“เพื่อไทย” ยื่น “สรรเสริญ”​ ออกราชการ กรณีเป็นกระบอกเสียง พปชร. พร้อมจี้รัฐบาลเร่งทำความจริงให้ปรากฏ

วันนี้ (25 ก.ย. 62) ที่รัฐสภา นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้มอบหมายให้ ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง รองโฆษกพรรคเพื่อไทย เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้เร่งดำเนินการทางวินัยและมีคำสั่งให้ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ออกจากราชการไว้ก่อน ควบคู่ไปกับการดำเนินคดีอาญา

ทั้งนี้ หาก พล.ท.สรรเสริญ ยังอยู่ในตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ก็จะเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการสอบสวน เพราะ พล.ท.สรรเสริญ มีความใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจในรัฐบาลและกองทัพ ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์สำคัญของคณะรัฐประหาร ดังนั้น คณะกรรมการสอบสวนฯ อาจไม่กล้าตรวจสอบ พล.ท.สรรเสริญ เพราะเกรงใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เนื่องจากคนที่ได้รับประโยชน์จากการกระทำของ พล.ท.สรรเสริญ ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งหลังเลือกตั้งก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และพรรคพลังประชารัฐก็ได้จัดตั้งรัฐบาล

นอกจากนี้ ภายหลังเลือกตั้ง รุ่นพี่รุ่นน้อง พล.ท.สรรเสริญ จำนวนมาก ก็แยกย้ายกันไปรับตำแหน่งสำคัญในองค์กรต่างๆ เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี รองนายกฯ รัฐมนตรี หรือสมาชิกวุฒิสภา ที่สำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนแต่งตั้ง พล.ท.สรรเสริญ เป็นอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์เองกับมือ โดยใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 แสดงว่าเส้นใหญ่ ใครจะกล้าตรวจสอบเต็มที่ เพราะคนตรวจสอบล้วนเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งนั้น ย่อมต้องเกรงใจนายกฯ

จึงน่ากลัวว่า สุดท้ายก็จะหาคนผิดไม่ได้เหมือนกรณียืมนาฬิกาเพื่อน 20 กว่าเรือน ทั้งๆที่กรณี พล.ท.สรรเสริญ ถือเป็นการร้องเรียนที่มีมูลและมีน้ำหนัก เพราะคนที่เปิดโปงเรื่องนี้เป็นอดีตรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ซึ่งถือเป็นพยานที่น่าเชื่อถือ

ดังนั้น รัฐบาลต้องไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะไม่บ่อยนักที่ข้าราชการประจำจะกล้าแฉข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตต่างๆ ในองค์กรเพราะกลัวผลกระทบต่ออนาคตและหน้าที่การงาน รัฐบาลจึงต้องรีบทำความจริงให้ปรากฏเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ เนื่องจากรัฐบาลเองก็ประกาศนโยบายปราบปรามเฟคนิวส์หรือการปล่อยข่าวปลอม โดยใช้งบประมาณแผ่นดินมหาศาล แล้วรัฐบาลจะมาเป็นฝ่ายปล่อยเฟคนิวส์เสียเองได้อย่างไร

ซึ่งหลังจากนี้ พรรคเพื่อไทยจะยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. (การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร) เพื่อให้ติดตามกำกับว่ารัฐบาลได้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องนี้อย่างจริงจังและเป็นธรรมหรือไม่