“วิปฝ่ายค้าน” ไม่ร่วมสังฆกรรม พ.ร.บ.งบฯ ปี 63 เรียกร้อง ”รัฐบาล” แสดงความรับผิดชอบทางการเมือง
(12 ก.พ. 63) ที่รัฐสภา มีการประชุมหารือเกี่ยวกับการดำเนินการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 63 ในวาระ 2-3 โดยมีหัวหน้าพรรคจาก 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน อาทิ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยตัวแทนจากวิปฝ่ายค้าน และยังมีตัวแทนจากวิปรัฐบาล มาประชุมร่วมด้วย
โดย นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวสรุปมติผลการประชุม 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งวันนี้จะเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา 2 เรื่อง คือ 1. ผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการเสียบบัตรแทนกันของ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ว่ามีความชอบหรือไม่อย่างไร และอีกประเด็นคือกรณีการกราดยิงประชาชนที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้มีการศึกษาแนวทางหาทางป้องกัน และในวันพรุ่งนี้ (13 ก.พ. 63) จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 63 วาระ 2-3 ใหม่
นายสุทิน กล่าวว่า เพื่อให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 63 ผ่านไปได้อย่างรวดเร็วตามความต้องการของประชาชน พรุ่งนี้เราจะไม่อยู่ร่วมด้วย เพราะถ้าหากพรรคฝ่ายค้านเข้าร่วมประชุมด้วยในวันพรุ่งนี้เราได้สงวนคำแปรญัตติไว้จำนวนมาก และเราต้องการใช้สิทธิในการอภิปราย ซึ่งอาจต้องใช้เวลานาน 2-3 วัน แต่อย่างไรก็ตาม มูลเหตุที่ทำให้งบประมาณ ปี 63 ล่าช้า คือการกดบัตรแทนกันของ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ที่ทำให้ พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 63 ต้องสะดุด ซึ่งถ้าพิจารณาอย่างเป็นธรรม ฝ่ายค้านของเราให้ความร่วมมือด้วยดีมาโดยตลอด แต่รัฐบาลกลับมีปัญหาในเรื่ององค์ประชุมเสียเอง ดังนั้น การพิจารณาร่างงบประมาณฯ ปี 63 ในวันพรุ่งนี้ เราจะเปิดทางให้รัฐบาลได้พิจารณางบฯโดยสะดวก เราจะไม่อยู่ร่วมด้วย
ขณะนี้ เรามีความกังวลใจเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ชัดเจนในหลายข้อ จึงจะไม่ทำอะไรที่สุ่มเสี่ยงในเรื่องความถูกผิด เนื่องจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 143 กำหนดให้การพิจารณากฎหมายของสภาฯ และวุฒิสภาแล้วเสร็จภายใน 105 วัน แต่ในวันพรุ่งนี้เกินกำหนด 105 วันแล้ว ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้พูดเรื่องนี้ และ ส.ส. พรรคร่วมฝ่ายค้านกังวลใจว่า หากร่วมประชุมในวันพรุ่งนี้จะเป็นการกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ ดังนั้น การร่วมทำงานตามมารยาทที่พองามพอดีเป็นวิถีทางที่เราทำได้เพียงเท่านี้
ด้าน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ที่ประชุม 6 พรรคร่วมฯ มีมติสำหรับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 63 ว่า ส.ส. พรรคฝ่ายค้านทุกคนจะมาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ โดยการร่วมเป็นองค์ประชุม แต่การดำเนินการพิจารณาเรื่องดังกล่าวจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาล ตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ในส่วนของการเสียบบัตรแทนกันนั้น ในเมื่อศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าไม่สุจริต และ ส.ส. พรรคภูมิใจไทยไม่อยู่ในที่ประชุมจริง และมีการเสียบบัตรแทนกัน จึงถือว่าเป็นการออกเสียงที่ไม่สุจริต ดังนั้น เรารอความรับผิดชอบส่วนตน และรัฐบาลจะต้องแสดงความรับผิดชอบสูงสุดคือการลาออก เพราะความรับผิดชอบทางการเมืองเป็นสิ่งที่นักการเมืองต้องมี