“นพดล” ชี้ปวงชนชาวไทยต้องมีส่วนในการเลือก ส.ว. ถ้าส.ว.มีอำนาจเหมือนในรัฐธรรมนูญปี 50

          นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ กล่าวว่าตนเคารพในความเห็นของผู้มีอำนาจที่เสนอให้มี ส.ว. แต่งตั้ง 5 ปีแรกแต่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ และต้องรอดูว่า ก.ร.ธ.จะยอมตามหรือไม่  เราควรเข้าใจว่าหน้าที่วุฒิสภามีเพื่ออะไร ถ้าส.ว.มีเพื่อกลั่นกรองกฎหมาย แต่งตั้งองค์กรอิสระ ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือมีอำนาจออกเสียงแก้รัฐธรรมนูญได้เหมือนรัฐธรรมนูญปี 50  ส.ว.ควรต้องมาจากการเลือกตั้งจึงจะเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง ไม่ใช่ตัวแทนของบุคคลหรือคณะบุคคลใด นอกจากนั้น ส.ว.ต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง ดังนั้นการให้ใครแต่งตั้งเพื่อมาทำหน้าที่ดังกล่าวจึงขัดทั้งหลักการประชาธิปไตย และสามัญสำนึกเพราะผู้ได้รับการแต่งตั้งจะถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีความเป็นกลางทางการเมืองและเป็นการสืบทอดอำนาจหรือไม่ แต่ถ้า ค.ส.ช.ต้องการให้ ส.ว.มาทำหน้าที่สานต่อการปฏิรูปของ ค.ส.ช.เป็นหลักภายหลังมีรัฐบาลใหม่  แทนที่จะเรียกเป็นวุฒิสภาเราควรเรียกสภาเช่นนี้ว่าสภาสืบสานการปฏิรูปของ ค.ส.ช. หรือไม่ 

          อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถามตามมาว่าการปฏิรูปประเทศควรให้คนไทยทั้ง 64 ล้านคนมีส่วนร่วมให้มากที่สุด และวิธีการคัดสรรตัวแทนของประชาชนเพื่อไปทำการปฏิรูปที่ดีที่สุดก็คือการเลือกตั้ง “การให้ ส.ว.แต่งตั้งดูแลประเทศช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี อุปมาเหมือนประเทศเป็นรถไฟความเร็วสูงตกราง พอกู้รถไฟขึ้นรางได้ เราไปบังคับให้วิ่งช้าไป 5 ปี ทั้งๆที่ควรให้วิ่งเร็วปกติเพื่อชดเชยเวลาที่สูญเสียไป ตนหวังว่าผู้มีอำนาจจะทบทวนข้อเสนอ และปล่อยให้หลักการประชาธิปไตยได้เบ่งบานในไทยเพราะภาระหน้าที่ในการปฏิรูปหรือดูแลประเทศเป็นภาระบนบ่าของคนไทยทุกคน เนื่องจากกรุงโรมไม่ได้สร้างในวันเดียว และไม่ได้สร้างโดยคนกลุ่มเดียว”

10 มีนาคม 2559