คำแถลงพรรคเพื่อไทยวิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ “มีชัย” (ฉบับเต็ม)

      การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตั้งแต่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีนายบวรศักดิ์
อุวรรณโณ เป็นประธาน จนถึงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่มีนายมีชัย  ฤชุพันธ์ เป็นประธาน
เป็นเพียงละครน้ำเน่าทางการเมือง การร่างรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน
ภายหลังการรัฐประหารบนเส้นทางประชาธิปไตย 80 ปีเศษ แต่ครั้งนี้แปลกกว่าครั้งใดๆ
เพราะร่างของนายบวรศักดิ์ฯไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาปฏิรูปฯ
ซึ่งมาจากคณะรัฐประหารเอง จนต้องใช้ลูกพี่ใหญ่ของกลุ่มเนติบริกรอย่างนายมีชัยฯ
มาดำเนินการต่อ ซึ่งแค่เพียงร่างเบื้องต้นเผยแพร่ออกมาอย่างเป็นทางการ
ก็ได้รับเสียงตอบรับในทางลบอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
และดูจะเลวร้ายยิ่งกว่าร่างของนายบวรศักดิ์ฯ และรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่ไทยเคยมีมาทุกฉบับ

  พรรคเพื่อไทยจึงขอให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายและพี่น้องประชาชนได้ทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ถึงปัญหาร้ายแรงที่บ้านเมืองกำลังเผชิญอยู่
และเราทุกคนต้องร่วมกันแก้ไขโดยเร่งด่วน ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. 
ประเทศต้องปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันเป็นที่ยอมรับของสากล

ประเทศในโลกเกือบทั้งหมดล้วนอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ซึ่งแม้จะแตกต่าง

กันบ้างในรูปแบบ
แต่จะมีหลักการและโครงสร้างที่เป็นสากลเหมือนกัน นั่นคือ
มีรัฐธรรมนูญเป็นกติกาสูงสุดเพื่อการอยู่ร่วมกัน และการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลหนึ่งสู่อีกรัฐบาลหนึ่งอย่างสันติ
โดยการตัดสินใจอย่างอิสระของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย
มีการแบ่งแยกการใช้อำนาจในองค์กรหลักๆ เช่น รัฐสภา รัฐบาล ศาล
หรือแม้แต่องค์กรอิสระอย่างมีดุลยภาพ มีการรับรองคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมของประชาชนและของภาคส่วนต่างๆ
ของสังคมอย่างทั่วถึง เป็นรูปธรรม มีการจำกัดและตรวจสอบอำนาจขององค์กรต่าง ๆ
ที่ใช้อำนาจรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ  มีการเคารพในสิทธิมนุษยชนและพันธกรณีระหว่างประเทศ
ทั้งนี้บนพื้นฐานของหลักนิติธรรม

พรรคเพื่อไทยเห็นว่า รัฐธรรมนูญไทยฉบับถาวรในอดีตหลายฉบับ มีความเป็นสากลและผสมผสานความเป็นไทยได้อย่างเหมาะสมมาอย่างต่อเนื่อง
โดยผ่านการปรับปรุงพัฒนาให้มีที่มาจากประชาชน และมีเนื้อหาที่สะท้อนอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ
ตั้งแต่ฉบับ พ.ศ. 2489 พ.ศ.2517 พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่5) พ.ศ.2538
และ(ฉบับที่6) พ.ศ.2539 และ พ.ศ.2540

  แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า
ประเทศของเราต้องตกอยู่ภายใต้การยึดอำนาจปกครองโดยคณะทหารประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับอยู่
และประกาศใช้รัฐธรรมนูญแบบชั่วคราวที่เป็นเผด็จการที่ตนเองร่างขึ้น ตั้งองค์กรฝ่ายต่างๆ มาใช้อำนาจอธิปไตยโดยความคิดของเนติบริกร
เพื่อให้ดูชอบธรรมว่ามิได้ใช้อำนาจสิทธิขาดโดยลำพัง แต่แท้ที่จริงแล้วคือการยกอำนาจของปวงชนชาวไทยให้แก่ผู้ยึดอำนาจการปกครองประเทศ
ยึดอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของปวงชนชาวไทย โดยสถาปนาตนเองว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์
ด้วยเหตุนี้การล้มล้างรัฐธรรมนูญจึงเป็นการล้มล้างกติกาและองค์กรตามระบอบประชาธิปไตยที่ดำรงอยู่
ด้วยการให้ผู้ทำรัฐประหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จทั้งทางนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ
โดยศาลเองก็รับรองแนวคิดเผด็จการเช่นนี้เรื่อยมา
ซ้ำยังยอมรับการนิรโทษกรรมตนเองของพวกรัฐประหารที่ล้มล้างทุกอย่าง
ว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญอีกด้วย
  ดังนั้น
หากประเทศไทยไม่มีการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยที่ประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกยอมรับแล้ว
ก็ยากที่จะติดต่อค้าขายและร่วมมืออย่างเป็นปกติกับประเทศเหล่านั้น และที่สำคัญที่สุดคือ
การยอมรับและให้เกียรติจากสังคมโลกต่อผู้นำของประเทศและรัฐบาล และยากที่จะเกิดความสงบสุขที่แท้จริง
ตลอดจนความเจริญรุ่งเรือง อยู่ดีกินดีของประชาชน

2. 
ต้องยุติการใส่ร้ายและทำลายพรรคการเมืองและบุคลากรทางการเมือง 

ขณะนี้มีการใส่ร้ายและทำลายพรรคการเมืองและนักการเมืองในภาพรวมว่าเป็นสิ่งไม่ดี
ได้

อำนาจมาด้วยการซื้อเสียง
มีการทุจริต และสร้างความเสียหายในการบริหารบ้านเมือง เลยเถิดไปถึงกรณีว่าไม่จงรักภักดี
และสร้างความแตกแยก จนแม้นายมีชัยฯ ยังสร้างวาทกรรมว่า ร่างรัฐธรรมนูญของตนเป็น

“ฉบับปราบโกง”
เพื่อให้ทันสมัยตอบสนองต่อการใส่ร้ายดังกล่าว
พรรคเพื่อไทยเห็นว่าในทุกอาชีพไม่ว่าจะภาครัฐหรือเอกชนล้วนมีคนดีและคนไม่ดี
คนสุภาพและคนหยาบคาย คนไม่มีอคติและคนมีอคติ
ในทุกองค์กรย่อมมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน
มีประสิทธิภาพและไร้ประสิทธิภาพ เป็นเช่นนี้ทั้งโลกไม่เว้นแม้แต่องค์กรและบุคลากรทางศาสนา
แต่การมุ่งใส่ร้ายและทำลายพรรคการเมืองและบุคลากรทางการเมืองด้วยอคตินั้นไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย
มีแต่จะสร้างความเข้าใจผิด
ความบาดหมางและความสับสนในหมู่ประชาชน
เราจะยืนยันได้หรือไม่ว่าในวงการข้าราชการแม้แต่ทหาร ไม่มีการเล่นพวกพ้อง ไม่มีการวิ่งเต้นตำแหน่ง
ไม่มีทุจริตในโครงการต่างๆ ทหารทุกคนล้วนเป็นคนดี คนเก่ง
ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่สุด จะยืนยันได้หรือไม่ว่าในวงการธนาคาร
การปล่อยสินเชื่อต่างๆ ไม่มีการใช้เส้นสาย ไม่มีการเรียกค่าปากถุง บริษัทในตลาดหลักทรัพย์เป็นตัวอย่างอันดีงามในการยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล
ไม่นำเอาข้อมูลภายในไปหาประโยชน์จากการซื้อขายหุ้น
แม้แต่ศาล องค์กรอิสระจะยืนยันได้หรือไม่ว่าทุกคนสุจริต
ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักนิติธรรมและปราศจากอคติตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้
ถ้าจริงคงไม่มีเรื่องอื้อฉาวมากมายเกิดขึ้นในองค์กรต่างๆ ที่กล่าวมา แม้แต่วงการศาล
คงไม่มีการวิจารณ์ถึงปัญหาการเลือกปฏิบัติและสองมาตรฐาน พรรคการเมืองและนักการเมืองจะดีหรือไม่ดี
ขอให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ไม่ใช่ตัดสินโดยเผด็จการหรือบุคคลที่ไม่เคารพอำนาจตัดสินใจของประชาชนและดูถูกประชาชน
และหากกระทำผิดกฎหมายก็ว่าไปตามหลักกฎหมายอย่างยุติธรรม ปราศจากอคติ

    ที่กล่าวมาข้างต้น
คือปัญหาที่เราต้องช่วยกันวิเคราะห์ถึงต้นเหตุ และหาทางแก้ไขร่วมกัน
ไม่ใช่ยกตัวเองว่าดีและด่าว่าผู้อื่น หรือเอาดีใส่ตัวเอง เอาชั่วใส่คนอื่น

สังคมไทยย่ำอยู่ในวังวนเช่นนี้มานานพอแล้ว
พรรคเพื่อไทยซึ่งสืบเนื่องมาจากพรรคพลังประชาชนและพรรคไทยรักไทย
ได้ผ่านประสบการณ์อันเจ็บปวดของความอยุติธรรม และการกลั่นแกล้งใส่ร้าย
มามากกว่าสิบปี เราถามตัวเองว่าพรรคการเมืองและบุคลากรทางการเมือง
ตลอดจนผู้สนับสนุนเรามากกว่า 10 ล้านคนเป็นสิ่งเลวร้ายทางการเมืองที่ต้องถูกทำลายกระนั้นหรือ
พรรคการเมืองอื่น องค์กรต่างๆ ในระบบราชการ องค์กรอิสระล้วนเป็นสิ่งที่ดี
จึงต้องร่วมมือกันทำลายเรากระนั้นหรือ และทั้งหมดนี้ทำไปเพื่ออะไร

  การรัฐประหารเมื่อกันยายน
2549 ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อจากการทำให้การเลือกตั้งต้องสะดุดลง
เพราะการไม่ส่งผู้สมัครของพรรคการเมืองบางพรรค และกระบวนการตุลาการภิวัฒน์
คณะรัฐประหารได้ประกาศอย่างชัดเจนถึงบันได 4 ขั้นว่า เหตุผลของการยึดอำนาจ คือ 1. โค่นล้ม “ทักษิณ” ให้พ้นจากอำนาจการเมือง  2. ยึดทรัพย์และดำเนินคดีกับทักษิณ เพื่อไม่ให้กลับมาเล่นการเมืองตลอดไป  3. ยุบพรรคไทยรักไทย ห้ามกรรมการบริหารพรรคเล่นการเมือง 5 ปี
เพื่อสลายเครือข่ายและบุคลากรทางการเมืองของพรรคไทยรักไทย  4. เปลี่ยนขั้วการเมือง
ให้พรรคการเมืองใหญ่อีกพรรคหนึ่งเป็นรัฐบาล ซึ่ง 3 ขั้นแรกผ่านไปอย่างสะดวก
ด้วยการบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
เช่นการยุบศาลรัฐธรรมนูญและตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นแทน เพราะเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญอาจไม่สนองเป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การออกประกาศ คปค. ว่าถ้าพรรคการเมืองถูกยุบ
กรรมการบริหารทุกคนจะถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี
ซึ่งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็นำเอาเหตุที่พรรคการเมืองบางพรรคกล่าวหาว่ากรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย
2 คนจ้างพรรคเล็กมาเป็นเหตุในการยุบพรรค
และตุลาการเสียงข้างมากก็วินิจฉัยว่าประกาศ คปค. มีผลย้อนหลังไปตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยทั้ง
111 คนได้ เหตุการณ์ผ่านมา 10 ปี ศาลฏีกาตัดสินว่าไม่มีคนของพรรคไทยรักไทยจ้างพรรคเล็ก
กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกกล่าวหาถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ สรุปคือว่า แม้จะถูกกลั่นแกล้ง
ไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ถือว่าช่วยไม่ได้ ไม่มีผู้ใดที่ร่วมก่อกรรมนี้ออกมาขอโทษ
หรือแม้แต่รัฐบาลที่ขอแต่ให้คนอื่นเคารพกฎหมาย เคารพหลักนิติธรรมที่พวกตนสร้างขึ้นเอง  ก็หาได้แสดงถึงความห่วงใยและหาวิธีเยียวยาแต่อย่างใดไม่
ปล่อยให้คน 111 คน ตกเป็นเหยื่อแห่งความอยุติธรรมที่กระบวนการยุติธรรมของคณะรัฐประหารหยิบยื่นให้
การปกครองแบบนี้ใช่ไหมที่ภูมิใจว่าดีกว่าของนักการเมือง

  แม้จะได้รัฐธรรมนูญ 2550
ตามวัตถุประสงค์ของการรัฐประหาร
ด้วยการวางกลไกให้ตุลาการและกรรมการองค์กรอิสระเข้าไปควบคุมการเมือง
การบริหารราชการและการดำเนินการด้านนิติบัญญัติ
แต่ประชาชนก็ยังมีศรัทธาในพรรคพลังประชาชน
จนได้เสียงข้างมากและเป็นแกนในการจัดตั้งรัฐบาล
จึงต้องหาวิธีการล้มนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นคือ นายสมัคร สุนทรเวช
ทั้งนอกสภาและในสภา จนในที่สุดต้องอาศัยศาลรัฐธรรมนูญ ในเดือนกันยายน 2551
วินิจฉัยให้นายสมัครฯ พ้นจากตำแหน่งเพราะร่วมรายการ

“ชิมไปบ่นไป”
ที่นายสมัครเป็นพ่อครัวในรายการมาตั้งแต่ก่อนเป็นนายกรัฐมนตรี ครั้นเมื่อนายสมชาย
วงศ์สวัสดิ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน
พรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตย แบบกระทันหันในวันที่ 2 ธันวาคม 2551
เป็นผลให้นายสมชายฯ และกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนรวม 109 คนถูกตัดสิทธิการเมือง
5 ปี เช่นเดียวกับพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตย นายสมชายฯ จึงพ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรี
ในที่สุดแผนบันได 4 ขั้นก็เป็นจริงเมื่อนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อ 17
ธันวาคม 2551

3. 
ร่างรัฐธรรมนูญนายมีชัยฯ ตอบโจทย์อะไร

  ไม่ว่านายบวรศักดิ์ฯ
จะเสนอแนวคิดยกระดับประชาชนให้เป็นพลเมือง ใช้ระบบเลือกตั้งแบบใหม่ สว.77
คนมาจากการเลือกตั้ง 123 คนมาจากการสรรหา
นายกรัฐมนตรีเป็นคนนอกได้ มีการสร้างองค์กรใหม่ๆ นับ 10 องค์กร
ซ้อนกับองค์กรที่มีอยู่และรัฐบาล และเรียกรัฐธรรมนูญของตนว่า “ฉบับปฏิรูป”
หรือนายมีชัยฯ จะใช้ระบบเลือกตั้งแบบนายบวรศักดิ์ฯ แต่เปลี่ยนแปลงบางส่วน
เช่นใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว สว. มาจากการสรรหาทั้งหมด นายกรัฐมนตรีเป็นคนนอกได้ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรควบคุมและตัดสินทุกองค์กร
และตีความรัฐธรรมนูญได้ตามใจชอบ การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยผู้ที่มาจากการเลือกตั้งไม่อาจเป็นไปได้เลย
วางคุณสมบัติและข้อห้ามคนจะเป็นนักการเมืองไว้เข้มงวด ฯลฯ จนตั้งฉายาฉบับของตนว่า “ฉบับปราบโกง” นี่ยังไม่นับการซ่อนเงื่อนอีกมากมายเพื่อทำลายอำนาจของประชาชนที่จะไปเขียนไว้ในกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
จึงได้มีคำพูดเก๋ๆ ของนายมีชัยฯ ว่า
รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องไม่ยาว วางเพียงหลักการ
รายละเอียดจะไปเขียนไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

  ทั้งหมดนี้น่าจะเข้าใจได้ไม่ยากว่า
ขบวนการเหล่านี้กำลังทำอะไร เรื่องความสมานฉันท์ปรองดองนั้นเลิกคิดไปได้ เพราะเป็นเพียงวาทกรรมเพื่อทำให้พวกตนดูไม่น่าเกลียด
เรื่องปฏิรูปก็ทำเป็นคึกคักพอเป็นพิธีเพื่อใส่ร้ายว่าการบริหารบ้านเมืองโดยนักการเมืองไม่ดี  ต้องมีการปฏิรูป แต่การปฏิรูปที่แท้จริงคือจะทำให้ระบอบประชาธิปไตยมีความต่อเนื่อง
ไม่มีการรัฐประหาร ไม่มีการใช้อำนาจเผด็จการกดหัวประชาชนและสื่อมวลชนได้อย่างไร
พวกเนติบริกรไม่เคยคำนึงถึง เพราะไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตย หรือเผด็จการ พวกเขาเป็นเพียงคนกลุ่มเดียวที่เสวยสุขอย่างต่อเนื่อง

  ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยฯ
กำลังวางเงื่อนไขให้เกิดบันได 4 ขั้นใหม่
เพื่อเสริมและต่อยอดให้กับบันได 4 ขั้นเดิม
นั่นคือ 1. พรรคเพื่อไทยต้องไม่ได้เสียงข้างมากในการเลือกตั้ง
สิ่งที่ทำไปแล้วคือ การทำลายผู้นำและแกนนำของพรรคในทุกวิถีทาง ล่าสุดคือการให้ สนช.
ซึ่งไม่ได้ตัวแทนของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ ถอดถอนนายกฯ ยิ่งลักษณ์ฯ
ออกจากตำแหน่ง ทั้งๆ ที่พ้นจากตำแหน่งมาแล้ว
ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้มีโอกาสนำทัพเลือกตั้ง ไม่นับการดำเนินคดีอื่น ๆ  2.
ถ้าพรรคเพื่อไทยได้เสียงข้างมาก หรือข้างมากเด็ดขาดและเป็นรัฐบาล ก็จะเป็นรัฐบาลที่อ่อนแอที่สุด
แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ หรือมิเช่นนั้นก็ต้องยอมสนับสนุนคนนอกพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี  3. การขับไล่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยในอนาคตไม่ต้องอาศัยการรัฐประหาร
แต่ทำได้โดยศาลรัฐธรรมนูญ  4. ในทุกกรณีประเทศจะถูกปกครองเชิงลึกโดยองค์กรและกลไกของคนส่วนน้อยที่ไม่ได้มาจากประชาชน
การเลือกตั้ง การมีพรรคการเมือง มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
จะเป็นเพียงแค่พิธีกรรมและหน้าฉากเท่านั้น

  ไม่ว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญจะอธิบายอย่างไร
ก็ไม่อาจปิดบังสิ่งที่กล่าวมาได้ การพยายามยกหลักการโน้น หลักการนี้และมาตราต่างๆ
ที่ประดิษฐ์ขึ้นว่าดีอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นเพียงวาทกรรมของพวกเนติบริกรที่ไม่เคยมีความจริงใจให้แก่ใคร
ไม่เข้าใจประชาธิปไตยหรือคำว่าอำนาจของประชาชน เพราะพวกเขามีตำแหน่งอยู่ในแทบทุกรัฐบาลในช่วง
40 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่ารัฐบาลแบบใด

  พรรคเพื่อไทยจึงเห็นว่า
สังคมต้องเข้าใจให้เท่าทันความคิดและผลประโยชน์ของพวกเนติบริกร
และต้องช่วยกันหยุดยั้งไม่ให้ร่างรัฐธรรมนูญเช่นนี้
ทำร้ายประเทศและประชาชนอย่างไม่มีวันสิ้นสุดต่อไป
โดยได้เสนอมาตลอดว่า
รัฐธรรมนูญที่ดีต้องประกอบด้วย 2 สิ่งคือ

1. 
ที่มา
ต้องไม่มาจากอำนาจเผด็จการ แต่ต้องมาจากประชาชน พรรคฯ จึงเสนออย่างต่อเนื่องว่า

ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อไปร่างรัฐธรรมนูญ

2. 
เนื้อหา  ต้องเป็นกติกาที่เป็นธรรม
เป็นสากลและเป็นไทย ฯลฯ ดังที่กล่าวมาข้างต้น

ด้วยเหตุนี้
พรรคฯ จึงเคยเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการเลือกตั้งบุคคลที่จะเข้าไปเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ  แต่ก็คงอยู่ที่วาระ 3 จนมีการรัฐประหาร
และหากมีความจำเป็นเร่งด่วน หรือสถานการณ์พิเศษ
ที่ต้องนำรัฐธรรมนูญในอดีตมาใช้บังคับ ก็ควรใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เพราะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ร่างโดยผู้แทนประชาชนที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
จนได้ชื่อว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ที่ทุกฝ่ายสนับสนุนและผลักดัน
ไม่เว้นแม้แต่ชนชั้นนำในขณะนั้น โดยการปรับปรุงแก้ไขให้มี “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” ที่ประกอบด้วยตัวแทนของทั้งรัฐบาล
รัฐสภา ศาลและองค์กรอิสระ เพื่อทำหน้าที่ตีความและวินิจฉัยปัญหาของรัฐธรรมนูญ
ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนและขององค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชน
และที่ผ่านมาก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าได้สร้างปัญหาสองมาตรฐานที่ร้ายแรงไว้เพียงใด
ขณะเดียวกันที่มาและอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระบางองค์กรจะต้องปรับปรุงเพื่อให้เกิดการตรวจสอบและถ่วงดุลที่เหมาะสม
และต้องยึดโยงกับอำนาจของประชาชน
ตลอดจนองค์กรใช้อำนาจอธิปไตยทั้งหลายและองค์กรอิสระ รวมถึงข้าราชการระดับสูงต้องแสดงทรัพย์สินและหนี้สินต่อสาธารณะ

4. 
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยฯ
จะทำให้ประเทศชาติและประชาชนเสียหายอย่างไร

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยฯ
เมื่อผนวกกับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จะจัดทำขึ้นใหม่ เช่น

การเลือกตั้ง  คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน  คณะกรรมการป.ป.ช.  ศาล รัฐธรรมนูญ ฯลฯ จะเป็นนวัตกรรมเผด็จการ
ที่สังคมไทยไม่เคยพบเห็นมาก่อน และแม้ว่าอาจจะมีการปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะบ้าง
เช่น พรรคการเมืองอาจไม่ต้องเสนอชื่อผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี 3 คน
การคืนสิทธิชุมชน ฯลฯ แต่โครงสร้างและแผนบันได 4 ขั้นอันใหม่จะไม่เปลี่ยนแปลง ระบบทหารจะไม่ได้รับการแตะต้องและไม่เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศ

พรรคเพื่อไทยเห็นว่าประชาชนจะสูญเสียอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบ
80 ปีเศษ ดังนี้

1. 
อำนาจอธิปไตยที่ถือเป็นของปวงชนชาวไทยมาตั้งแต่
พ.ศ.2475 จะไม่มีความหมาย
  เพราะประชาชนไม่อาจตัดสินใจเลือกตั้งผู้แทนของตนในสภาผู้แทนราษฏรได้อย่างอิสระอีกต่อไป

และไม่มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา
สิทธิเสรีภาพ
การมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจอธิปไตย การได้รับสวัสดิการด้านสาธารณสุข หลักประกันสำหรับราคาพืชผลการเกษตร
การชุมนุมเรียกร้องและการแสดงความคิดต่างๆ ฯลฯ จะถูกลิดรอนไปอย่างมาก
จนเหลือเพียงแค่ไปลงคะแนนเลือกตั้งด้วยบัตรเพียงใบเดียว ทั้งๆ ที่เลือกผู้แทน 2
ประเภท

2. 
นโยบายพรรคการเมืองที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกส่วนในสังคม
โดยเฉพาะผู้ที่ยากไร้และเสียเปรียบ  จะถูกองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ
วินิจฉัยว่าเป็น “ประชานิยม”
ขัดต่อหลักการเศรษฐกิจของรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่นโยบายหลายเรื่องนั้นเป็นไปเพื่อสร้างโอกาสและความเข้มแข็งในการทำมาหากิน
ช่วยลดรายจ่าย กระจายรายได้
และสร้างความเป็นธรรมในทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น แต่ถ้าเป็นพรรคการเมืองที่อิงกับเผด็จการ
หากมีนโยบายเช่นนั้นบ้าง ก็จะได้รับการตีความว่าเป็น “ประชารัฐ”
คือทำได้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

3. 
แม้ประชาชนจะลงคะแนนอย่างท่วมท้นเลือกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเป็นรัฐบาล
แต่ถ้าพรรคการเมืองนั้นไม่ยอมให้กับอำนาจนอกระบบ เช่น การสนับสนุนคนนอกพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี
พรรคการเมืองนั้นก็จะถูกขัดขวางจากศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ
และการใช้อำนาจนอกระบบที่ขัดหลักนิติธรรมจนตั้งรัฐบาลไม่ได้
หรืออาจถูกยุบพรรคด้วยเหตุต่างๆ
เช่นในอดีต และแม้หากตั้งรัฐบาลได้ ก็ต้องเป็นรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากท่วมท้น
แต่อ่อนแอที่สุด
บริหารประเทศให้เป็นไปตามความประสงค์ของประชาชนไม่ได้ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคจะถูกเล่นงานสารพัดรูปแบบ
เพื่อนำไปสู่การถอดถอนของศาลรัฐธรรมนูญจนรัฐบาลล้ม
และมีรัฐบาลแบบใหม่ขึ้นแทนโดยอาศัยการตีความและวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

4. 
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยฯ
กำหนดให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ได้ยากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
จนถึงขั้นที่พรรคการเมืองที่ได้ชัยชนะการเลือกตั้งถึงร้อยละ 90 ก็ยังแก้ไขไม่ได้

ไม่ว่าประเทศจะประสบวิกฤตเช่นใด ไม่ว่าประชาชนจะต้องการเพียงใด เพราะถ้าพรรคการเมืองเล็ก
ก็ดี  สว.ก็ดี  ศาลรัฐธรรมนูญก็ดีขัดขวาง ทุกอย่างจะเป็นหมันหมด
จึงเป็นการวางรากฐานให้กับระบบอำนาจนิยมที่แฝงตัวอยู่ในกลไกต่างๆ ของรัฐธรรมนูญ
เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ ฯลฯ
เพื่อกำหนดชะตากรรมของคนทั้งประเทศโดยไม่ฟังเสียงพวกเขา

5. 
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยฯ
มุ่งปกป้องการรัฐประหาร
ผู้ทำรัฐประหารและผู้ปฎิบัติงานที่ร่วมมือกับคณะรัฐประหาร รวมถึงตัวนายมีชัยฯ และพวก
อย่างชนิดไม่อายฟ้าดิน
ไม่เห็นหัวประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย มีผลประโยชน์ทับซ้อน
และไม่สนใจสังคมโลกที่ต้องการเห็นการเคารพหลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชนและพันธกรณีระหว่างประเทศ
เพราะ

นายมีชัยฯ
ซึ่งเป็นหนึ่งใน คสช.  ให้คง คสช. และอำนาจของหัวหน้า
คสช. ซึ่งเป็นทั้งนิติบัญญัติ
บริหารและตุลาการไว้ในบทเฉพาะกาลจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ และยังรับรองการ

นิรโทษกรรมตนเองของ
คสช. ตามรัฐธรรมนูญ 2557 ตลอดจนให้ถือว่าการกระทำของ คสช.
รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าของบุคคลใด ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายทั้งสิ้น
(แม้ว่าจะมีการทุจริตทำผิดกฎหมาย ล้มล้างรัฐธรรมนูญ)
  รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งน่าจะเป็นประชาธิปไตยมากกว่าฉบับชั่วคราวที่ใช้อยู่
กลับมีบทบัญญัติเผด็จการแทรกไว้อย่างเต็มตัว  หัวหน้า คสช. สามารถใช้อำนาจนิติบัญญัติ
บริหารและตุลาการทำอะไรก็ได้ ตั้งแต่ช่วงจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง
การจัดตั้งรัฐบาล ฯลฯ โดยมีนายมีชัยฯ ร่วมคณะจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ แค่นี้ก็คงชัดเจนแล้วว่านายมีชัยฯ
กำลังทำอะไร และกลัวอะไร
จึงเป็นที่มาของวาทกรรม “ฉบับปราบโกง” (ใครก็ได้) ที่ไม่ใช่พวกตัวเอง

พรรคเพื่อไทยขอเรียนว่า
ข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ต่อร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับนายบวรศักดิ์ฯ

จนถึงนายมีชัยฯ
ของพรรค กระทำไปบนพื้นฐานของความคิดที่ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน
ประเทศไทยต้องปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เป็นประชาธิปไตยที่เป็นสากลและมีความเป็นไทยดังได้กล่าวมาข้างต้น  และที่สำคัญเร่งด่วนที่สุด
คือต้องฟื้นฟูความสามัคคี ปรองดอง ลดความหวาดระแวงในหมู่ประชาชน ด้วยการสถาปนาความยุติธรรมตามหลักนิติธรรมที่แท้จริง
องค์กรที่ใช้อำนาจรัฐทั้งหลายต้องใช้อำนาจอย่างเที่ยงธรรม ไม่มีอคติ
หากไม่ร่วมกันเดินไปบนหนทางนี้ สังคมไทยจะตกอยู่ในอันตราย

แม้ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ “มีชัย” จะมีเป้าหมายเพื่อลิดรอนและกำจัดพรรคเพื่อไทยเป็นการเฉพาะ
ดังที่ได้ชี้ให้เห็นแล้วข้างต้น พรรคเพื่อไทยมิได้วิตกกังวลไปกับกรณีดังกล่าว
มากไปกว่าความห่วงใยต่อผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศชาติและประชาชน ความห่วงใยต่อการเคารพอำนาจอันแท้จริงของพี่น้องประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย
เพราะประชาชนควรจะมี
สิทธิอันชอบธรรม” ในการพิจารณาเลือกกติกาที่จะมากำหนดทิศทางประเทศ
เลือกกติกาที่เอื้อต่อการพัฒนาฟื้นฟูประเทศ
และเลือกกติกาที่จะไม่ส่งผลเสียหายต่อประเทศในระยะยาว.

 

    พรรคเพื่อไทย

  20 กุมภาพันธ์ 2559