“เพื่อไทย” แถลงจุดยืน 9 ข้อ แบนสารพิษทางการเกษตร แนะรัฐใช้งบฯความมั่นคงแก้ปัญหา พร้อมเร่งเยียวยาผู้เกี่ยวข้อง

(21 ต.ค. 62) ที่พรรคเพื่อไทย ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร และนายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร แถลงถึงจุดยืน 9 ข้อในการแบนสารเคมีทางการเกษตร

โดย ดร.ปลอดประสพ กล่าวว่า
ในวันพรุ่งนี้คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะแบน 3
สารพิษร้ายแรงหรือไม่ คือ คลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต
ซึ่งพรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคการเมืองที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง
และเป็นผู้เสนอญัตติเรื่องนี้ต่อสภาฯมาตั้งแต่แรก
เมื่อสภามีมติเป็นเอกฉันท์ในการตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา เพราะฉะนั้น
พรรคเพื่อไทยถือว่าเป็นเจ้าของเรื่องนี้ และขอประกาศจุดยืน 9 ข้อ ดังนี้

1.
พรรคเพื่อไทยมองว่าเกษตรกรจำนวน 30 ล้านคนของประเทศ และที่ดินประมาณ 100
ล้านไร่ที่ทำการเกษตรอยู่ในขณะนี้ เราถือว่านี่คือ “ความมั่นคงของชาติ”

2.
พรรคเพื่อไทยเชื่อว่าการเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร ธุรกิจทางการเกษตร
ถ้าทำอย่างถูกต้องจะสามารถนำพาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองไปได้อย่างยั่งยืน
และสามารถทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศมหาอำนาจทางด้านอาหารของโลก

3.
พรรคเพื่อไทยเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ทางด้านเกษตรที่สะอาดปลอดภัย
และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
และเป็นเป้าหมายของการพัฒนาการเกษตรของประเทศ

4.
ข้อเท็จจริงทางด้านวิชาการจากหลายสถาบัน
เห็นในเชิงประจักษ์และยืนยันแล้วว่า คลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต
เป็นอันตรายร้ายแรงที่สุด ทั้งต่อเกษตรกรผู้ใช้ ต่อประชาชนผู้บริโภค
และต่อสิ่งแวดล้อมแน่นอน

5. พรรคเพื่อไทยเล็งเห็นว่าควรจะต้องระวังในการมีไว้ในครอบครอง และการระงับใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้โดยทันที

6.

พรรคเพื่อไทยเห็นว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องหาทางออกให้กับเรื่องการทดแทนของสารพิษเหล่านี้
และเร่งเยียวยาผู้เกี่ยวข้องโดยเร็วที่สุด

7.
พรรคเพื่อไทยเสนอว่าควรใช้งบประมาณในส่วนของความมั่นคงมาบรรเทาผลกระทบที่จะมีต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการ
เพราะการเกษตรเป็นความมั่นคงชาติทั้งในทางอาหารและสิ่งแวดล้อม
เมื่อความมั่นคงชาติได้รับผลกระทบก็ต้องใช้งบประมาณด้านความมั่นคงมาดำเนินการแก้ไขปัญหา
ถ้ายังปล่อยไว้จะเป็นการเดินหน้าสู่ความตายของประชาชนและสิ่งแวดล้อม

8.
เราเคยประกาศยกเลิกสัมปทานป่าไม้ในอดีตมาเมื่อหลายปีก่อน
เนื่องจากเราเห็นว่าป่าได้ถูกทำลาย
รัฐบาลในขณะนั้นก็ได้เยียวยาผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือ
การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำประมง โดยออกกฎหมายและระเบียบต่างๆ
เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบของเรือประมงเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ดังนั้น
แนวทางการเยียวยาเคยเกิดขึ้นมาแล้ว
ในเมื่อครั้งนี้มีความจำเป็นและเพื่อความอยู่รอดของประเทศ
ก็ต้องเสียสละเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ 

9.
การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 22 ต.ค.นี้
พรรคเพื่อไทยขอให้กำลังใจคณะกรรมการในการตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์
โดยคณะกรรมการต้องมองความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก

ด้าน นายชวลิต กล่าวว่า
จากการที่ได้หารือกับองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เกี่ยวข้องแล้ว
คณะกรรมาธิการมีความเห็นว่าควรมีการยกเลิกการใช้สารพิษดังกล่าว ทั้งนี้
เชื่อว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปพิจารณา

นอกจากนี้
คณะกรรมาธิการขอยืนยันว่าไม่สนับสนุนการหาสารเคมีอื่นมาทดแทน
ไม่เอื้อกลุ่มทุนด้านสารเคมีการเกษตร
โดยคณะกรรมาธิการจะสนับสนุนการเกษตรแบบอินทรีเป็นวาระเห็นชาติ

“หากคณะกรรมการไม่แบนสารพิษ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ต้องรับผิดชอบในฐานะผู้รับผิดชอบนโยบายสูงสุด”

ขณะเดียวกัน ยังได้พบว่าผลผลิตเกษตรจากจีนจากด่านเชียงของ ไม่มีห้องแล็บสุ่มตรวจพืชผักผลไม้แม้แต่เครื่องเดียว ดังนั้น คณะกรรมาธิการจึงได้ไปตรวจสอบที่ตลาดไทในฐานะปลายทางพบว่ามีคนทำล้งรับผักผลไม้จากจีนโดยเฉพาะ จึงอยากเรียกร้องไปยังรัฐบาลว่าเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ควรใช้งบประมาณด้านความมั่นคงไปสร้างห้องแล็บเพื่อสุ่มตรวจหาสารเคมีทันทีประมาณ 20 ล้านบาท เพราะไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าความปลอดภัยของผู้บริโภค