“เพื่อไทย” แนะ รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ส่งเสริม “พัฒนาครัวไทยสู่ครัวโลก”
(30 ต.ค. 62) ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช เลขานุการกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร และอดีตผู้สมัคร ส.ส. กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล ได้กำชับว่าในที่ประชุม ครม. เศรษฐกิจ ว่า สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรทางการค้า (GSP) เป็นเรื่องที่เขาให้สิทธิประโยชน์เรื่องของภาษีศุลกากรกับประเทศกำลังพัฒนา หมายความว่า การให้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวเหมือนการช่วยเหลือให้ประเทศกำลังพัฒนามีศักยภาพในการแข่งขันบนเวทีโลก และไม่เกี่ยวข้องกับการที่สหรัฐฯตัด GSP ประเทศไทย เพราะประเทศไทยแบนสารพิษนั้น ถือว่าเป็นการเดินมาถูกทางแล้ว แต่สำหรับการแก้ไขปัญหาเศรฐกิจ และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทย ควรเป็นเรื่องสำคัญที่ควรแก้ไขอย่างเร่งด่วน
ซึ่งจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี มากว่า 5 ปี และได้จัดสรรงบประมาณเพื่อซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ถ่านหิน 1.5 แสนตัน และอื่นๆอีกมากมายนั้น ถือว่าเป็นการสนับสนุนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หรือไม่ และประเทศไทยได้ประโยชน์อะไร ในขณะที่ประเทศของเรายังไม่มีวี่แววการทำสงคราม ในขณะที่ทั่วโลกกำลังพัฒนาใช้พลังงานสะอาด ประเทศไทยกลับประสบกับปัญหาฝุ่นพิษหนักหนายาวนานมาถึง 3 ปี ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่เราควรจะลดการสร้างฝุ่นพิษ PM 10 , PM 2.5 และน้องใหม่ PM 1
ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าวต่ออีกว่า การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจควรดำเนินการให้เป็นขั้นตอน และแบ่งตามความเร่งด่วน โดยระยะสั้นนั้นควรต้องเร่งเจรจาให้สหรัฐฯคืนสิทธิ GSP ให้กับประเทศไทยโดยเร็วที่สุด ระยะกลางคือประเทศไทยเองก็ต้องพิจารณาการเปิดการค้าเสรีเพื่อให้เรามีผลประโยชน์มากกว่าประเทศอื่นๆ โดยขยายการลงทุน และการส่งออกให้เป็นระบบมาตรฐานสากล ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาว ควรปรับเปลี่ยนจากยุคของผู้เชี่ยวชาญมาสู่ยุคของ Big Data โดยรัฐบาลควรสนับสนุนเรื่องปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อที่จะช่วยให้คนไทยเข้าใจความต้องการของตลาดโลกอย่างถูกต้องและแม่นยำ ไม่ตกทิศทางในการพัฒนาสู่ตลาดโลก โดยเน้นส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยสามารถค้าขายสินค้าได้ทั่วโลก
ประเทศไทยเราอาจไม่ใช่ผู้ผลิตหุ่นยนต์ แข่งกับประเทศมหาอำนาจ ดังนั้น สิ่งที่เราควรพัฒนาอย่างเร่งด่วนและยั่งยืน เพื่อยกระดับให้ได้มาตรฐานสากล คือการพัฒนาสิ่งที่เรามีอยู่แล้วเพื่อพัฒนาให้เป็นไปในทิศทางที่ยั่งยืนและมั่นคงให้กับประเทศชาติ โดยควรพัฒนาการท่องเที่ยวให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย และเราควรมาคิดว่าทำอย่างไรให้อาหารไทยเป็นอาหารที่มีคุณภาพของโลก โดยทำให้ประเทศไทย เป็น HUB ของแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยของโลก ซึ่งนโยบายเหล่านี้สามารถประสบความสำเร็จได้ อยู่ที่การบริหารจัดการให้เป็น โดยเราควรเน้นในเรื่องของอาหารไทย เพราะอาหารไทยเรามีชื่อเสียงอันดันต้นๆของโลกอยู่แล้ว เราควรต้องสร้างเรื่องราว (Story) ให้กับพืช ผัก ผลไม้ ให้เป็นพืชผักที่ปลอดสารพิษ และพัฒนาไปสู่อาหารคลีน (Clean Food) และควรส่งเสริมในเรื่องของการ “พัฒนาครัวไทยสู่ครัวโลก” ซึ่งเป็นเหมือนดังโครงการของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย และจะส่งผลดีต่อทั่วทุกภาคทั้งการเกษตรอินทรีย์ ภาคการประมง การส่งออก และอื่นๆ