“วรวัจน์” หวั่นตัด GSP กระทบส่งออกหมื่นล้าน ติงกระทรวงพาณิชย์ไร้มาตรการรับมือ

(29 ต.ค. 62) นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2563 และกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า การประชุมกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จะเป็นการพิจารณางบประมาณในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ต่อเนื่อง เพราะยังมีอีกจำนวน 11 หน่วยงานและ 1 รัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะกลุ่มงานการค้าต่างประเทศ ทั้งกรมการค้าต่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น  

ในที่ประชุมกรรมาธิการผู้แทนจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยข้อมูลว่า หลังการรัฐประหาร ปี 2557 หลายประเทศ เริ่มดำเนินการตัดสิทธิพิเศษทางภาษี หรือ GSP ไทย โดยปี 2558  สหภาพยุโรป หรือ EU มีการตัด GSP ไทย ต่อมาต้นปี 2562 ประเทศญี่ปุ่น ก็ตัด GSP ไทย และล่าสุดสหรัฐอเมริกาก็ตัด GSP ไทย นอกจากนี้ที่ผ่านมามาตรการเจรจาของรัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ในขณะที่มาตรการช่วยเหลือภาคเอกชน ยังไม่มีความชัดเจน มีแต่การออกมาขอให้ภาคเอกชนปรับตัวลดต้นทุน และปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเอง และกระทรวงพาณิชย์ คาดว่า ถึงแม้ถูกตัด GSP แต่ก็ไม่มี ผลกระทบกับเกษตรกร

โดยกระทรวงพาณิชย์ ได้ยืนยันในที่ประชุมกรรมาธิการงบประมาณ ว่า ปัญหา GSP จะทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบเพียง 1,800 ล้านบาท ไม่ใช่ 40,000 ล้านบาท อย่างที่มีการวิเคราะห์ออกมาก่อนหน้านี้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ก็มีมาตรการในการรับมือ แต่ไม่แจ้งรายละเอียดต่อกรรมาธิการ นั่นอาจหมายถึงไม่ได้มีแผนมาตรการแก้ไขเตรียมไว้ และบรรจุในงบประมาณปี 2563 ทั้งที่เรื่องนี้เป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่ควรมีคำตอบให้กับประชาชน

นายวรวัจน์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมได้ท้วงติงไปยังกระทรวงพาณิชย์ ว่า จำนวนเงิน 1,800 ล้านบาทดังกล่าวที่กระทรวงพาณิชย์ชี้แจง อาจเป็นเพียงแค่ส่วนต่างทางภาษี ซึ่งหากจะคำนวณแบบนี้ คงไม่ถูกต้อง เพราะต้องรวมมูลค่าส่งออกในภาพรวมทั้งหมดไปด้วย ดังนั้น การดำเนินการของสหรัฐฯครั้งนี้อาจจะส่งผลเสียมากกว่าที่หน่วยงานรัฐคาดการณ์ ทั้งนี้คาดว่าผลกระทบจากการส่งออกสินค้าไทยอาจสูงถึงหลักหมื่นล้านบาท