“ชัยเกษม” เตือน “บุรินทร์” กลั่นกรองให้ดีก่อนฟ้องใคร ชี้ อย่าเอาวิธีการสมัยรัฐประหารมาใช้

(4 ต.ค. 62) นายชัยเกษม นิติสิริ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านการตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมและอำนาจรัฐ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ฟ้องเอาผิดแกนนำ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน และนักวิชาการ 12 คน ขึ้นเวทีปลุกแก้รัฐธรรมนูญที่จังหวัดปัตตานี ตามกฎหมายอาญา มาตรา 116 ว่า การที่ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้ชำนาญการสำนักงาน กอ.รมน. ภาค 4 แจ้งความตามมาตรา 116 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต” ตาม (2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ (3) เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน แต่จากรายงานประจำวันที่บันทึกการแจ้งความข่าวพบว่า ไม่มีการแจ้งว่าใคร พูดอะไร ตอนไหน อย่างไร ที่จะเข้าข่ายความผิดมาตรานี้ เป็นเพียงการแจ้งความหว่านแห แสดงให้เห็นว่าคนแจ้งยังไม่เข้าใจชัดเจนด้วยซ้ำว่าข้อเท็จจริงจะเข้าความผิดมาตรานี้ และปล่อยให้เป็นดุลยพินิจเจ้าพนักงาน เหมือนกับการแจ้งความที่เกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศอยู่ในระบอบการปกครองของ คสช. และสุดท้ายนำไปสู่การไม่ฟ้องของอัยการ และการยกฟ้องของศาล เนื่องจากไม่มีน้ำหนักเพียงพอ

ทั้งนี้ นายชัยเกษม กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นฝ่ายกฎหมายของทหาร ควรกลั่นกรองให้ดีก่อนที่จะฟ้องใคร ไม่ใช่ให้เจ้าพนักงานเขาไปดูเอง ไม่ใช่สิ่งที่ควรกระทำสำหรับนักกฎหมายที่จะกล่าวหาคนอื่นในลักษณะนี้ ทั้งนี้ตนเองอ่านเนื้อหาที่แจ้งความแล้วยังไม่รู้ว่าตรงไหนที่จะเข้า ปั่นป่วน กระด้างกระเดื่อง ก่อความไม่สงบ หรือล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ดังนั้นผู้แจ้งความควรตัดตอนออกมาให้ชัดเจนว่าคำกล่าวท่อนไหนที่ผิด ไม่ใช่กล่าวหาลอยๆ กว้างๆ แล้วให้เจ้าพนักงานไปทำเอาเอง รู้แต่ข้อหา แต่ไม่รู้ว่าตรงไหนอย่างไร เหมือนโยนเข็มในมหาสมุทร ให้พนักงานไปทำงานเอง

นายชัยเกษม ย้ำว่า หมดยุค คสช. หมดยุคที่หน่วยงานทั้งหลายที่จะทำตามความเห็น คสช. และหมดยุคการใช้อำนาจตาม มาตรา 44 แล้ว ทั้งนี้ยังยอมรับว่าการกระทำเช่นนี้อาจไม่ใช่การหวังผลทางกฎหมาย แต่อาจจะทำเพื่อให้ส่งผลต่อประชาชนให้ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญมากกว่า ทั้งที่การแสดงความคิดเห็นของประชาชนเป็นสิทธิที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ถ้าใครวิจารณ์แล้วผิดกฎหมายก็ต้องรับผิดชอบตามนั้น อีกทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังสามารถทำได้ตามหมวด 15 เว้นแต่สิ่งที่พูดแล้วน่าจะทำไม่ได้คือมาตรา 255 ในรัฐธรรมนูญคือเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจะกระทำไม่ได้ แต่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง เช่น การปกครองท้องถิ่นที่มีเอกภาพของตัวเองมากขึ้นอย่าง กรุงเทพมหานคร หรือเมืองพัทยา เป็นสิ่งที่สามารถทำได้และหยิบยกขึ้นมาพูดได้

ทั้งนี้ นายชัยเกษม กล่าวสรุปว่า การแจ้งความไว้ก่อนเป็นสิ่งไม่ควรกระทำในยุคที่ประเทศเริ่มเป็นประชาธิปไตย การกระทำลักษณะนี้อาจเป็นการเตือนว่าอย่ามาพูด อย่ามาแสดงความคิดเห็น แม้จะมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ การเอาคนไปอยู่คดีไว้ก่อน ไม่ใช่วิธีการตามหลักประชาธิปไตย เพราะถ้าคนๆ นั้นมีโอกาสหาทนายเองหรือช่วยเหลือตัวเองได้ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าคนที่ไม่มีเงินหรือโอกาสมากพอที่จะเข้าถึงทนายและกระบวนการยุติธรรม ก็จะกระเทือนถึงสิทธิเสรีภาพของบุคคลนั้นด้วย ตนจึงขอร้องว่าประเทศกำลังเดินทางไปในเส้นทางประชาธิปไตยที่ดี อย่าเอาวิธีการในสมัยปฏิวัติรัฐประหารมาใช้