“ชุมสาย” ชี้ 8 ข้อน่าห่วงกระบวนการยุติธรรมภายใต้รัฐบาลสืบทอดอำนาจ แนะทุกภาคส่วนเร่งปฏิรูป-สร้างความเชื่อมั่นประเทศ

(19 ม.ค. 63) นายชุมสาย​ ศรียาภัย​ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ​กล่าวว่า นับแต่มีรัฐประหารและคณะผู้มีอำนาจเข้าปกครองประเทศ อํานาจนิติบัญญัติ​และบริหารถูกควบคุมเบ็ดเสร็จ​ แต่ยังคาดหมายกันว่าเหลือที่พึ่งสุดท้ายของสุจริตชนเพียงหนึ่งเดียวคืออำนาจตุลาการ แต่กระนั้นก็ตาม ดูประหนึ่งว่า อำนาจตุลาการในยุคนี้ ถูกสังคมไทยตั้งคำถาม​ และเคลือบแคลงสงสัยในหลายมิติ​ ซึ่งพอจำแนกสาเหตุ​และอธิบายพฤติการณ์ได้​ ดังนี้

     

1.​ นักนิติศาสตร์ ในระดับปรมาจารย์ถูกใช้เป็นสถาปนิกอำนาจออกแบบรัฐธรรมนูญและกฎหมายเกี่ยวกับการเมือง​ บ้างก็ให้เป็นผู้นำในงานนิติบัญญัติ​ บ้างก็ให้เป็นคีย์แมนกฎหมายในฝ่ายบริหาร ทั้งนี้เพื่อสร้างอำนาจให้ผู้มีอำนาจและบริวารได้บริหารอำนาจ​ และจัดระเบียบอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ​ มั่นคงในระยะยาว ในขณะเดียวกันก็ได้ออกแบบจำกัดตัดสิทธิลิดรอนอำนาจฝ่ายการเมืองฝั่งตรงข้าม​และประชาชนจนแทบไม่สามารถทำอะไรได้ตามที่ควรจะเป็นในครรลองประชาธิปไตย

2. มีการแก้ไขหลักการของกฎหมายที่เคยมีมาแต่เดิมให้แตกต่างไปจากหลักยุติธรรมอันเป็นสากล เช่น การให้กฎหมายย้อนหลังเป็นโทษกับจำเลยได้ การไม่ต้องพิจารณาคดีต่อหน้าจำเลย และคดีการเมืองไม่ต้องมีอายุความ ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพียงเพื่อต้องการจัดการกับฝ่ายการเมืองฝั่งตรงข้าม โดยยอมทำลายหลักนิติรัฐ​นิติธรรม หลักยุติธรรมอันเป็นสากล

3. ประเด็นเรื่องคดีความของนักการเมืองถูกคณะผู้มีอำนาจหยิบยกขึ้นมาเป็นเงื่อนไขต่อรองในทางการเมือง​ และมีผลต่อการตัดสินใจของนักการเมือง​บางกลุ่ม ส่งผลให้มีการดูด ส.ส. ย้ายพรรค​ เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยในทางคดี​ความ​ ซึ่งไม่มีบุคลากรระดับผู้นำในกระบวนการยุติธรรม ออกมาปฏิเสธเรื่องนี้อย่างจริงจัง

4. ผู้นำรัฐบาลและบริวารมีวิธีคิดในการใช้อำนาจมากกว่าการใช้กฎหมาย ตามที่ควรจะเป็นข้อเท็จจริงและเหตุการณ์เดียวกัน ถูกตีความ ต่างกัน ระหว่างฝ่ายผู้มีอำนาจ และฝ่ายการเมืองฝั่งตรงข้าม​ มีการบังคับใช้กฎหมายสองมาตรฐานค่อนข้างชัดแจ้ง

5. กระบวนการทางกฎหมายและคดี ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกใช้เป็น​เครื่องมือในทางการเมือง​อย่างชัดแจ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้นำของฝ่ายการเมือง​ บุคคลในครอบครัว หรือบริวารของฝ่ายตรงข้ามกับผู้มีอำนาจ 

6. ผู้มีอำนาจในรัฐบาลที่รับผิดชอบด้านกฎหมาย แสดงความเห็น และตีความ ชี้ถูกผิดเสมือนหนึ่งว่าตนเอง เป็นกฎหมาย เป็นความถูกต้อง หรือเป็นความยุติธรรมเสียเอง ซึ่งขัดต่อหลักการทางกฎหมายที่ถูกยึดถือไว้อย่างมั่นคง​ ไม่นำพาต่อเสียงทักท้วงของสื่อมวลชนและคนในสังคม ก่อให้เกิดความสับสนทางกฎหมายขยายไปในวงกว้าง 

7. มีข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ในเชิงประจักษ์ว่าการอำนวยความยุติธรรมในคดีการเมืองบางคดีที่เกี่ยวกับประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาล เป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนธุรกิจผูกขาดรายใหญ่ที่มีความใกล้ชิดกับคณะผู้มีอำนาจ โดยยอมทำลายหลักแห่งความยุติธรรมตามบรรทัดฐานที่ถูกต้องชอบธรรมในอดีตและสอดคล้องกับแนวทางสากลตามที่ควรจะเป็น

8. บรรดาข้อกล่าวหาหรือความผิดของนักการเมืองในซีกฝ่ายผู้มีอำนาจ ไม่ได้ถูกดำเนินคดี ในขณะที่ คดีของฝ่ายตรงข้าม จะถูกเร่งรัดดำเนินคดีอย่างรวดเร็ว

นายชุมสาย กล่าวต่อว่า การที่ประเทศจะเป็นที่ยอมรับต่อนานาอารยประเทศนั้น​ จะต้องมีความไว้วางใจ (Trust)​ และ​ความมั่นใจ (Confident)​ จึงจะเป็นหลักประกันของประเทศในทุกมิติ ให้กับคนทั้งในประเทศและต่างประเทศเชื่อมั่น ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยแทบจะไม่เหลือแล้วซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ ทำให้ไม่มีใครคบหาค้า​ขายด้วย​ ซึ่งประเทศตกอยู่ในสภาพเช่นนี้มาตั้งแต่การรัฐประหาร เมื่อ​ปี​ 2557 การศาลและการยุติธรรมเป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ประเทศต้องอยู่ในสภาพนี้ หากยังปล่อยไว้ไม่แก้ไขมีความเสี่ยงจะเป็นประเทศที่ล้มเหลว (failed state)​ จึงจำเป็นต้องสังคายนาและปฏิรูปการศาลและการยุติธรรมทุกมิติโดยเร่งด่วน ก่อนจะสายเกินการ​ณ์