“เพื่อไทย” เรียกร้องรัฐบาลเร่งเจรจาสหรัฐฯ เพื่อขอคืนสิทธิ GSP
(29 ต.ค. 62) น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย นายศราวุธ เพชรพนมพร รองเลขาธิการพรรค ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวกรณีที่สหรัฐฯ เตรียมระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) กับประเทศไทย โดยเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงข้อมูลที่ชัดเจน และให้คำตอบแก่ประชาชน พร้อมทั้งเสนอแนะให้เร่งเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อคืนสิทธิแก่ประเทศไทยโดยเร็ว
น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่า GSP เป็นสิทธิที่รัฐบาลสหรัฐฯให้กับประเทศต่างๆภายใต้เงื่อนไข อาทิเช่น เป็นประเทศที่ไม่สนับสนุนการก่อการร้ายระหว่างประเทศ มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในระดับดีพอสมควร มีการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากลมีการจัดการกับการใช้แรงงานเด็ก มีการจัดการด้านการค้าและปฏิบัติต่อสหรัฐฯอย่างเท่าเทียม ซึ่งประเทศไทยได้สิทธิ GSP จากสหรัฐฯ 4,000 กว่ารายการตั้งแต่ปี 2513 โดยกฎหมายสิทธิ GSP สิ้นสุดลงตั้งแต่สิ้นปี 2560 แต่เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2561 ก็มีการต่ออายุให้ไปสิ้นสุดในปี 2563 ซึ่งมีสินค้าได้สิทธิต่ออายุ 3,000 กว่ารายการ และเมื่อไม่กี่วันมานี้ สหรัฐฯได้ประกาศตัดสิทธิ GSP ของสินค้าเกือบ 600 รายการ คิดเป็นมูลค่าสูญเสียประมาณ 40,000 ล้านบาทต่อปี โดยใช้เหตุผลว่าประเทศไทยผิดเงื่อนไข เรื่องไม่สามารถคุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากล เป็นการตัดการช่วยเหลือก่อนที่จะครบกำหนดต่ออายุไว้ในปี 2563
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในความสนใจของพี่น้องประชาชน ซึ่งมีความเป็นห่วงว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อไปอีก ดังนั้น รัฐบาลควรให้ข้อมูลที่ชัดเจนกับประชาชน และควรหาทางเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อขอคืนสิทธิ GSP เพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลายประเทศก็เคยเจรจากับสหรัฐฯจนได้รับสิทธิคืน”
น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวต่อไปว่า อยากฝากไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าให้เลิกตีกินกับสิ่งที่เกิดขึ้น และเลิกอ้างว่าถูกตัดสิทธิเพราะเศรษฐกิจไทยโตขึ้นได้แล้ว ขอให้ยึดโยงกับข้อเท็จจริง ซึ่งอาจจะกระทบความเชื่อมั่นด้านอื่นๆ รัฐบาลไม่ควรปัดความรับผิดชอบ เพราะเรื่องนี้ส่งผลกระทบกับประชาชนและผู้ประกอบการ
ขณะที่ นายศราวุธ กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าคณะกรรมาธิการการต่างประเทศจะนำเรื่องที่ไทยจะถูกสหรัฐฯตัดสิทธิ GSP หารือว่าสาเหตุที่แท้จริงคืออะไร ซึ่งจากคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า การที่ไทยถูกตัดสิทธิเพราะโตเร็วเกินไปมีการพัฒนาสูง นั้นเห็นว่าไม่น่าจะใช่เหตุผลที่ถูกต้อง เพราะหากมองตามข้อเท็จจริงจะพบว่า ประเทศที่จะได้รับสิทธิ GSP จะต้องมีรายได้ต่อหัวไม่เกิน 12,476 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี ซึ่งไทยมีรายได้ต่อหัวของคนไทยอยู่ที่ 7,000 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี รวมถึงต้องพิจารณาว่าประเทศไทยแก้ไขปัญหาเรื่องแรงงานได้ตรงตามมาตรฐานสากลแล้วหรือไม่ ซึ่งในช่วงระยะเวลาที่ยังเหลืออีก 6 เดือนก่อนที่จะถูกตัดสิทธิ รัฐบาลต้องเดินหน้าเจรจากับสหรัฐฯ เพราะหลายประเทศที่ถูกตัดสิทธิ GSP ก็เดินหน้าเจรจาสำเร็จมาหลายประเทศแล้ว
ขณะเดียวกันรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการส่งออกที่จะได้รับผลกระทบด้านภาษี ทั้งนี้คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ จะเชิญกรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศ มาหารือ เพื่อหามาตรการเยียวยากลุ่มผู้ประกอบการที่จะได้รับผลกระทบครั้งนี้