“สุณิสา” จี้ รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาหลังถูกตัด GSP แนะ “ประยุทธ์” หากทำไม่ได้ก็ควรลาออกไป
(28 ต.ค. 62) ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐบาลไม่ควรประเมินความเสียหายจากการที่สหรัฐฯ ตัด GSP ไทยต่ำเกินไป เพราะการคำนวณความเสียหายเรื่องนี้จะดูแค่ตัวเลขภาษี 1,500-1,600 ล้านบาท ที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายเท่านั้น แต่ต้องคำนวณค่าเสียโอกาสจากการที่สินค้าไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางการค้าด้วย ซึ่งรวมๆแล้ว อาจจะมากกว่า 40,000 ล้านบาทด้วยซ้ำ และในการเจรจากับสหรัฐฯเพื่ออุทธรณ์เรื่องนี้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ควรดูโมเดลที่ประเทศอื่นใช้แก้ปัญหา โดยเฉพาะอินเดีย ซึ่งเขาใช้วิธีชี้ให้สหรัฐฯเห็นข้อเสียที่จะเกิดกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯเองจากการตัด GPS ประเทศกำลังพัฒนา เพราะจะทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันซื้อของในราคาแพงขึ้น และจะทำให้ต้นทุนการผลิตของสินค้าสหรัฐฯสูงขึ้นด้วย เพราะในอดีตผู้ประกอบการสหรัฐฯ ก็ได้ประโยชน์จากการซื้อวัตถุดิบราคาถูกจากประเทศที่ได้สิทธิ GSP เช่นกัน ที่สำคัญ จะทำให้ผู้ประกอบการจีนได้ประโยชน์ เพราะสามารถแข่งขันด้านราคาได้กับคู่แข่งที่เคยขายสินค้าราคาถูกกว่าเพราะถูกตัด GSP และจีนจะได้ส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้น ซึ่งก็จะสวนทางกับนโยบายของสหรัฐฯเองที่ต้องการลดการขาดดุลการค้ากับจีน นอกจากนี้ อินเดียยังเพิ่มกำแพงภาษีเพื่อตอบโต้สหรัฐฯด้วย
ซึ่งถ้ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ สามารถชี้ให้สหรัฐฯเห็นข้อเสียที่จะเกิดขึ้นต่อผลประโยชน์ของชาวอเมริกันเอง ก็อาจทำให้สหรัฐฯมีท่าทีที่ผ่อนคลายลงได้ โดยที่ไทยไม่ต้องเอาผลประโยชน์ของชาติด้านอื่นๆไปแลก ซึ่งนี่คือท่าทีที่ถูกต้องในการเจรจาต่อรองทางการค้าที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ควรดูเป็นตัวอย่าง อย่าใช้อารมณ์ตัดสินโดยใช้ถ้อยคำรุนแรง เพราะนอกจากจะไม่แก้ปัญหาแล้ว ยังจะเป็นการสร้างเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคในการเจรจา ทั้งยังอาจลุกลามไปส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ด้านอื่นๆ ระหว่างไทยและสหรัฐฯด้วย
นอกจากนี้ มันก็ย้อนแย้งกับท่าทีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เอง ที่กำลังจะยื่นอุทธรณ์ขอความเห็นใจจากสหรัฐฯ แต่กลับไปต่อว่าเขานิสัยไม่ดี ซึ่งอันที่จริง หากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่แคร์สหรัฐฯ ก็อย่าไปแบมือขอ GSP จากเขา แต่ถ้าหากยังต้องการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกันอยู่ ก็ต้องระมัดระวังคำพูดมากกว่านี้ แต่ทางที่ดี รัฐบาลควรพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย ให้สามารถแข่งขันได้โดยไม่ต้องพึ่งพา GSP และต้องเปิดตลาดการค้ากับประเทศใหม่ๆบ้าง จะได้ไม่ถูกต่างชาติใช้เรื่องนี้มาบีบหรือข่มเหง เพราะในอนาคต สหรัฐฯอาจล้มเลิกการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีผ่านโครงการ GSP เพราะมีแรงกดดันจากการเมืองภายในสหรัฐฯเช่นกันให้ยุติการให้ GSP ต่างชาติเสียที
และที่สำคัญ อยากถามรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ว่าเตรียมรับมือแล้วหรือยัง กับการถูกตัด GSP ระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้น เพราะขณะนี้ยังมีประเด็นที่สมาพันธ์ผู้ค้าสุกรสหรัฐฯร้องทุกข์ไปยังสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯว่าถูกไทยกีดกันการนำเข้าเนื้อหมูและเครื่องใน ซึ่งหากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีแผนรองรับในการแก้ปัญหา ก็จะยิ่งซ้ำเติมผู้ส่งออกไทยที่ประสบปัญหาค่าเงินบาทแข็งทำให้สินค้าไทยมีราคาสูงกว่าคู่แข่งอยู่แล้ว หากโดนตัด GSP เพิ่มอีก ก็จะยิ่งทำให้มีต้นทุนสูงขึ้นและแข่งขันยากขึ้นอีก และจะทำให้มูลค่าการส่งออกไทยติดลบหนักกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ และอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของ GDP ที่เคยคาดการณ์ไว้
“ความผิดพลาดของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้ส่งผลให้ไทยเสียประโยชน์ทางการค้าไปแล้ว 40,000 ล้านบาท แต่ยังเหลือผลประโยชน์ทางการค้าของไทยที่มีกับสหรัฐฯอีก ราว 900,000 ล้านบาท ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต้องใช้สติปัญญาในการปกป้อง หากท่านคิดไม่ออกว่าต้องทำอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ ก็ควรลาออกไป แล้วหลีกทางให้แคนดิเดตนายกฯท่านอื่นเข้ามาแก้ปัญหาแทนโดยด่วน”
นอกจากนี้ เพื่อลดอุปสรรคในการเจรจาบนเวทีการค้าระหว่างประเทศ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องระมัดระวังท่าทีในการมีความสัมพันธ์กับชาติมหาอำนาจ ที่เขากำลังมีความขัดแย้งกันอยู่ด้วย อย่าทำตัวเป็นลูกไล่หรือเป็นลูกน้องของชาติมหาอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่กำลังมีความขัดแย้งกันอยู่ เพราะไทยต้องเป็นมิตรกับทุกประเทศ อย่าเอาคนไทยไปยืนอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของชาติอื่น เพราะคนไทยมีนิสัยรักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ควรย้อนดูว่าบรรพบุรุษของไทยในอดีตดำเนินกุศโลบายทางการทูตอย่างไรจึงพาบ้านเมืองพ้นภัยไม่ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของชาติใด ท่ามกลางความแย้งที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก ส่วนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ นั้น ก็อย่าเก่งแต่เฉพาะบดขยี้ฝ่ายค้านในบ้าน แต่กลับเอาตัวไม่รอดบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศ
“รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ควรบอกคนไทยให้ชัดเจนว่า ผลกระทบจากการโดนสหรัฐฯตัด GSP จะส่งผลกระทบต่อตัวเลข GDP และเป้าหมายการส่งออกที่เคยคาดการณ์ไว้อย่างไร เพื่อให้นักลงทุนและประชาชนรู้ตัวล่วงหน้าจะได้ปรับตัวและวางแผนชีวิตได้ทัน”