“คมเดช” เปิดเส้นทางทุจริตถนนยางพาราซอยด์ อัด “ประยุทธ์” บริหารล้มเหลว ทำชาติเสียหายร้ายแรง

(25 ก.พ. 63) นายคมเดช ไชยศิวามงคล ส.ส. กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย ได้ขึ้นอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ถึงประเด็นความไม่โปร่งใสในการทำโครงการถนนยางพาราซอยด์ ภายใต้นโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ส่อว่าจะมีปัญหาการทุจริตเชิงโครงสร้างเกิดขึ้น

นายคมเดช อภิปรายว่า พฤติกรรมการทุจริตเชิงโครงสร้าง ถนนยางพาราซอยด์ เริ่มต้นจากคำสั่งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2562 เรื่องแต่งคณะกรรมการพิจารณารับรองมาตรฐานวัสดุน้ำยางพาราผสมเพิ่ม และผสมเพิ่มสำหรับรับรองสารผสมดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพยางพาราตามธรรมชาติ ก่อนที่จะมีการประกาศรับรองวัสดุน้ำยางพาราซอยด์ซีเมนต์ผสมเพิ่มฯ และหลังจากนั้นในช่วงเดือน มี.ค. 2562 มีการทำหนังสือถึงอธิบดีกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อแจ้งเรื่องรับรองมาตรฐานน้ำยางพาราผสมเพิ่มฯ พร้อมรายชื่อบริษัทที่ผ่านการรับรอง โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณารับรองมาตรฐานวัสดุน้ำยางพาราผสมฯ ดังกล่าว ส่งผลทำให้มีบริษัทที่มีรายชื่อผ่านเกณฑ์มาตรฐานน้ำยางพาราผสมเพิ่มฯ 10 บริษัทด้วยกัน 3 บริษัทแรก จดทะเบียน 3 พ.ค. 2562 วันที่ 23 ส.ค. 2562 จดทะเบียนอีก 2 บริษัท และหลังจากนั้น ก.ย.-พ.ย. 2562 จดอีก 5 บริษัท

นายคมเดช อภิปรายว่า ข้อสังเกตที่สำคัญเกี่ยวกับโครงการถนนยางพาราซอยด์ คือ เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2562  ครม. พล.อ.ประยุทธ์ ในยุค คสช.  ได้อนุมัติโครงการถนนยางพาราเป็นวงเงิน 2,568,783,400 บาท ซึ่งเป็นการประชุมนัดสุดท้ายของ ครม. ชุดนี้  โดยหน่วยทหารช่างของกองบัญชาการกองทัพไทย และกองทัพบก ได้เข้าสํารวจพื้นที่ต่างๆ เพื่อเตรียมการปรับปรุงถนนโดยได้จัดทําเป็นโครงการสนับสนุนการใช้ยางพารา ในหน่วยงานภาครัฐ ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และ คสช. ประจําปีงบประมาณ พ.ศ.2562 จํานวนรวมทั้งสิ้น 670 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,744 กิโลเมตร ใช้ปริมาณยางพารา จํานวน 17,435 ตัน อนุมัติเป็นเงินรายจ่ายสำรอง

แต่มีข้อมูลปรากฏว่า ในขั้นตอนการดำเนินงานมีการตั้งบริษัทนายหน้าเข้ามารับงาน ตอนแรกเป็น 3 บริษัท ช่วงหลังอีก 2 บริษัท แล้วก็ตั้งขึ้นมาเป็น 10 บริษัท มีผู้รับเหมากำหนดสเปคไม่มีมาตรฐาน รูปแบบไม่แตกต่างอะไรกับปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในการดำเนินงานโครงการขุดลอกคลองของ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ที่มีการจ้างช่วงงานและเกิดปัญหาการฟ้องร้องดำเนินคดีกับ หจก.สุรัสวดี 98 เรื่องการเบี้ยวเงินค่าจ้างงานก่อสร้างกว่า 40 ล้านบาท ส่งผลทำให้ หจก.สุรัสวดี 98 ประสบปัญหาขาดทุนทางธุรกิจอย่างหนักจนถึงขั้นต้องเลิกกิจการไป 

นายคมเดช กล่าวต่อว่า สูตรทำถนนยางพาราซอยด์ที่กระทรวงเกษตรฯทำขึ้นมานั้น มีนักวิชาการที่ทำสูตรถนนยางพาราซอยด์ ได้ทำหนังสือท้วงติงบอกว่าเป็นสูตรที่ล้มเหลว เพราะเป็นสูตรที่ใช้ทำถุงมือแพทย์ ตากแดด 3 เดือน ก็จะกรอบ และอีกสูตรเป็นสูตรทำถุงยางอนามัย ไม่สามารถเอามาทำถนนได้ ซึ่งปรากฏข้อมูลชัดเจนแล้วว่า มีการทำถนนตามสูตรนี้ แต่ปรากฏว่าไม่เกิน 2 วัน ถนนก็ร่อนออกหมด นักวิชาการที่เขาคิดโครงการนี้ เขาขอมาอีกว่า ถ้าจะทำต่อ อย่าเอาชื่อโครงการที่เขาคิดมากว่า 20 ปี อย่าเอาชื่อยางพาราซอยด์ซีเมนต์ไปใช้เลย ถ้าขบวนการของท่านยังดำเนินการอยู่ขณะนี้ มันทำให้พวกพ้องของท่านอิ่มหมีพีมันขนาดนี้ ก็เปลี่ยนชื่อจากโครงการนี้ไปเป็นชื่อยางพาราซอยด์ฉาบยาพิษ หรือพาราซอยด์แช่อิ่มก็ได้

นายคมเดช อภิปรายว่า ต้องถามว่าโครงการนี้ ทำไมไม่ให้หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญนั้นเป็นผู้ดำเนินงาน แต่กลับไปให้กระทรวงเกษตรฯตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการแทน ซึ่งถ้าโครงการนี้สามารถทำได้ดีๆ ถนนก็สามารถอยู่ได้นาน และพัฒนาต่อยอดเป็นได้ทั้งถนนพาราซอยด์โพลิเมอร์ที่สามารถนำเอาขยะเป็นส่วนหนึ่งของถนน ถนนพาราซอยด์แคปซีนที่มีความคงทนสูงแบบที่ จ.เชียงใหม่ได้ ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง

“ผมได้ข้อมูลมาอีกว่า โครงการถนนยางพาราซอยด์ มีการขยับเพิ่มเติม เอาเข้าไปสู่ท้องถิ่น ใช้งบกลาง แต่กลับมีการชักเปอร์เซ็นต์สูงถึง 25 เปอร์เซ็นต์ โดยมีความคิดว่าถ้าทำยางมะตอยแล้วเอายางพาราใส่เข้าไป จะทำให้ถนนอยู่ได้ ความคิดตัวนี้ ถือว่า ผิดพลาดและจะผิดพลาดต่อไปอีก ถือว่าเป็นเรื่องที่เสียงบประมาณจากภาษีของประชาชนอย่างมาก และจะทำให้ประเทศเสียโอกาสด้านนวัตกรรมยางพาราที่จะส่งผลผลักดันให้ยางพาราราคาสูงขึ้นด้วย”