“เพื่อไทย” เดินหน้า ร้องเอาผิด “ชาญวิทย์” ปมถือหุ้นสื่อ พร้อมร้องยุบพรรค พปชร.

          เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 30 เมษายน ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคพท. พร้อมด้วยนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค แถลงถึงกรณีการถือหุ้นสื่อของนายชาญวิทย์ วิภูศิริ กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ถือหุ้นสื่อ โดยนายปลอดประสพได้เซ็นเอกสารมอบอำนาจให้ฝ่ายกฎหมายของพรรคไปดำเนินการกับนายชาญวิทย์ ต่อหน้าสื่อมวลชน พร้อมแถลงว่า มี 5 ประเด็นหลักที่จะเสนอต่อสื่อมวลชน คือ 1.ฝ่ายรัฐบาลและทหารพูดเสมอว่าประเทศต้องปกครองภายใต้กฎหมาย ตนอยากจะจรรโลงสิ่งเหล่านี้ 2.อยากร้องเรียนเรื่องการตัดสินคดีต่างๆที่ไม่มีความเท่าเทียม ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งตนอยากให้เกิดความมั่นใจในส่วนนี้ 3.ตนจะร้องนายชาญวิทย์ กรณีถือหุ้นสื่อ 4.นายชาญวิทย์ และคณะกรรมการบริหารพรรคพปชร. ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในลักษณะยอมรับแล้วว่าถือหุ้นสื่อจริง และ 5.ตน และพรรคพท.ได้หารือกันแล้วโดยพรรคได้มอบหมายให้ตนดำเนินการให้จบสิ้นกระบวนความโดยการไปร้องนายชาญวิทย์ทั้งในสถานะส่วนตัว และในฐานะกรรมการบริหารพรรคพปร. ซึ่งการร้องเรียนนี้อาจทำให้เกิดการเลือกตั้งใหม่ และการที่นายชาญวิทย์เป็นกรรมการบริหารพรรคอาจส่งผลต่อพรรคพปชร. ซึ่งตนจะยื่นร้องต่อ กกต.ให้ดำเนินการเลือกตั้งใหม่ และให้ กกต.พิจารณากรณีถือหุ้นสื่อหาก กกต.เห็นว่ามีความผิดจริงก็ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคพปชร.โดยตนได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายพรรคไปยื่นเรื่อง กกต.ในวันพรุ่งนี้เวลา 10.00 น.

          ด้านนายชูศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีข้อพิสูจน์แล้ว คือ 1.ขณะรับสมัครรับเลือกตั้งนั้นนายชาญวิทย์เป็นเจ้าของและถือหุ้นในบริษัทที่มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการสื่อทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 42(3) ดังนั้นนายชาญวิทย์ถือเป็นบุคคลเข้าข่ายลักษณะต้องห้ามตามกฏหมาย และ 2.บุคคลใดที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารพรรค ซึ่งนายชาญวิทย์ในฐานะกรรมการบริหารพรรคจะต้องเซ็นรับรองด้วยแสดงว่ากรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็น รับรู้ และส่งผู้สมัครโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ถือว่ากรรมการบริหารพรรคประทำผิดกฎหมายเสียเอง ด้วยเหตุนี้กรรมการบริหารพรรคจะต้องรับผิดชอบในทางกฎหมายด้วย ดังนั้นหาก กกต.วินิจฉัยว่ามีความผิด กกต.มีอำนาจที่จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยใช้ยุบพรรคโดยระหว่างนั้น กกต.จะต้องเพิกถอน สิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลนั้นเป็นการชั่วคราว และหากผู้สมัครมีโอกาสได้รับเลือกตั้งหรือมีคะแนนเป็นอันดับหนึ่งต้องระงับการประกาศผลการเลือกตั้งและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่

ที่มา : มติชน  https://www.matichon.co.th/politics/news_1472338