อย่าเอาอนาคตของประเทศและความเดือดร้อนของประชาชนเป็นตัวประกัน

 

ผมได้ฟังคำพูดของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะผู้บริหารระดับสูงในรัฐบาลเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา แล้วรู้สึกไม่สบายใจกับความคิดเห็นของท่านและคณะ ต่อสถานการณ์ของประเทศในปัจจุบัน

  เหตุผลที่ผมกล่าวเช่นนี้เพราะท่านนายกฯ กำลังอธิบายถึงการกำหนดทิศทางและอนาคตของประเทศ โดยพยายามผนวก ”ปัญหาความเดือดร้อนที่ประชาชนกำลังเผชิญ” กับ “การแก้ไขปัญหาเรื่องความมั่นคงของประเทศ ที่เป็นปัจจัยสำคัญในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของการกลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตย”

  ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญ ที่อาจทำให้ประเทศของเราก้าวเดินไปข้างหน้าหรือล้าหลังผิดทางไปอีกอย่างน่าเสียดาย

สถานการณ์ประเทศวันนี้….
ผมมีมุมมองที่แตกต่างจากคณะผู้มีอำนาจในปัจจุบัน
เพราะผมเห็นว่า สภาวะสังคมทุกวันนี้ ประชาชนไทยโดยเฉพาะคนส่วนใหญ่ที่ยากจนหรือเป็นผู้ที่ขาดโอกาสกำลังประสบกับปัญหาที่ซับซ้อนในการดำรงชีวิต เป็นภาระโดยตรงที่รัฐบาลหรือผู้มีบทบาทในการดูแลประเทศ จะต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ในการแสวงหาหนทางคลี่คลายปัญหาของพวกเขา

     ผมเชื่อมั่นว่าบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ และผู้รักและห่วงใยในความทุกข์ยากของประชาชน ได้พยายามเฝ้าติดตามดูบทบาท และการทำงานของคณะ คสช. ที่เข้ามาบริหารประเทศ ภายหลังที่ท่านได้ทำการรัฐประหาร และยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลประชาธิปไตยไป ซึ่งเป็นการติดตามอย่างใกล้ชิดด้วยความห่วงใยว่า  สิ่งที่คณะของท่านกำลังดำเนินการ เป็นสิ่งที่มีคนจำนวนมากเห็นแตกต่าง และไม่มั่นใจว่าเป็นทิศทางการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับความต้องการแท้จริงของพวกเขา

     ปัญหาด้านเศรษฐกิจปากท้องที่พวกเราเห็นว่าท่านกำลังเดินผิดทาง คือ นับตั้งแต่วันที่ท่านเข้ามาบริหารประเทศ ท่านได้ยุตินโยบายต่างๆ ที่ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนเกือบทั้งหมด จากวันนั้นถึงวันนี้ เรายังไม่เห็นนโยบายรูปธรรมที่ช่วยคลี่คลายปัญหาของคนกลุ่มนี้อย่างเป็นที่น่าพอใจ ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรของเกษตรกรที่ยากจนยังไม่ได้รับการแก้ไขและซ้ำร้ายหนักขึ้นกว่าเดิม

     อีกตัวอย่างที่เป็นภาพสะท้อนวิธีคิดที่ขาดความเข้าใจในการคลี่คลายปัญหาให้ประชาชนที่เดือดร้อนและยากจนคือ ”นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ที่จำกัดการใช้จ่ายของประชาชน เฉพาะร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ซึ่งนับเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่เข้าใจปัญหา ไม่เข้าใจความเดือดร้อนที่เป็นจริงของประชาชน

อันที่จริง สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าและควรดำเนินการ คือ การพยายามกระจายทรัพยากรไปสู่คนที่มีรายได้น้อย โดยมุ่งให้ประชาชนมีสิทธิอิสระในการจับจ่ายใช้สอยอย่างสอดคล้องความต้องการที่แท้จริงของตัวเขาเอง โดยไม่ต้องเกรงกลัวว่าประชาชนจะไม่นำเงินไปใช้จ่ายหรือใช้จ่ายผิดประเภท  เพราะทุกบาททุกสตางค์ที่ลงไปสู่มือของพวกเขา ล้วนจะถูกใช้จ่ายอย่างเต็มที่เพื่อประคับประคองชีวิตที่ขาดแคลนที่พวกเขาเผชิญกันอยู่  ซึ่งหากรัฐบาลไม่จำกัดประเภทการใช้จ่ายหรือคิดแทนประชาชน  เงินสวัสดิการของประชาชนเหล่านี้ จะถูกกระจายไปอีกหลายรอบ สร้างการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ มากกว่าสิ่งที่รัฐบาลปัจจุบันกำลังทำอีกหลายเท่าตัว และที่สำคัญคือประชาชนรับรู้สิทธิ และเป็นเจ้าของสิทธินั้นด้วยความเป็นพลเมืองแห่งรัฐของเขาเอง

  นอกจากนั้น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้ไปเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยจากน้ำท่วมที่ จ.อ่างทองและได้ทราบว่า ยังมีพื้นที่อีกจำนวนไม่น้อยที่กำลังเผชิญกับภาวะความเดือดร้อนจากปัญหาภัยพิบัติ การอดทนอยู่กับภาวะน้ำท่วมมานานกว่า 3 เดือน นับเป็นปัญหาที่ถูกดูดายและประชาชนขาดความมั่นใจ เพราะรัฐหรือรัฐบาลยังไม่ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในการจัดการปัญหานี้อย่างเร่งด่วนและอย่างเต็มที่

     นอกจากปัญหารูปธรรมที่เป็นความเดือดร้อนต่อการดำเนินชีวิตปัจจุบันของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ แล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องใส่ใจและกระทำควบคู่กันไปกับการแก้ไขปัญหา และการดูแลความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน คือ “การนำพาประเทศให้ก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ทั่วโลกเขายอมรับและเรียกร้อง” อันเป็นการสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนให้แก่ประเทศ เพื่อให้หลุดพ้นจากอำนาจเฉพาะกลุ่มที่ลดสิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชน อันเป็นความห่วงใยที่นานาประเทศวิตกกังวลและจับตามอง

     ปัจจุบัน พ.ร.ป. พรรคการเมืองประกาศใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2560 และมีสภาพบังคับให้พรรคการเมืองต้องดำเนินกิจกรรมหลายอย่างให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ที่สำคัญเป็นเงื่อนไขของกระบวนการทำงานที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะการเปิดพื้นที่ประชาธิปไตยเป็นข้อกำหนดให้บรรดาพรรคการเมืองต้องทำงานประสานกับพี่น้องประชาชน เพื่อรับรู้ปัญหาและความต้องการที่พวกเขากำลังเผชิญ เพื่อนำมาสร้างสรรค์นโยบายและข้อเสนอแนะที่เป็นทางเลือกใหม่ๆ ในการสร้างความหวังและทางออกของชีวิตที่รุมเร้าเขาในปัจจุบัน  มิฉะนั้นแล้ว ประชาชนก็จะได้แนวนโยบายที่มีผู้คิดขึ้นเองจากส่วนกลางที่ไม่สะท้อนความต้องการ และความจำเป็นของพวกเขา

ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง สิ่งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันคือ “วิกฤตความเชื่อมั่น” ประเทศไทยภายใต้รัฐบาลปัจจุบัน เป็นประเทศที่ทำให้ประชาชนจำนวนมากขาดความเชื่อมั่น ไม่มีความมั่นคง รัฐบาลสามารถใช้อำนาจพิเศษเช่น มาตรา 44 ดำเนินการอะไร อย่างไร กับใครก็ได้  สิ่งเหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีผลกระทบอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจ และการลงทุนในประเทศ
     “การสร้างความเชื่อมั่นเพื่อแก้ปัญหา และเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมือง”โดยเร่งด่วน  จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งปฏิบัติ  และเป็นเรื่องเดียวกันกับ ”การแก้ปัญหาและความเดือดร้อนในชีวิตที่ประชาชนกำลังเผชิญ”

ปัญหาความเชื่อมั่นของประชาชนในประเทศและนานาชาติ กับปัญหาความเดือดร้อนต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนปัจจุบันเป็นเรื่องเดียวกัน ที่ส่งผลกระทบต่อกันและกัน และมีผลในการเสริมสร้างความมั่นคงของประเทศและชีวิตประชาชนไปพร้อมกัน

ไม่ควรมีใครหรือผู้ใด นำปัญหาใดปัญหาหนึ่ง มาเป็นข้ออ้าง และกล่าวว่า ต้องทำไปทีละเรื่อง  ต้องรอเรื่องนั้นสำเร็จก่อนจึงจะเริ่มเรื่องนี้ คำกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นเพียงการดึงเรื่องให้ช้าลง การสร้างความเชื่อมั่นในการเดินตามโร้ดแมป กำลังกลายเป็นข้ออ้างต่อนานาชาติที่จับตามอง แต่ในความเป็นจริงก็เป็นการมุ่งหวังให้พรรคการเมืองทำงานล่าช้า ยืดเวลาเพื่อให้การทำงานขัดต่อกระบวนการ เป็นการตัดตอนพรรคการเมืองในอีกนัยหนึ่ง

อย่าแยกเรื่องความมั่นคงของประเทศ และความเดือดร้อนของประชาชนออกจากกัน เพื่อยืดเวลาอยู่ในอำนาจ หรือเพื่อสืบทอดอำนาจของตนและพวกพ้องให้ยาวนานออกไป

รัฐบาลและกลุ่มผู้มีอำนาจ
ไม่มีสิทธิและไม่มีความชอบธรรม
ที่จะเอาอนาคตของประเทศและความเดือดร้อนของประชาชน
มาเป็นตัวประกัน เพื่อการดำรงอยู่ในอำนาจต่อไป

ภูมิธรรม เวชยชัย
เลขาธิการพรรคเพื่อไทย
7 พฤศจิกายน 2560

Categories: Interview