“เพื่อไทย” ชี้ ต้องแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด เชื่อ ส.ว. ส่วนใหญ่รอฟังเสียงประชาชน
(11 พ.ย. 62) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่พรรคเพื่อไทย นายโภคิน พลกุล และนายวัฒนา เมืองสุข คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรค แถลงถึงประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ
นายอนุสรณ์ กล่าวถึงกรณีการตั้งกรรมาธิการศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า พรรคเพื่อไทยเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีคณะกรรมการในการติดตามตั้งแต่การเริ่มร่างรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ยุค “บวรศักดิ์” และ “มีชัย” หลังจากนั้นเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับนี้เราก็มีคณะทำงานในการติดตามการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงสามารถยืนยันได้ชัดเจนว่าพรรคเพื่อไทยเป็นสถาบันทางการเมือง มีบุคลากรที่ติดตามเรื่องนี้ อ่านรัฐธรรมนูญรู้ ดูรัฐธรรมนูญเป็น และเห็นปัญหามาโดยตลอด
นายวัฒนา กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของกรรมาธิการคณะนี้จะมีทั้งหมด 49 คน โดยสัดส่วน ครม. 12 คน พรรคร่วมรัฐบาล 18 คน พรรคร่วมฝ่ายค้าน 19 คน โดยสัดส่วนพรรคเพื่อไทย 10 คน หากผลเห็นว่ามีปัญหาและควรแก้ไข ความเห็นนี้ซึ่งมาจาก กมธ. ที่เป็นตัวแทนของประชาชนจะถูกส่งไปยังสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ ส.ว. มี 250 คน ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านเพียง 3-4 คน ที่เป็นขาประจำเท่านั้น เชื่อว่า ส.ว. ส่วนใหญ่จะฟังเสียงประชาชน
“วิธีดีที่สุดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ ไม่ใช่การแก้ทีละมาตรา ไม่เช่นนั้นก็ต้องแก้กันไม่รู้จบ แต่ควรโยนอำนาจให้กับประชาชน ส่วนประชาชนจะร่างออกมาในรูปแบบไหนเราก็ต้องยอมรับ เพื่อลดความขัดแย้ง และเรามีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกฤทธิ์ออกเดชมากมาย และทำให้ได้รัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ”
นายโภคิน กล่าวว่า เราตั้งใจให้ประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ แล้วตัวประธาน กมธ. เป็นเรื่องรอง โดยเราตั้งใจว่าอยากให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ตั้งแต่การตั้ง ส.ส.ร. ไปจนถึงการทำประชามติ จะไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านเราก็ได้มีการยกร่างแก้ไขขึ้น แต่ไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 อย่างไรก็ตาม กมธ. ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ต้องเดินให้เร็ว ไม่ใช่บอกว่าให้มี แต่หา กมธ. ไปเรื่อยๆ เพราะถ้ากติกาไม่ดี การเดินไปข้างหน้าของประเทศไม่ว่าด้านไหนก็ได้รับผลกระทบ แล้วเราจะอยู่แบบนี้หรือ ซึ่งคิดว่า กมธ. ที่เราจะเดินร่วมกันมีเรื่องที่ต้องพิจารณาใหญ่ๆ 3 ประเด็นคือ 1. ถ้า ส.ว. ไม่เอาด้วย แม้ฝ่ายค้านอยากแก้ ก็แก้ไม่ได้ หรือถ้ารัฐบาลเห็นความจำเป็นก็แก้ไม่ได้ 2. มีบางมาตราที่เป็นปัญหาอยู่ และ 3. ควรเห็นชอบร่วมกันหรือไม่ที่เราต้องมีรัฐธรรมนูญที่เราทุกคนรวมไปถึงพี่น้องประชาชนได้ร่วมออกแบบร่วมกันเพื่อไม่ให้มีรัฐประหารอีกในอนาคต