“ชวลิต” แนะ รัฐออกนโยบายควบคุมสารพิษตั้งแต่ต้นทาง เพื่อยุติการตายผ่อนส่งของคนไทย
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส. นครพนม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นกรณี นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ยินดีลงนามในประกาศยกเลิกการใช้สารเคมีร้ายแรง 3 ตัว คือ พาราควอต คลอไพริฟอส และไกลโฟเซต หากคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้ยกเลิก นั้น ตนมีความเห็นว่า ขอขอบคุณ ท่าน รมว.เกษตรฯ ที่เริ่มส่งสัญญาณดีที่จะยกเลิกสารเคมีร้ายแรง 3 ตัวดังกล่าว แต่ท่านไม่ควรมีเงื่อนไขว่า จะต้องดำเนินการตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพราะฝ่ายบริหารย่อมมอบนโยบายที่สำคัญ คือ ชีวิตคนไทยมีค่ามากกว่าประโยชน์อื่นใดให้แก่คณะกรรมการวัตถุอันตรายรับไปปฏิบัติได้
เฉพาะอย่างยิ่ง ในฐานะที่ท่าน รมว.เกษตรฯ เป็นฝ่ายบริหาร ต้องกล้าตัดสินใจที่จะรักษาชีวิตคนไทยไม่ให้ตายผ่อนส่งจากสารเคมีร้ายแรง ที่ 53 ประเทศ ได้ประกาศเลิกใช้ ห้ามนำเข้าแล้ว แต่ประเทศไทยยังใช้อยู่ ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ที่ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรมจะไม่ให้ความสำคัญกับเกษตรปลอดภัย ปลอดภัยทั้งพืช ผัก ผลไม้ สิ่งแวดล้อม ปลอดภัยทั้งเกษตรกร และประชาชนผู้บริโภค รวมทั้งนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่มาชิมอาหารไทย จึงถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย ผู้บริโภคทั้งไทยและเทศให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ ตลอดจนประเทศเพื่อนบ้าน
ขอเรียนว่า ขณะนี้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางว่า ปัญหาพิษภัยจากสารเคมีร้ายแรงในภาคเกษตรกรรมอยู่ในขั้นวิกฤต ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง เป็นไปได้อย่างไรที่ยาฆ่าหญ้าได้ลงไปอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติที่ใช้ผลิตน้ำประปา ตลอดจนไปอยู่ในสัตว์น้ำ ทั้งปลาทั้งหอยแล้ว ทั้งนี้ ไม่นับการตาย การเจ็บป่วยของเกษตรกร และประชาชนคนไทย ซึ่งปีหนึ่งๆ มีเป็นจำนวนมากอย่างน่าตระหนกตกใจ โดยมีสถิติของกระทรวงสาธารณสุขเก็บรวบรวมเพื่อหาทางแก้ไขอยู่ แต่อยู่ในห้วงปลายทาง ซึ่งภาครัฐควรมีนโยบายแก้ไขปัญหาเสียแต่ต้นทาง เพื่อรักษาชีวิตคนไทย ทั้งประหยัดงบประมาณในการรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วย
“ผมเป็นห่วงว่า ประเทศไทยจะได้ชื่อว่าเป็นครัวของโลกได้อย่างไร ตราบใดที่ผืนดินอาบไปด้วยสารพิษร้ายแรงที่ถูกสั่งนำเข้ามาปีละไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท”
อย่างไรก็ตาม ประชาชนคนไทยทราบดีว่า การสั่งนำเข้าสารเคมีร้ายแรงดังกล่าว ซึ่งมีค่าการนำเข้าปีละไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท ดังกล่าวข้างต้น ย่อมมีผลประโยชน์มหาศาลเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงขอเป็นส่วนหนึ่งร่วมให้กำลังใจท่านในการฝ่าฟันงานที่ท้าทาย งานที่จะสร้างประวัติศาสตร์ สร้างผลงานที่สำคัญเพื่อคนไทยโดยส่วนรวมร่วมกัน
นายชวลิต กล่าวว่า ในการศึกษาของ กมธ. นั้น ได้ทำการศึกษาอย่างกว้างขวางในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยในระดับนโยบาย กมธ. ได้มีมติเชิญรัฐมนตรี 4 กระทรวง คือ เกษตรและสหกรณ์ สาธารณสุข พาณิชย์ และอุตสาหกรรม มาให้ข้อมูลกับ กมธ. ในวันพุธที่ 2 ตุลาคม 2562 เวลา 09.30 น. ณ ห้อง 311 สภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากประเด็นการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม อยู่ในความสนใจของประชาชนอย่างกว้างขวาง กมธ. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้รับความร่วมมือจากท่าน รมต. ทั้ง 4 ท่านเป็นอย่างดี