เพื่อไทย เสนอ 6 นโยบายสร้างความเข้มแข็ง -3 มาตรการฟื้นฟู SMEs พร้อมสร้างสภา SME มีกฎหมายรองรับ ลั่นจะไม่ยอมให้ SMEs ตายไปอย่างเด็ดขาด เพราะSMEs คือกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจ

 พรรคเพื่อไทย 
ร่วมกับสถาบันสร้างไทย และสมาคมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย
จัดงานเสวนา “พลิกวิกฤต
SMEs ไทยให้ทันโลก” โดย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย
กล่าวเปิดงานพร้อมกล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก
หรือ SMEs กว่า 3 ล้านราย  สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ (GDP) กว่า 6.5 ล้านล้านบาท คิดเป็น 42.4% ของ GDP แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการ SMEs อยู่ในภาวะสิ้นหวัง
เนื่องจากรัฐบาลไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการบริหารประเทศ จนกระทบกับ SMEs
เป็นอย่างมาก

พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้ริเริ่มส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ขอเสนอ 6 นโยบายที่จะช่วยให้ SMEs เข้มแข็งขึ้นในอนาคต  ได้แก่

1.ทำให้ตลาดโลกกลายเป็นตลาดของสินค้าไทย
ต้องติดปีก SMEs ไทยให้ไปสู่ตลาดโลก

2.รัฐบาลต้องส่งเสริมและเข้าใจตลาดยุคใหม่
โดยเฉพาะ e-Commerce

3.สร้าง BOI SMEs เพื่อสนับสนุนสิทธิพิเศษและเงินทุนให้กับผู้ประกอบการ

4.สร้างสิทธิพิเศษให้กับ SMEs ในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้เทียบเท่ากับผู้ประกอบการรายใหญ่  เพื่อลดต้นทุนทางตรง ทั้งภาษี,พิธีการศุลกากร
และใบอนุญาต

5.สร้างแบรนด์ SMEs ให้แข็งแรง 
และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายเล็กรวมแบรนด์เป็น “ไทยแลนด์แบรนด์”  ต้องมีช่องทางการจำหน่ายสินค้าไทย
เช่นเดียวกับอาลีบาบา

6.ทำลายอุปสรรคขัดขวางการทำธุรกิจของคนตัวเล็ก  ปรับหรือแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ SMEs ดำเนินธุรกิจได้คล่องตัวขึ้น

พร้อมเสนอ 3
มาตรการฟื้นฟูผู้ประกอบการ SMEs ได้แก่

1.ส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้ SMEs
อย่างเร่งด่วน และส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน

2.เตรียมความพร้อม SMEs ปรับตัวได้ทันกับการค้าโลก

3.กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ
และสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างประเทศ


นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย  กล่าวว่า กลไกสำคัญของธุรกิจ SMEs
คือ ธนาคารพาณิชย์ ทั้งธนาคารในกำกับของรัฐและสถาบันการเงินของภาคเอกชน
หากธนาคารแข่งขันกันในการมองโอกาสของผู้ประกอบการ SMEs ที่มีกว่า
4 แสนราย จะมีส่วนทำให้ธุรกิจ SMEs เติบโต
พร้อมเสนอบันได 7 ขั้นของธุรกิจ
SMEs ได้แก่

1.เริ่มต้นก่อตั้งธุรกิจคนเดียว

2.เชิญชวนผู้อื่นมาร่วมลงทุน เพื่อแสดงให้ธนาคารรู้ว่า
ผู้กู้ร่วมงานกับผู้อื่นได้

3.เชิญชวนผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น อาจารย์
นักวิชาการ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาและกรรมการอิสระ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ

4.กู้เงินกับธนาคาร
เพื่อสร้างสภาพคล่องทางการเงิน

5.มองหากองทุนร่วมลงทุน (Venture
Capital)

6.เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI

7.เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

นายโภคิน พลกุล  ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านนโยบายและเเผนงาน
พรรคเพื่อไทย เสนอให้มีการผลักดันการจัดตั้งกองทุน SMEs เข้าสู่สภาฯ
โดยผู้ประกอบการรายย่อยต้องรวมตัวกันสะท้อนปัญหา และขับเคลื่อนนโยบายเข้าสู่สภาฯ
เพื่อให้ภาครัฐสนับสนุนต่อไป  ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับ
SMEs มาโดยตลอด เพราะ SMEs คือกระดูกสันหลังของประเทศ
แต่ 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยสูญเสียโอกาส  เพราะเศรษฐกิจไทยไม่ขยายตัว รัฐบาลมีหนี้สาธารณะสูง ประชาชนเป็นหนี้ และ SMEs ล้มหายตายจากไปจากระบบเศรษฐกิจ 

ทั้งนี้ รัฐบาลควรลดต้นทุน  อำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ
และยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็นทุกฉบับ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนต่างๆ  ส่งเสริมให้เข้าถึงตลาดใหม่ๆ พัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าเพิ่ม และมีการสร้างองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการด้วย

นายไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์  ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย ในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบการ SMEs
กล่าวว่า ที่ผ่านมาการเติบโตของ GDP ผันผวน ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับผลกระทบ
จากปัจจัยหลัก 3 ด้าน
คือ ความต้องการภายในประเทศที่ตกต่ำ ทำให้ประชาชนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย,หนี้สินครัวเรือนสูงทำให้คนทำงานหรือผู้ประกอบการ
SMEs ไม่กล้าจับจ่าย หรือมีหนี้สินระยะยาว  เช่น ซื้อบ้านหรือรถ และสินค้าทางการเกษตรตกต่ำ

ปัจจุบัน แม้เทคโนโลยีดิจิทัลจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถขายสินค้าออนไลน์จากที่ใดก็ได้ในโลก  แต่มีข้อเสียคือผู้ประกอบการไม่สามารถรู้ได้ว่า  สินค้าขายได้เพราะอะไร  รูปหรือเพราะช่วงเวลานั้นหรือพื้นที่นั้นมีความต้องการสินค้า
ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถทำการขายซ้ำได้ ซี่งเป็นสิ่งที่จะพลิกวิกฤติยอดขาย
SMEs
ได้ ดังนั้น ธุรกิจต้องมีข้อมูล
เพราะข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อนทางการตลาด และการดำเนินงานให้สะดวก รวดเร็ว ลดต้นทุน