“เพื่อไทย” เสนอหลักการ 4 ข้อ บุคคลทำหน้าที่ประธาน กมธ.ศึกษาแก้รัฐธรรมนูญ ย้ำต้องมองเห็นปัญหา ยึดมั่นประชาธิปไตย ไม่รับคำสั่งผู้มีอำนาจ
(27 พ.ย. 62) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการวางตัวบุคคลที่จะทำหน้าที่ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่าพรรคเพื่อไทยเห็นว่าบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ดังกล่าว จะต้องยึดมั่นในหลักการ 4 เรื่อง คือ
1. จะต้องเป็นบุคคลที่มองเห็นปัญหา มองเห็นจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาประเทศ อย่างไร
2. จะต้องเป็นบุคคลที่ไม่ได้รับประโยชน์จากความไม่ชอบธรรมของรัฐธรรมนูญ จะต้องไม่ใช่กลุ่มคนที่เขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจตนเอง หรือผู้ที่ได้รับอานิสงส์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จากการสืบทอดและดำรงตำแหน่งต่างๆ
3. จะต้องเป็นบุคคลที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย และสร้างให้ประเทศมีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างถูกต้องตามหลักการประชาธิปไตย เป็นสากล โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่ยึดรัฐราชการเป็นศูนย์กลางอย่างในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
4. จะต้องเป็นบุคคลที่ฟังข้อมูลอย่างรอบด้าน ไม่รับคำสั่งจากผู้มีอำนาจมาแก้ไขเพื่อประโยชน์ของการสืบทอดอำนาจต่อ
คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า รายชื่อที่ถูกเปิดเผยมาจากฝั่งรัฐบาล มีเจตนาที่จะดึงเกมหรือแก้เกมการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะนั่นอาจหมายถึงความไม่จริงใจ โดยบุคคลที่จะมาทำหน้าที่เป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญจะต้องเป็นผู้ที่มองเห็นปัญหาและจุดอ่อน รวมถึงมีความตั้งใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แต่บุคคลที่ถูกเสนอชื่อโดยรัฐบาลกลับเป็นบุคคลที่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คนเหล่านี้จึงไม่ต้องการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่อาจเข้ามาเพื่อเล่นเกมการเมืองเท่านั้น โดยไม่คำนึงถึงภารกิจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติเพราะทุกคนเห็นจุดอ่อนและปัญหาร่วมกันแม้แต่รัฐบาล ตั้งแต่ยุค คสช. ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกคำสั่งแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยมาตรา 44 ที่ตนเองเป็นผู้เขียนขึ้นมาหลายครั้ง จนกระทั่งมายุครัฐบาลเลือกตั้ง กรณีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก็ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ
“ขอเตือนอย่าส่งคนเข้ามาป่วนหรือยื้อเป็นเกมการเมือง วันนี้ขอความจริงใจ เพราะพรรคในฝ่ายรัฐบาลก็เสนอญัตติดังกล่าวเช่นกัน จึงขอความจริงใจให้ประชาชน อย่าพยายามยื้อการศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญเหมือนที่ผ่านมา แม้รัฐบาลจะมีเสียงมากกว่าฝ่ายค้านแต่รัฐบาลจะอยู่ได้ด้วยความจริงใจ และได้รับความศรัทธาจากประชาชน”
คุณหญิงสุดารัตน์ ย้ำว่า ต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จ โดยเริ่มต้นจากการปลดล็อคมาตรา 256 ซึ่งไม่ควรใช้เวลาศึกษานานเกินไป จากนั้นเปิดทางให้ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ดึงผู้รู้จริงทุกฝ่ายเข้ามา ร่วมกันแก้ไขให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 2540