดือดร้อนมากขึ้นอีก ซึ่งหากรัฐบาลไม่ดำเนินการอาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 อย่างแท้จริง
​     2. ให้องค์กรในการตรวจสอบ เช่น สตง. เข้าดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดตามโครงการที่องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกได้รับงบประมาณทุกโครงการ ว่าดำเนินการไปโดยชอบด้วยระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ พร้อมสั่งการให้ระงับการเบิกจ่ายเงินทุกโครงการ จนกว่าจะตรวจสอบเสร็จ แล้วรายงานให้สาธารณชนทราบ
​ทั้งนี้ คณะทำงานปราบโกง พรรคเพื่อไทย จะให้ความร่วมมือรัฐบาลในการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น ด้วยการส่งข้อมูลที่ได้รับมาจากผู้ปรารถนาดีให้ สตง.ไปดำเนินการตรวจสอบ ตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
​อนึ่ง ในฐานะที่เป็นประชาชนคนไทย รู้สึกมีความห่วงใยต่อขวัญกำลังใจของทหารผ่านศึกทุกท่าน ที่ถูกแอบอ้างการจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อเป็นสวัสดิการของทหารผ่านศึก แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นการดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ของพวกพ้องและหมู่คณะเป็นส่วนใหญ่ ประการสำคัญที่สุด เกิดความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวนมากในภาวะที่บ้านเมืองกำลังมีปัญหาด้านเศรษฐกิจและภัยแล้ง  นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจที่เรื่องนี้มาเกิดขึ้นในรัฐบาลที่ประกาศว่าเข้ามาปราบโกง และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ก็จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงขึ้นมา
     ​ดังนั้น คณะทำงานปราบโกง พรรคเพื่อไทย จะติดตามตรวจสอบเรื่องนี้ต่อไปอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การปราบปรามการทุจริต คอรัปชั่น เป็นผลในทางปฏิบัติไม่เลือกปฏิบัติและให้เป็นที่ปรากฏต่อสาธารณชนต่อไป

​​​​​​​​  ด้วยความรักและปรารถนาดี
​​​​​​​​คณะทำงานปราบโกง พรรคเพื่อไทย
​​​​​​​​  14  กุมภาพันธ์  2559