“7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ลงพื้นที่สัญจรภาคใต้ รับฟังปัญหาเกษตรกรชาวสวนยาง

วันนี้ (27 ก.ย. 62) 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน จัดกิจกรรม “ฝ่ายค้านเพื่อประชาชน สัญจร ภาคใต้” ลงพื้นที่รับฟังปัญหาจากพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพารา ณ ตลาดกลางยางพารา จังหวัดยะลา นำโดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย นายนิรามาน สุไลมาน ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ นายสราวุธ ยุติโยธิน รองโฆษกเพื่อชาติ พร้อมด้วย ส.ส. ในพื้นที่ นายซูการ์โน มะทา และนายอัลดุลอายี สาแม็ง ส.ส. ยะลา และนายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ส.ส. ปัตตานี มาต้อนรับ

นายมะเสาวดี ไสสากา ตัวแทนเกษตรจากสภาเกษตรกรจังหวัดยะลา กล่าวว่า รายได้ชาวยะลาส่วนใหญ่มาจากสวนยาง อีกส่วนมาจากสวนไม้ผล ชาวยะลาปลูกยางพาราราว 2 ล้านไร่ แต่อยู่ในระบบกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) 1.2 ล้านไร่ แต่อีก 8 แสนไร่ไม่ได้อยู่ในกองทุนฯ เพราะประชาชนไม่มีสิทธิในที่ดินทำกิน แม้จะถูกเก็บภาษีจากการค้ายางพารา แต่ไม่เคยได้รับเงินชดเชยเพราะไม่มีเอกสารสิทธิ์

ขณะเดียวกันปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เกษตรกรมีผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 250 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี มีรายได้รวมๆ 3,000 กว่าบาทต่อไร่ ต่อครอบครัว แล้วครอบครัวส่วนใหญ่มี 5-10 ไร่ ซึ่งรายได้ดังกล่าวยังต้องแบ่งครึ่งระหว่างเจ้าของสวนยางกับคนกรีดยาง อย่างไรก็ตามราคายาง 15 บาทต่อกิโลกรัมอยู่ไม่ได้ ต้องยกระดับเท่าตัวเป็น 30 บาทต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ยังฝากฝ่ายค้านไปกระตุ้นรัฐบาลให้ส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อเป็นนายทุนผลิตเอง เปิดโรงงานของเกษตรกรเอง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่ใช่โรงงานจากนายทุนข้างนอก

ตัวแทนจากทั้ง 7 พรรคได้รับเรื่องร้องเรียนของพี่น้องประชาชน และจะนำกลับไปคิดหาทางออกเพื่อกระตุ้นรัฐบาลให้ดำเนินการต่อไป

ขณะที่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหายางพารา ถ้าพูดกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ก็เหมือนพูดกับต้นยางพารา เพราะเขาฟังไม่รู้เรื่อง วันนี้ฝ่ายค้านจึงเป็นคนมารับฟังปัญหาเกษตรกร ทั้งนี้ตนเชื่อว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ ยังเป็นนายกฯ จะไม่สามารถแก้ไขปัญหายางพาราได้ และการจะแก้ไขปัญหายางพาราได้คือต้องเปลี่ยนนายกฯ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ เหมาะกับการสู้รบ บังคับบัญชาทหารมากกว่า ทั้งนี้ปัญหาที่เกษตรกรพูดมาไม่เข้าหูท่านแน่นอน เราต้องการคนเก่ง คนที่คิดได้ที่จะสามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาและมาเปลี่ยนแปลงได้ อย่างในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่มีการจับมือประเทศเพื่อบ้านเพื่อดึงราคายางสูงขึ้น อย่างไรก็ตามถ้าราคายางต่ำกว่า 70 บาทเมื่อไหร่ ชาวภาคใต้จนหมด เพราะอยู่ไม่ได้ ดังนั้น รัฐบาลที่ดีต้องทำอย่างไรก็ได้ให้ราคายางสูงกว่า 70 บาท เพราะเมื่อก่อนที่ยางราคาดี เศรษฐกิจก็ดี ในภาคใต้คนแย่งกันซื้อรถยนต์คนไม่พอขาย แต่วันนี้นอกจากไม่มีเงินซื้อแล้ว รถที่ซื้อมายังโดนยึดเสียอีก

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า การกำหนดนโยบายจะทำไม่ได้จริงเลย ถ้าขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน  เช่น ตลาดประชารัฐ ทุกวันนี้ซบเซาไม่มีคนซื้อ นโยบายโครงการมารดาประชารัฐ ค่าแรงขั้นต่ำ หรือแม้กระทั่งราคายางที่รัฐบาลเคยสัญญาตอนหาเสียงว่า 80 บาทต่อกิโลกรัม ก็ยังทำไม่ได้

พล.ท.ภราดร กล่าวว่า การทำงานของรัฐบาลไม่ลงลึกในรายละเอียด เช่น ปัญหาราคายางพารา สามารถแก้ได้ แต่ไม่สนใจ เหมือนกับปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

นายนิคม กล่าวว่า งบประมาณของชาติส่วนใหญ่ถูกจัดสรรให้กับกองทัพ แต่ถ้ารัฐบาลนำมาพัฒนาและแก้ปัญหาการเกษตร ก็จะแก้ปัญหาราคายางพาราได้ ขณะที่การค้าขายกับต่างประเทศขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นในรัฐบาล แต่รัฐบาลที่ผ่านมาเป็นรัฐบาลเผด็จการ ต่างชาติก็ไม่ค้าขายด้วย รวมทั้งรัฐบาลทหารเองก็ไม่มีฝีมือ แทนที่จะหาเทคโนโลยีหรือนโยบายใหม่ๆ มาแก้ปัญหาราคายาง เช่น นโยบายของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่เอาสินค้าเกษตรไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าต่างชาติที่ประเทศไทยผลิตไม่ได้