“เพื่อไทย” คัดค้านการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560
คำแถลงพรรคเพื่อไทย
เรื่อง คัดค้านการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560
ตามที่หัวหน้า คสช. ได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2560 ให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อพรรคการเมืองและสมาชิกพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิม ดังนี้
1. การกำหนดให้สมาชิกพรรคการเมือง ถ้าประสงค์จะเป็นสมาชิกพรรคต่อไป ต้องยื่นหนังสือยืนยันไปยังหัวหน้าพรรคและแสดงหลักฐานการมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม พร้อมชำระค่าบำรุงพรรค ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ 1 เมษายน 2561 ถ้าพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว หากไม่มีการดำเนินการถือว่าพ้นสมาชิก ซึ่งย่อมมีผลว่า นับแต่ออกคำสั่งนี้ สมาชิกพรรคไม่สามารถจะใช้สิทธิหน้าที่ในฐานะสมาชิกพรรคได้ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการ ลบล้างสมาชิกพรรคการเมืองที่มีอยู่ทั้งหมด การให้สมาชิกยืนยันพร้อมแสดงหลักฐานไม่ต่างกับการสมัครสมาชิกพรรคใหม่ คำสั่งนี้จึงมีผลทำให้สมาชิกพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมไม่มีสถานะตามกฎหมายเป็นสมาชิกพรรค จนกว่าจะมีการทำหนังสือยืนยันไปยังหัวหน้าพรรค ซึ่งถือว่าเป็นการรีเซ็ตสมาชิกพรรค
2. การกำหนดให้การจัดประชุมใหญ่ของพรรค เพื่อแก้ไขข้อบังคับ การเลือกกรรมการบริหาร การจัดตั้งสาขาพรรค และตัวแทนพรรคประจำจังหวัด ต้องทำภายใน 90 วัน นับแต่มีการยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 และคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 นั้น เป็นความไม่แน่นอนอย่างยิ่งว่า คสช. จะยกเลิกประกาศและคำสั่งดังกล่าวเมื่อใด หากไปยกเลิกใกล้ๆ วันเลือกตั้ง พรรคก็ไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ทัน และอาจ ไม่สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้
3. กำหนดให้ดำเนินการต่างๆ จะต้องขออนุญาต คสช. ก่อน และถ้าจะขอขยายเวลา ก็ทำได้เพียงหนึ่งเท่าของเวลาเดิม ทั้งที่ตามกฎหมายพรรคการเมืองกำหนดให้ขยายได้ถึง 3 ปี และหากดำเนินการไม่ครบถ้วน ห้ามมิให้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งและห้ามมิให้จัดสรรเงินอุดหนุนให้พรรคการเมือง เท่ากับเป็นการล็อคพรรคการเมืองไว้สองชั้น และเกิดความ ไม่แน่นอนแก่พรรคการเมือง
4. กำหนดให้พรรคการเมืองที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่สามารถดำเนินการจัดตั้งพรรคการเมือง จัดประชุมเพื่อเลือกกรรมการบริหาร จัดทำข้อบังคับได้ เพียงแต่การจัดประชุมเพื่อจัดตั้งพรรคต้องขออนุญาตจาก คสช. ก่อนเท่านั้น ยิ่งถือเป็นความไม่เท่าเทียมกันตามกฎหมาย มิใช่ เพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียม
พรรคเพื่อไทย เห็นว่า การออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ดังกล่าว ขัดต่อบทบัญญัติ ของรัฐธรรมนูญ ขาดความชอบธรรม ละเมิดสิทธิเสรีภาพของสมาชิกพรรค เปิดโอกาสให้กลุ่มการเมืองบางกลุ่มได้จัดตั้งพรรค เพื่อปูทางให้ คสช. ได้สืบทอดอำนาจต่อไป ซึ่งล้วน เป็นการทำลายพรรคการเมืองเดิม มิได้เป็นการช่วยเหลือตามที่อ้างแต่อย่างใด พรรคเพื่อไทยจึงขอแถลงคัดค้านคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 ดังนี้
ข้อ 1. รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ได้ผ่านความเห็นชอบจากประชาชนด้วยการออกเสียงประชามติ ประชาชนจึงเป็นผู้มีอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ เป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญ และเมื่อรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด การจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ หรืออำนาจหน้าที่ขององค์กรใดตามรัฐธรรมนูญ จึงต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 131 กำหนดให้รัฐสภาเป็นผู้มีอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขไว้อย่างชัดเจน ขณะนี้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ตามมาตรา 263 การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจึงต้องกระทำโดย สนช. แต่ คสช. เป็นเพียงองค์ ที่ได้อำนาจที่ได้รับมอบหมายมาจากรัฐธรรมนูญอีกทอดหนึ่ง การที่หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญโดยเข้าใช้อำนาจแทน สนช. นั้น จึงไม่อาจทำได้ และขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามนัยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 18 – 22/2555 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2555
ข้อ 2. การใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ประกอบมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 นั้น ต้องไม่ใช่เป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรอื่นไว้โดยเฉพาะ ดังนั้น การที่หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 53/2560 แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา หรือ สนช. ในปัจจุบันนั้น นอกจากไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 44 เพราะมิได้เป็นไปเพื่อปฏิรูปด้านต่างๆ ไม่ใช่เพื่อสร้างเสริมความสามัคคีปรองดอง หรือเพื่อป้องกัน ระงับปราบปรามการกระทำ ที่บ่อนทำลายความสงบเรียบร้อย ความมั่นคง เศรษฐกิจของประเทศหรือราชการแผ่นดินแล้ว การกระทำดังกล่าวยังถือเป็นการลบล้าง (Overrule) กระบวนการตรากฎหมายตามรัฐธรรมนูญด้วย และเหตุที่ คสช. ออกคำสั่งดังกล่าวก็เพื่อแก้ปัญหาที่ตนเองก่อขึ้นจากการออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 ที่ห้ามพรรคดำเนินกิจการทางการเมืองและคงข้อห้ามตามคำสั่งดังกล่าวไว้โดยไม่มีเหตุผล การออกคำสั่งดังกล่าวจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่มีความชอบธรรม
ข้อ 3. การกระทำของหัวหน้า คสช. เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของสมาชิกพรรคการเมืองอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การคงข้อห้ามตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 ที่ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง แม้รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 จะประกาศใช้แล้ว ก็ยังไม่ยอมยกเลิก ทั้งที่รัฐธรรมนูญได้รับรองเสรีภาพของบุคคลในการรวมตัวกันจัดตั้ง พรรคการเมือง และดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และเมื่อกฎหมายพรรคการเมืองประกาศใช้ ซึ่งกำหนดให้พรรคการเมืองต้องดำเนินการในเรื่องต่างๆ คสช. ก็ยังไม่ยกเลิกประกาศดังกล่าว มาวันนี้ หัวหน้า คสช. กลับมาแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายพรรคการเมือง โดยกำหนดให้รีเซ็ตสมาชิกพรรคที่มีอยู่เดิม กำหนดเงื่อนไขที่การดำเนินการต่างๆ ต้องได้รับอนุญาตจาก คสช. อีก การจะจัดประชุมใหญ่ตามที่กฎหมายกำหนดหรือการจัดตั้งสาขาพรรค หรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัด ก็ต้องรอให้ คสช. ยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ก่อน อันเป็นการกระทำที่ คสช. และหัวหน้า คสช. ไม่เคย ให้ความสำคัญและเคารพต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และไม่เคารพต่อสิทธิเสรีภาพ ของผู้อื่นเลย ทั้งที่ ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ มิได้มาจากพรรคการเมือง แต่เกิดจาก คสช. ทั้งสิ้น การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการทำลายระบบพรรคการเมืองของประชาชน
ข้อ 4. พรรคเห็นว่า การดำเนินการของ คสช. จะเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มการเมือง ที่ต้องการสนับสนุนให้ คสช. และหัวหน้า คสช. สืบทอดอำนาจทางการเมืองต่อไป โดยอาศัยคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ สามารถจัดประชุมเพื่อจัดตั้งพรรค การเลือกกรรมการบริหารพรรค การจัดทำข้อบังคับพรรคได้โดยเพียงขออนุญาตจัดประชุมต่อ คสช. ก่อนเท่านั้น แต่พรรคการเมืองเดิม กลับไม่สามารถทำได้ ประกอบกับมีข้อเท็จจริงว่า ก่อนออกคำสั่ง เพียงไม่กี่วัน มีการเรียกร้องจากบางกลุ่มการเมืองให้มีการรีเซ็ตสมาชิกพรรคใหม่ โดยอ้างเรื่องความเท่าเทียมของพรรคการเมืองเดิมและพรรคการเมืองที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งคำสั่ง ของหัวหน้า คสช. ก็ออกมาสอดคล้องกับข้อเรียกร้องดังกล่าว
การดำเนินการของหัวหน้า คสช. จึงมิใช่เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่พรรคการเมือง บนความเสมอภาคเท่าเทียมตามที่กล่าวอ้าง แต่กลับเป็นไปเพื่อทำลายพรรคการเมืองเดิม และสนับสนุนกลุ่มการเมืองที่จะจัดตั้งพรรคขึ้นใหม่มากกว่า
ข้อ 5. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 224 (5) กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง มีหน้าที่และอำนาจดูแลการดำเนินงานของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามกฎหมาย และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 23 กำหนดให้คณะกรรมการเลือกตั้งเป็นผู้ตอบข้อหารือของพรรคการเมืองหรือผู้สมัครในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายพรรคการเมือง และตามกฎหมายดังกล่าวก็บัญญัติให้ประธานกรรมการเลือกตั้งเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายนั้นๆ แต่ในคำสั่งข้อ 7 กลับกำหนดเพิ่มอำนาจให้ คสช. มีอำนาจตอบข้อหารือดังกล่าวได้ จึงถือว่า คสช. ใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยเพิ่มอำนาจให้ตนเองเข้าไปแทรกแซงในกระบวนการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองและกระบวนการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย คสช. ไม่มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าว นอกจากนี้ตามคำสั่ง ข้อ 8. ที่กำหนดให้องค์กรซึ่งเป็นองคาพยพของ คสช. หารือกับคณะกรรมการเลือกตั้งเพื่อร่วมกันจัดทำแผนและขั้นตอน การดำเนินการทางการเมืองเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งนั้น มีผลเท่ากับว่า คสช. เข้าไปแทรกแซงการดำเนินการของนายทะเบียนพรรคการเมืองและคณะกรรมการเลือกตั้งในการทำกิจกรรมทางการเมืองและการเลือกตั้ง ทั้งที่การดำเนินการต่างๆ มีกฎหมายบัญญัติอำนาจหน้าที่และขั้นตอนการดำเนินการดังกล่าวไว้แล้ว
ข้อ 6. การกำหนดระยะเวลาให้พรรคการเมืองเริ่มดำเนินการต่างๆ ได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 เป็นต้นไป ซึ่งจะครบระยะเวลาในเดือนตุลาคม 2561 หรือจะดำเนินการได้ต่อเมื่อได้มีการยกเลิกประกาศของ คสช. และคำสั่งของหัวหน้า คสช. นั้น เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า มีเจตนาซ่อนเร้นว่าจะมีการเลื่อนกำหนดวันเลือกตั้งเดิมที่กำหนดไว้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 ออกไป เพราะเมื่อถึงเวลาดังกล่าว พรรคการเมืองไม่อาจดำเนินการหรือส่งผู้สมัคร รับเลือกตั้งได้ทัน ก็จะเป็นเหตุผลและข้ออ้างของ คสช. ให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งได้
พรรคเพื่อไทยจึงเห็นว่า การออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ข้างต้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ชอบธรรมอย่างยิ่ง เป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจโดยมิได้เคารพและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ทำลายระบบพรรคการเมืองและสิทธิเสรีภาพของสมาชิกพรรค เพิ่มภาระให้แก่สมาชิกพรรคเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น เปิดช่องให้มีการตั้งพรรคการเมือง เพื่อสนับสนุนให้ คสช. และหัวหน้า คสช. ได้อยู่ในอำนาจต่อไป และเมื่อหัวหน้า คสช. ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย การออกคำสั่งดังกล่าวถือเป็นการใช้อำนาจเพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมือง อันขัดต่อหลักธรรมาภิบาล จึงขอให้ คสช. ได้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว รวมถึงประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 อันเป็นต้นเหตุแห่งข้ออ้างของ คสช. ในการออกคำสั่งฉบับนี้ด้วย ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะได้ยื่นเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยต่อไป
จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
พรรคเพื่อไทย
27 ธันวาคม 2560