สองเรื่องใหญ่ กระทบตรง…พัฒนาการและการเจริญเติบโตของประเทศ

สังคมไทยวันนี้ มีเรื่องที่น่าห่วงใยอย่างยิ่งอยู่หลายประการ โดยเฉพาะ 2 เรื่องสำคัญที่กำลังเป็นที่กล่าวขานกันทั่วทุกวงการ คือ

1) เรื่อง การจัดซื้อเรือดำน้ำ ซึ่งมีกระแสการคัดค้านอย่างทั่วถึง เพราะถือเป็นสิ่งที่รัฐบาล คสช.และกลุ่มผู้มีอำนาจในยุคปัจจุบันผลักดันให้เกิดขึ้น ท่ามกลางความรู้สึกของสังคมว่ามีเงื่อนงำและมีพฤติกรรม พยายามปกปิดให้เป็น “ความลับ”
การจัดซื้อเรือดำน้ำ ครั้งนี้ นับเป็นภารกิจที่รัฐบาลและผู้มีอำนาจควรรับฟังเสียงที่วิพากษ์วิจารณ์ และควรนำไปทบทวนไตร่ตรองอย่างยิ่ง ถึงความเหมาะสมในการใช้งบประมาณและทรัพยากรอันจำกัด ที่นำไปใช้จ่ายท่ามกลางสถานการณ์ที่สังคมโดยรวมกำลังรู้สึกว่า ประเทศกำลังประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และการทำมาหากินของประชาชนกำลังฝืดเคือง ยากลำบากอย่างมาก
เสียงสะท้อนที่ร้องคัดค้าน เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และจากทุกฟากฝ่าย ซึ่งนับเป็นสัญญาณสำคัญที่บ่งชี้ว่า..รัฐบาลกำลังเดินหลงทาง และมีความผิดพลาดในการบริหารทรัพยากรอันจำกัด ไม่รู้จักจัดลำดับก่อนหลังในการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ ขาดการใส่ใจและไม่ตระหนักถึงความเดือดร้อนที่ประชาชนกำลังเผชิญ
ที่สำคัญการคัดค้านนี้ มิใช่เป็นการคัดค้านที่เกิดขึ้นจากอคติทางการเมือง เพราะกลุ่มคนต่างๆ ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้านล้วนเป็นเสียงที่มาจากหลากหลายภาคส่วน รวมทั้งมีผู้ที่เคยนิยมและสนับสนุนรัฐบาลมาก่อนหน้านี้รวมอยู่ด้วยเป็นจำนวนไม่น้อย
ยิ่งมีปัญหาที่หลายคนรู้สึกเหมือนรัฐบาลมีท่วงทำนองพยายามปกปิดเป็นความลับ ขาดความชัดเจนและไม่โปร่งใสในเรื่องที่เกี่ยวกับรายละเอียดการใช้จ่ายของงบประมาณในครั้งนี้ ยิ่งทำให้กระแสการคัดค้านไม่เห็นด้วย ยิ่งแผ่กระจายไปอย่างกว้างขวาง
การจัดซื้อ “เรือดำน้ำ” ครั้งนี้ มีผลผูกพันต่อเนื่องกับงบประมาณของประเทศไปอีกนานนับ 11 ปี จึงยิ่งมีคำถามดังๆ ถึงความเหมาะสม และที่สำคัญยิ่งคือ เป็นการกระทำที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่า การกระทำของคณะรัฐมนตรีเข้าข่ายการกระทำที่อาจผิดกฎหมาย เพราะก่องบประมาณผูกพันอนาคต เกินจากอำนาจหน้าที่ที่กฏหมายกำหนด
ข้ออ้างที่มีคนของรัฐบาลชี้แจงเพื่อปัดภาระว่า อนาคตหากไม่เห็นชอบ ก็อาจยกเลิกได้ ดูเหมือนเป็นเพียงความพยายามใช้วาทกรรมมาปัดให้พ้นตัว โดยทราบอยู่แก่ใจว่าการยกเลิกไม่อาจกระทำได้โดยง่าย ซึ่ง “เนติบริกรเดิมๆ ของรัฐบาล” คงมีภาระที่จะขวนขวายหาช่องว่างของ “อภินิหารทางกฏหมาย” มาหาทางออกให้รัฐบาลเช่นเดิม
ดังนั้นควรอย่างยิ่งที่ คณะรัฐมนตรีจะนำเสียงทักท้วงที่กำลังเกิดขึ้น ไปทบทวนมติเรื่องนี้เสียใหม่ โดยคำนึงถึงประโยชน์ระยะยาว และการไม่สร้างปัญหา ภาระให้แก่ประเทศและประชาชน

“ในยามที่ทรัพยากรของประเทศมีจำกัดและปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนกำลังเผชิญมีอยู่มากมาย การจัดสรรและใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม และคำนึงถึงการไม่ก่อภาระในอนาคตให้ประชาชน ถือเป็นความกล้าหาญที่เราอยากเห็นจากรัฐบาลชุดนี้”

2) อีกเรื่องที่มีความสำคัญไม่น้อยเช่นกันที่รัฐบาลควรต้องเร่งทบทวนคือ การไม่ให้ความสำคัญกับหลักประกันในสิทธิ เสรีภาพของประชาชนอย่างเพียงพอ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความพยายามออกกฏหมายหรือที่เรียกกันอย่างสวยหรูว่า “พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน” ซึ่งหลายคนเรียกอีกอย่างว่า “กฏหมายควบคุมสื่อ” หรือ “กฏหมายปิดปากสื่อ”
เรื่องนี้มีความสำคัญยิ่งเพราะถือเป็นมาตรวัดสำคัญที่โลกกำลังจับตามองประเทศไทยว่า มีความน่าเชื่อถือและสามารถสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นจากประชาคมโลกได้เพียงใด
การพยายามผลักดันการออก “กฏหมายที่ปิดกั้นและควบคุมสิทธิ เสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน ” จะเป็นการส่งสัญญาณสำคัญที่มีผลกระทบภาพลักษณ์ของประเทศ และมีผลต่อการยอมรับและความเชื่อมั่นที่นานาอารยะประเทศมีต่อประเทศไทยและรัฐบาลไทย ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อการตัดสินใจเข้ามาร่วมลงทุนและร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ของนักลงทุนและประเทศประชาธิปไตยทั้งปวง ซึ่งจะยิ่งส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศ
​นอกจากนั้น การออกกฏหมายดังกล่าว รังแต่จะสร้างปัญหาและขัดขวางการร่วมมือกันของประชาชนที่จะร่วมแสดงความคิดสร้างสรรค์ผ่าน “สื่อสาธารณะ” และถือเป็นการทำลายกระบวนการถ่วงดุลและตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในสังคมที่ต้องการธรรมาภิบาลและความโปร่งใสเช่นในปัจจุบัน
พึงระลึกไว้เถิดว่า การใช้งบประมาณที่ไม่เหมาะสม การออกกฎหมายที่ปิดกั้นและริดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน ล้วนเป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของประเทศ
หยุด การใช้งบประมาณที่ไม่เหมาะสม
หยุด การสร้างภาระและปัญหาให้ประเทศ
…ก่อนที่จะมีปัญหาทับถมมากไปกว่านี้

เอาสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนและของสื่อมวลชนคืนมา
เอาโอกาสของประเทศกลับคืนมา

ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการ
เลขาธิการพรรคเพื่อไทย 30 เมษายน 2560

ที่มา : www.facebook.com/phumthamw