“เพื่อไทย” จี้ กกต.ตรวจสอบปม ครม. เพิ่มเงิน อสม. เข้าข่ายหาเสียง

          วันที่ (1 พ.ค.62) เวลา 10.00 น.ที่พรรคเพื่อไทย พลตำรวจโทวิโรจน์ เปาอินทร์หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานด้านกฎหมายพรรค และนายชวลิต วิชยสุทธิ์ ได้ร่วมกันแถลงถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้เพิ่มค่าตอบแทนแก่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน( อสม. ) และได้มีการจ่ายเงินดังกล่าวแก่ อสม. ก่อนวันเลือกตั้งเพียง 2-4 วัน โดยเนื้อหาของคำแถลงมีใจความว่าตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 อนุมัติให้เพิ่มค่าตอบแทนให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน( อสม. ) จากเดิมคนละ 600 บาท เป็นคนละ 1,000 บาทต่อเดือน ซึ่งขณะนั้นมี อสม. ทั่วประเทศจำนวน 1,054,729 คน ตั้งแต่เดือนธันวาคม2561ถึง กันยายน 2562 เป็นเวลา 10 เดือน โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 4,218ล้านบาท ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีทราบข้อเท็จจริงแล้วว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 ต่อมาก็มีการโอนเงินดังกล่าวให้แก่ อสม. ย้อนหลัง3เดือนตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 ถึงมีนาคม 2562 จำนวน 1,024,407ราย เป็นเงินกว่า 1,814ล้านบาทในวันที่ 20-22 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นเวลาก่อนวันเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 เพียงไม่กี่วัน

 
          พรรคเพื่อไทยมิได้คัดค้านการที่จะเพิ่มเงินให้กับอสม.แต่เห็นว่าการอนุมัติเงินเพิ่มค่าตอบแทนแก่อสม. ดังกล่าว มีวาระทางการเมืองเพื่อการหาเสียงเลือกตั้งแอบแฝงและเห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากพบว่านโยบายการเพิ่มเงินให้กับ อสม.จาก600 บาท เป็น1,000 บาทนั้น เป็นยุทธศาสตร์ของพรรคพลังประชารัฐ อยู่ก่อนที่ ครม. จะมีมติและขณะนั้นนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรค ยังคงดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลอยู่ด้วยและบุคคลทั้ง 4 ก็ได้เข้าร่วมประชุมและมีมติอนุมัติเงินเพิ่มแก่ อสม. ด้วย ขณะที่พรรคพลังประชารัฐก็ได้ประกาศจะสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีรายชื่อของพรรค กรณีจึงเห็นได้ว่าการอนุมัติเงินเพิ่มแก่ อสม. ดังกล่าวแม้จะอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีแต่การใช้จ่ายจากเงินงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นนั้น น่าจะไม่เป็นเงื่อนไขของกฎหมายตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ.2560 ตามหนังสือเวียนสำนักงานงบประมาณที่ นร.0702/ว 105 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2561 และเป็นการอนุมัติโดยมีกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีร่วมอนุมัติด้วยถึง 4 คน โดยนโยบายดังกล่าวเป็นของพรรคพลังประชารัฐอยู่ก่อนแล้วด้วย 

          พรรคเพื่อไทยจึงเห็นว่าการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเงินเพิ่มแก่ อสม. ดังกล่าวจึงเข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่รัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบกระทำการเพื่อเป็นคุณแก่พรรคพลังประชารัฐอันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 78 และมาตรา 149 แห่ง พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2561 นอกจากนี้แม้จะเป็นการใช้เงินงบประมาณแผ่นดินเพื่อเพิ่มเงินแก่ อสม. แต่เมื่อพฤติการณ์ของการกระทำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการร่วมมือกันหรือรู้เห็นเป็นใจร่วมกันระหว่างคณะรัฐมนตรีและกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐอาจเป็นไปเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยเฉพาะ อสม. ได้ลงคะแนนเลือกผู้สมัครของพลังพรรคประชารัฐ โดยมีข้อเท็จจริงว่าหลังจาก ครม.อนุมัติแล้วถัดมาไม่กี่วันว่าที่ผู้สมัครของพรรคพลังประชารัฐก็ได้นำเรื่องดังกล่าวไปหาเสียงกับประชาชน การกระทำของ ครม. จึงอาจเข้าข่ายเป็นการให้ทรัพย์สินแก่บุคคลใดเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเสียงให้กับผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ตามมาตรา 73 (1) ของกฎหมายเลือกตั้งด้วย ซึ่งทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม