“วิปฝ่ายค้าน” จัดทัพพร้อมอภิปรายงบฯ ปี’63 ยัน ไม่ซ้ำประเด็น-ไม่สาดโคลน ยึดประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก

(15 ต.ค. 62) ที่พรรคเพื่อไทย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคการเมืองฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส. เชียงใหม่ ในฐานะเลขานุการวิปฝ่ายค้าน ร่วมแถลงภายหลังการประชุมวิป 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวถึงการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ว่า เชื่อว่าจะได้ใช้เวลาในการประชุม 3 วัน เพราะการประชุมวันแรกในวันที่ 17 ตุลาคมนี้มีวาระด่วนในการพิจารณาทำให้การอภิปรายเหลือเวลาไม่เต็ม 3 วัน ซึ่งฝ่ายค้านยังไม่เห็นด้วยในกรอบเวลาเดิมที่วางไว้ ถึงแม้รัฐบาลจะมองว่าการประชุมวาระแรกแต่ก็มีรายละเอียดที่สำคัญ มีวงเงินงบประมาณสูงถึง 3.2 ล้านล้านบาท โดยฝ่ายค้านจัดผู้อภิปรายแต่ละพรรคแบบไม่ซ้ำประเด็น ดังนั้นเวลาที่จึงไม่สอดคล้องกับเนื้อหาที่จะอภิปราย พรรคเพื่อไทยจึงหวังว่า ประธานสภาฯ จะเห็นความตั้งใจและประโยชน์ของประชาชนตามที่ร้องขอ ทั้งนี้ได้เชิญตัวแทนจากสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง เข้าให้ข้อมูลใน ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 เพื่อให้เข้าให้ข้อมูล ตอบข้อสงสัย ซึ่งจะเป็นประโยชน์เพิ่มความถูกต้อง และขอยืนยันว่าการทำงานไม่มีการตั้งโจทย์ ตั้งเป้า ไม่ทำงานแบบสาดโคลน ทำลายฝ่ายตรงข้าม หรือสร้างวาทกรรมทำลายความน่าเชื่อถือ ยึดข้อมูลเป็นที่ตั้ง มั่นใจจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน

ด้าน นายสุทิน กล่าวว่า การอภิปรายเน้นให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน อะไรที่เห็นว่าไม่ดีฝ่ายค้านจะท้วงติงและเสนอแนะ หากรัฐบาลพร้อมรับฟังความเห็นและรับไปแก้ไข ฝ่ายค้านจะให้โอกาส โดยเราอาจจะผ่าน ร่าง พ.ร.บ.งบฯให้ในวาระที่ 1 แบบสบายกว่าที่คิด แต่หากรัฐบาลดึงดันไม่นำไปปรับแก้ เราจะไม่ให้โอกาสในวาระที่ 2-3 ฝ่ายค้านจะชี้ให้เห็นข้อบกพร่องหลายด้าน อย่าคิดว่าฝ่ายค้านจะตามไม่ทันหรือไม่รู้ไม่เห็น เพราะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณอีกหลายฉบับ ประกอบด้วย รัฐธรรมนูญ , พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีงบประมาณ , พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการถ่ายโอนงบประมาณ

ส่วนบุคคลที่จะอภิปราย 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านมีจำนวน 106 คน แบ่งเป็น พรรคเพื่อไทย 66 คนพรรคอนาคตใหม่ 33 คน พรรคเสรีรวมไทย 2 คน พรรคประชาชาติ 2 คน พรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 คน พรรคเพื่อไทย 1 คน และพรรคพลังปวงชนไทย 1 คน พร้อมย้ำว่าการอภิปรายของฝ่ายค้านจะไม่มีประเด็นทับซ้อนกัน ดังนั้นไม่มีเหตุผลที่ประธานสภาฯจะตัดโอกาส การอภิปรายในสภาฯเป็นสิทธิที่ต้องเคารพกัน หากสมาชิกพูดตามข้อบังคับการประชุม ประธานสภาฯไม่ควรจำกัดการอภิปราย ดังนั้นไม่ควรบีบบังคับด้วยเงื่อนไขเวลา รวมถึงขอให้ประธานวิปรัฐบาลพิจารณาเรื่องนี้

“หากนำเวลามารวมกันแล้วหารด้วยจำนวนคน อาจได้เวลาไม่ถึงคนละ 5 นาที เป็นเรื่องไม่ควรอย่างยิ่ง การทำงบประมาณมา 5 ปี ไม่มีการตรวจสอบที่สมบูรณ์ เพราะร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 2563 มีฐานเดิมมาจากงบประมาณเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ต้องให้เวลา ไม่ได้หมายความว่าจะพูดถึง 5 ปีที่ผ่านมาเพียงอย่างเดียว เราจะสะสางให้เข้าที่เข้าทาง และต้องจัดสรรงบฯให้สอดคล้องกัน” นายสุทิน กล่าว